Tag: โรคหน้าฝน

  • โรคเด็กที่มากับฤดูฝน

    โรคเด็กที่มากับฤดูฝน

    สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับโรคเด็กที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน รวมถึงวิธีการรับมือกับโรคต่างๆค่ะ มาดูกันเลยค่ะว่ามีโรคอะไรบ้าง

    โรคมาลาเรีย

    โรคมาลาเรีย โรคร้ายแรงที่พบบ่อยที่สุดในช่วงฤดูฝนและส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ใหญ่ โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค อาการทั่วไปของโรคมาลาเรียในเด็ก ได้แก่ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อาเจียน เบื่ออาหาร หงุดหงิดร้องไห้งอแง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อาการชักหมดสติ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อวัยวะล้มเหลวและอาจเสียชีวิตได้ค่ะ การป้องกันโรคมาลาเรียในเด็กที่ดีที่สุด คือการป้องกันการถูกยุงกัดสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นป้องกันยุง จำกัดแหล่งเพาะพันธ์ยุง แอ่งน้ำขังบริเวณบ้าน เป็นต้น

    โรคอหิวาตกโรค

    อหิวาตกโรคเกิดจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันที่มักเจริญเติบโตในน้ำที่สกปรกหรือปนเปื้อนอาหาร ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง ช็อคหมดสติหรือเสียชีวิตได้ค่ะ การป้องกันอหิวาตกโรคด้วยการรักษาความสะอาด ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำสะอาด อาหารปรุงสุกใหม่หลีกเลี่ยงอาหารดิบค่ะ

    กระเพาะและลำไส้อักเสบ

    กระเพาะและลำไส้อักเสบมักเกิดจากไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง อาเจียนอย่างรุนแรง ดังนั้นการป้องกันคือการรักษาความสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งค่ะ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดและหวานจัดค่ะ

    โรคไข้เลือดออก

    ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสแดงกี่โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งอาการของไข้เลือดออกจะแบ่งตามระยะของการเกิดโรคและมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่มีไข้ติดต่อกันหลายวัน ปวดศีรษะ แต่ไม่มีน้ำมูก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ปัญหาเลือดออกหรือช็อกหมดสติได้ค่ะ การป้องกันไข้เลือดออก คือการป้องกันการถูกยุงกัดสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนมิดชิด ทาโลชั่นป้องกันยุง จัดบ้านให้สะอาดปลอดโปร่งไม่มีมุมอับทึบ เนื่องจากยุงลายชอบเกาะอาศัยบริเวณมุมมืด ในเวลากลางวันควรนอนกางมุ้งเพราะยุงลายมีนิสัยออกหากินในช่วงเวลากลางวัน จำกัดแหล่งเพาะพันธ์ยุง แอ่งน้ำขังบริเวณบ้าน เช่น กระถางต้นไม้ จากรองขาตู้กับข้าว เป็นต้น

    โรคไข้หวัดใหญ่

    ไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในเด็กวัยเข้าเรียนเกิดจากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วย การไอ จาม รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ค่ะ อาการส่วนใหญ่ที่พบคือ มีไข้สูง น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปสถานที่แออัดโดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค ในกรณีที่ลูกป่วยควรหยุดเรียน หลีกเลี่ยงการพาไปในที่ชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นค่ะ

    โรคฉี่หนู

    โรคฉี่หนู เกิดจากการสัมผัสกับน้ำและดินที่มีการปนเปื้อนมักผสมกับปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน รวมถึงการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ลักษณะอาการที่พบคือ มีไข้หนาวสั่น เยื่อบุตาบวมแดง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง เป็นต้น ควรรีบพบแพทย์ทันทีค่ะ การป้องการโรคฉี่หนูนั้นสามารถทำได้ด้วยการสวมรองเท้าที่เหมาะสมที่ช่วยป้องกันเท้าไม่ให้เปียก รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันทีหากมีการแช่แหล่งน้ำขังที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เป็นต้น

    โรคต่างๆในเด็กที่อาจเกิดขึ้นนั้นอาจไม่น่ากลัวค่ะ หากมีการป้องกันค่ะเพราะการป้องกันเป็นการรักษาที่ดีที่สุด การรักษาสุขภาพและการฉีดวัคซีนเป็นประจำเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายค่ะ

  • โรคไข้เลือดออกในเด็ก

    โรคไข้เลือดออกในเด็ก

    โรคไข้เลือดออก ภัยใกล้ตัวลูกน้อยระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปีและมักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เสี่ยงเสียชีวิต คุณพ่อคุณแม่ฟังแล้วอย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ โรคนี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ค่ะหากมีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง บทความนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวไว้ให้แล้วค่ะ

    สาเหตุของไข้เลือดออก

    โรคไข้เลือดออก หรือโรคเดงกี่ เป็นโรคที่เกิดจาการติดเชื้อจากยุงอย่างเฉียบพลัน พบได้ในเขตร้อนและเขตร้อนชื้นทั่วโลกและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เชื้อไวรัสเดงกี่มีทั้งหมดมี 4 สายพันธุ์ คือ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งแต่ละชนิดสามารถนำไปสู่โรคไข้เลือดออกและไข้เลือดออกที่รุนแรงได้ หากได้รับเชื้อไวรัสครั้งแรกมักไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย คล้ายเป็นไข้หวัด โรคไข้เลือดออกสามารถเป็นซ้ำได้และเป็นได้มากกว่า 1 ครั้งค่ะ

    อาการของไข้เลือดออก

    อาการของไข้เลือดออก

    โรคไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง(ระยะมีไข้) ระยะที่สอง(ระยะวิกฤต) และระยะที่สาม(ระยะฟื้นตัว)

    • ระยะที่หนึ่ง หรือระยะมีไข้ ในระยะแรกนี้จะมีไข้สูงลอย(39-40°C)ติดต่อหลายวัน ทานยาลดไข้แล้วแต่ไม่ค่อยลงหรืออาจลงมาเหลือประมาณ 38-38.5°C (ไม่ลงมาถึง 37°C) หรือยังไม่ทันครบ 4 ชั่วโมง ไข้ก็กลับสูงขึ้นไปใหม่ค่ะ จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อาจมีอาการเจ็บคอแต่ไม่มีน้ำมูก ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก หน้าแดงและอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่นๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระสีดำ เลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ(เนื่องจากมีปริมาณเกร็ดเลือดต่ำกว่าปกติ) ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบตับโต มีอาการทางสมองเช่น ซึมหรือชัก เป็นต้น
    • ระยะที่สอง หรือระยะวิกฤต เป็นช่วงที่มีความสำคัญ เพราะไข้เลือดออกที่รุนแรงจะมีปัญหาเลือดออกหรือช็อกได้ ต้องติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาประมาณ 24 – 48 ชม.ค่ะ ในบางรายจะมีอาการทรุดลง กระสับกระส่าย ซึม เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบา อาจมีหายใจหอบ ปวดท้องมาก ท้องโตขึ้น เนื่องจากมีสารน้ำเหลืองรั่วเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดและในช่องท้อง ในระยะนี้อาจมีอาการช็อก ความดันโลหิตต่ำ และถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ แต่ในบางรายที่ไม่รุนแรงจะไม่มีระยะนี้ให้เห็นชัดเจนค่ะ ซึ่งหลังจากไข้ลงจะผ่านเข้าสู่ระยะฟื้นตัวเลย
    • ระยะที่สาม หรือระยะฟื้นตัว ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น โดยสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ ชีพจรเต้นช้าและแรงขึ้น ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น ในบางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามขาและเท้าและมักจะมีอาการคันร่วมด้วย ในรายที่มีปัญหาช็อกผ่านระยะที่สองมาแล้ว ช่วงนี้หมอต้องคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดค่ะ เพื่อไม่ให้มีปัญหาน้ำเกินในระบบไหลเวียนโลหิต เนื่องจากสารน้ำที่รั่วออกนอกเส้นเลือดในระยะช็อกเริ่มกลับเข้าสู่เส้นเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไป เกิดภาวะหัวใจวายได้ค่ะ

    การรักษาโรคไข้เลือดออก

    โรคไขเลือดออกยังไม่มียาปฏิชีวนะทำลายเชื้อไวรัสเดงดี การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ หากอาการไม่รุนแรงโรคนี้สามารถหายได้เองผู้ป่วยสามารถดูแลที่บ้านได้ ทานยาลดไข้(ยาพาราเซตามอล) ไม่ใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้ค่ะ นอนพักผ่อน ไม่เล่นซนหรือออกแรงมาก หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก ไม่แคะจมูก หรือแปรงฟันเพราะทำให้เลือดออกได้ ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำหวานบ่อยๆ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอค่ะ ในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนแพทย์จะให้นอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ

    วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก

    เนื่องจากโรคไข้เลือดออกนั้นมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นการป้องกันกัดและลดปริมาณยุงจึงเป็นวิธีที่สุดในการป้องกันโรคไขเลือดออกได้ค่ะ

    • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่ให้มีน้ำขังอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น กระถางต้นไม้ เศษภาชนะแตกหัก ฯลฯ เลี้ยงปลาที่กินลูกน้ำในบ่อน้ำ ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชู หรือผงซักฟอกหรือทราบอะเบทในน้ำหล่อขาตู้กับข้าว ปิดฝาโอ่ง หรือภาชนะที่บรรจุน้ำให้มิดชิดค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่ค่ะ
    • รักษาความสะอาดที่อยู่อาศัย โดยการจัดห้องให้โล่งโปร่งไม่มีกองสัมภาระรกรุงรังจะได้ไม่มียุงมาหลบอยู่ค่ะ เนื่องจากยุงลายชอบอยู่ในบริเวณอับมืดค่ะ
    • ควรนอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน ใส่เสื้อผ้าปกปิดผิวที่มีสีอ่อน เปิดพัดลมโชยเบาๆ เนื่องจากยุงลายจะมีลักษณะการออกหากินในเวลากลางวัน
    • ทาโลชั่นกันยุงที่ปลอดภัย หรือน้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันตะไคร้หอม เป็นต้น

    นอกจากนี้ หากพบว่าลูกมีอาการไข้สูงหรือหากสงสัยว่าลูกเป็นไข้เลือดออกคุณพ่อคุณแม่ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ

    บทความที่เกี่ยวข้อง