วัณโรคในเด็กคืออะไร
วัณโรค (Tuberculosis) หรือ MTB หรือ TB (Tuberle Baillus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า “มัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ซึ่งแบคทีเรียตัวนี้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex หรือเรียกทั่วไปว่า “เชื้อวัณโรค” แบคทีเรียตัวนี้เป็นเชื้อวัณโรคที่มีลักษณะเป็นรูปแท่ง ไม่มีแคปซูล ไม่สร้างสปอร์ เคลื่อนที่ไม่ได้ เจริญเติบโตจากการได้รับออกซิเจน และจะตายหรือถูกทำลายได้ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นต้นไป
เด็กติดต่อวัณโรค ได้อย่างไรบ้าง
เชื้อวัณโรค สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านอากาศ (Airborne Transmission) โดยการไอ จาม ตะโกน พูดเสียงดังๆ ร้องเพลง หัวเราะ หรือกริยาที่ทำให้เกิดละอองฝอย (droplets) ฟุ้งกระจายออกมา ถ้าเป็นละอองฝอยขนาดใหญ่ก็จะตกลงพื้นดินและแห้งไป แต่ละอองฝอยที่มีขนาดเล็กจะลอยและกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อสูดหายใจก็จะได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอด
ส่วนใหญ่ในเด็กเล็กจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคมากกว่า และในเด็กที่เป็นวัณโรคก็แพร่เชื้อได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็ก ไอ จาม ไม่แรงเท่าผู้ใหญ่ และบางครั้งเด็กก็สามารถได้รับเชื้อจากแม่ผ่านทางรกได้ด้วยค่ะ
เชื้อวัณโรคอยู่ในอากาศได้นานแค่ไหน
เชื้อวัณโรคจะอาศัยออกซิเจนในการเจริญเติบโต เชื้อวัณโรคในเสมหะแห้งที่ไม่ถูกแสงแดดอาจมีชีวิตได้นานถึง 6 เดือน และสำหรับเชื้อจากเสมหะแห้งที่ปลิวอยู่ในอากาศที่ไม่ถูกแสงแดดเลยอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 8-10 วัน และมีชีวิตอยู่ในดินได้นานถึง 1 เดือน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มากกว่า 74 วัน
รู้ได้อย่างไรว่าเด็กติดเชื้อวัณโรค
การวินิจฉัยวัณโรคในเด็ก จำเป็นต้องใช้หลักฐานหลายอย่างมาประกอบกัน เนื่องจากวัณโรคในเด็กจะวินิจฉัยได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กบางรายมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน และในเด็กทารกเมื่อได้รับเชื้อวัณโรคก็จะมีโอกาสที่เป็นวัณโรคชนิดแพร่กระจายได้มาก จึงต้องให้การรักษาทันที
หลักฐานที่จะนำมาใช้ประกอบในการรักษาวัณโรค ได้แก่
- ประวัติการสัมผัสวัณโรค
- อาการแสดงที่มีลักษณะโดยเฉพาะในเด็ก
- การทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนังทูเบอร์คูลิน (Tuberculin skin test หรือ TST)
- การตรวจเลือด (Interferon gamma relesde assays: IGRAs)
- การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียโดยการย้อมเชื้อทั้งจากเสมหะในเด็กโตและจากน้ำในกระเพาะอาหาร ในเด็กเล็กบางรายใช้การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณ IFN-y
- ภาพเอกซเรย์ปอด ซึ่งพบได้หลายรูปแบบ เช่น ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดโต มีรอยโรคในเนื้อปอด มีหินปูนเกาะที่รอยโรค มีจุดเล็กๆ ทั่วเนื้อปอด (Miliary infiltration) มีลักษณะเป็นโรค ปอดแฟบบางส่วน มีน้ำในเยื้อหุ้มปอดข้างเดียว
อาการและอาการแสดง
– วัณโรคปอด ในเด็กอาจแสดงได้หลายรูปแบบและบางรายมักไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่ที่พบได้บ่อยคือ มีไข้ต่ำๆ ไข้เรื้อรัง ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โลหิตจาง ไม่ร่าเริง ไม่เล่น ในบางรายถึงแม้จะมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังมีอาการไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์
– วัณโรคเยื้อหุ้มปอด มีอาการไข้สูง เจ็บหน้าอก ไอ เหนื่อย มีน้ำในปอดข้างเดียว ซึ่งจะพบได้ในเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก
– วัณโรคนอกปอด จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทารกและเด็กเล็กมีแนวโน้มที่จะเป็นวัณโรคนอกปอดที่มีอาการรุนแรง วัณโรคปอดในเด็กที่พบมากที่สุดคือ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง อาการส่วนใหญ่พบที่คอ มีก้อนโต กดไม่เจ็บ ไม่ปวด เป็นเรื้อรัง อาจมีรอย แผลแตกเป็นๆ หายๆ อวัยวะที่พบเป็นวัณโรคนอกปอดรองลงมาได้แก่ วัณโรคเยื่อหุ้มปอด วัณโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการแสดงของความดันในสมองสูง ไข้สูง ซึม ชัก หมดสติ วัณโรคชนิดแพร่กระจาย ได้แก่ วัณโรคในช่องท้อง
การรักษาวัณโรคในเด็ก
การรักษาวัณโรคจะรักษาด้วยการให้ยา ประกอบด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งในระยะแรกของการรักษา จำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันเพื่อกำจัดเชื้อให้มีปริมาณน้อยลง การให้ยาต้องให้อย่างถูกต้องเพราะ ถ้าขนาดยาต่ำเกินไปจะทำให้เชื้อดื้อยาและถ้าให้ยาขนาดสูงเกินไปจะทำให้เกิดผลข้างเคียงถึงชีวิตได้ หากได้รับยาไม่ครบตามกำหนดผู้ป่วยอาจกลับเป็นโรคซ้ำและเกิดเป็นวัณโรคดื้อยาได้ การรักษาอาจใช้เวลานานกว่า 6 เดือนเลยทีเดียว
การป้องกันวัณโรค
- ดูแลสุขภาพร่างกายของทุกคนในบ้านให้แข็งแรง ออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ที่อยู่อาศัยควรทำให้สะอาด ปลอดโปร่ง มีอากาศถ่ายเทดี
- ควรมีการตรวจสุขภาพประจำปี ถ้าผู้ที่มีความเสี่ยงควรตรวจเอกซ์เรย์ปอด หรือตรวจเสมหะเป็นประจำทุกปี
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่นการสำส่อนทางเพศ ไม่เที่ยวสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
- เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) แนะนำให้ฉีดตั้งแต่แรกเกิด แต่สามารถใช้ได้ในทุกอายุ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
- หากมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น มีอาการไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที