Tag: สุขภาพเด็กและทารก

  • ลูกอาเจียนบ่อย

    ลูกอาเจียนบ่อย

    ลูกอาเจียนบ่อย
    ลูกอาเจียนหรืออ๊วกบ่อย เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยผ่านไปค่ะ เนื่องจากการอาเจียนเป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบร่วมกับโรคต่างๆมากมาย เช่น โรคของทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ลำไส้อุดตัน โรคของระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำคั่งในสมอง หรืออาจเกิดจากรับประทานยาบางอย่างก็ได้ การอาเจียนมักเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ วันนี้เรารวบรวมสาเหตุหลักๆที่ทำให้เด็กอาเจียน ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการดูแลลูกน้อยของคุณ

    ลูกอาเจียนบ่อยมักมีด้วยกันหลายสาเหตุตั้งแต่สาเหตุเล็กน้อยไปจนถึงสาเหตุหนัก โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้

    • โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ คือสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น หากพบว่าลูกอาเจียนมีเลือดปนมาด้วยถือว่าอันตรายมากค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
    • การรับประทานอาหารมากเกินไป โดยพบว่าทารกที่กินนมแม่มากเกินไป จนทำให้ลูกอิ่มมาก นมล้นกระเพาะ ก็ส่งผลทำให้ลูกอาเจียนออกมาได้ หรือในกรณีที่เด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ขวบ ซึ่งมีการป้อนอาหารเสริมแล้วอย่างน้อย 1-2 มื้อต่อวัน หากคุณแม่ให้ทานมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกอาเจียนได้เช่นกันค่ะ ส่งผลให้เด็กบางคนอาจเป็นกระเพาะคราก หรือเกิดภาวะของกรดไหลย้อนก็ได้ค่ะ
    • อาการท้องเสียและมีการอาเจียนร่วมด้วย ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร การอุดตันของกระเพาะ ลำไส้ หรือมีการอักเสบ ของทางเดินอาหาร ฯลฯ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ถ้าหากพบว่าลูกมีอาการซึม ปวดหัว หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย คุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ร่างกายลูกสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างหนักได้ค่ะ
    • อาเจียนมากและบ่อยครั้งจากภาวะการติดเชื้อในตำแหน่งต่างๆของร่างกาย โรคติดเชื้อเฉียบพลันในเด็ก ซึ่งมักจะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล เนื่องจากร่างกายมีการต่อต้านอาหารและสิ่งที่ทานเข้าไปทำให้อาเจียนออกมาทุกครั้งที่ทานอะไรเข้าไป หรืออาเจียนระหว่างวันบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที หากปล่อยไว้จะทำให้ร่างกายลูกขาดน้ำและสารอาหารอย่างรุนแรงค่ะ
    • โรคของสมองและระบบประสาทที่กระตุ้นศูนย์ควบคุมการอาเจียนโดยตรง ในกรณีที่มีการอาเจียนติดต่อกันรุนแรงควรนึกถึงภาวะความดันในสมองสูง และโรคไมเกรนด้วยเสมอ ในผู้ป่วยที่มีอาเจียนพุ่ง โดยเฉพาะเวลาหลังตื่นนอน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ชัก กระหม่อมโป่งตึง หัวโต ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตดูว่าถ้าจู่ๆ ลูกอ้วกออกมา แล้วตามมาด้วยการมีไข้ขึ้นสูง ร้องไห้งอแงมาก และมีการชักจากไข้สูงก็อาจเกิดจากการมีภาวะติดเชื้อในสมอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ค่ะ

    อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเมื่อมีการอาเจียนร่วมด้วยควรรับพาลูกไปพบแพทย์ทันที

    • ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อมีการอาเจียนหรือท้องเสียค่อนข้างมาก ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ หรือการติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากอาการของเด็กเล็ก จะสังเกตดูได้ยากกว่าเด็กโตค่ะ
    • มีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่คุยร่าเริง ร่างกายดูอ่อนเพลีย ในบางรายอาจดูกระสับกระส่ายสลับกับอาการซึม
    • การเต้นของหัวใจหรือชีพจรค่อนข้างเบาและเร็ว
    • ในกรณีอาจมีอาการชัก และซึมลงร่วมด้วย
    • กระหม่อมหน้าบุ๋มลึก หรือมีกระบอกตาลึก ริมฝีปากแห้ง
    • ร้องไห้ไม่ค่อยมีน้ำตาออกมา น้ำลายแห้ง
    • ผิวหนังไม่สดใส เหี่ยวย่น แห้งๆ
    • ไม่ค่อยปัสสาวะ หรือออกมาน้อย หรือดูที่ผ้าอ้อมลูกไม่มีปัสสาวะเปียกเลยหลายชั่วโมง (6-8 ชั่วโมง)

    การดูแลลูกในเบื้องต้นเมื่อมีการอาเจียนดังนี้

    • หากลูกมีอาการอาเจียนควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการอาเจียนที่ถูกต้องและทันท่วงที เนื่องจากความรุนแรงของการอาเจียนในเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
    • สำหรับเด็กที่อาเจียนไม่มาก โดยทั่วไปคุณหมอมักจะแนะนำให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่ายในปริมาณที่ลดน้อยลงจากปกติ ให้ทานน้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปกับอาเจียน โดยให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยๆ และทานยาแก้อาเจียนตามที่แพทย์สั่ง
    • สำหรับเด็กที่มีการอาเจียนมากหรือรุนแรง อาจต้องงดอาหารและให้น้ำเกลือแทน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ทำให้อาเจียนค่ะ ซึ่งในบางรายอาจรับประทานอาหารหรือน้ำไม่ได้เลย มีอาการซึมลง ขาดน้ำ กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้งมาก ตาโหลหรือผิวหนังเหี่ยว แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดต่อไปค่ะ

    การอาเจียนเป็นอาการแต่ไม่ใช่โรคต้องวินิจฉัยค้นหาสาเหตุ เพราะสาเหตุบางอย่างอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะการอาเจียนมักมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเสียความสมดุลค่ะ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

  • ป้อนกล้วยบดเด็กก่อน 6 เดือน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

    ป้อนกล้วยบดเด็กก่อน 6 เดือน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

    ป้อนกล้วยบดเด็กก่อน 6 เดือน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
    สวสัดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินหรืออ่านข่าวที่กล่าวถึงอุธาหรณ์ของการป้อนกล้วยบดให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งส่งผลเสียต่อตัวลูกน้อยและเสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิตมาบ้างแล้ว บทความนี้แอดมินจะมาย้ำถึงผลเสียของการป้อนกล้วยหรืออาหารเสริมอื่นๆให้กับทารกแรกเกิดให้ทราบอีกครั้งค่ะ

    ป้อนกล้วยในทารกแรกเกิดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในบ้านที่มีผู้สูงอายุช่วยเลี้ยงดูเด็ก เนื่องจากภูมิปัญญาหรือวัฒนรรมดั้งเดิมจากรุ่นคุณปู่ย่าตายายในประเทศไทยนิยมป้อนกล้วยเด็กตั้งแต่อายุ 1-3 เดือน รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่องนมแม่ยังมีไม่มากเท่ากับในปัจจุบันนี้ค่ะ ในช่วงวัย 6 เดือนแรกของทารก นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดและไม่จำเป็นต้องให้ดื่มน้ำเพิ่มเติม เพราะในนมแม่ประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนสำหรับ และอุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกายและการพัฒนาการทางด้านสมองของลูกน้อย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มให้แก่ร่างกาย ปรับสมดุลของระบบย่อย ระบบขับถ่ายของทารก และลดอาการติดเชื้อในทารกแรกเกิดได้ค่ะ

    การป้อนกล้วยหรืออาหารเสริมให้เด็กทารกก่อนอายุ 6 เดือน เสียงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นอันตรายมากค่ะ เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของทารกแรกเกิด การทำงานยังไม่สมบุูรณ์และไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมกล้วยหรืออาหารเสริมอื่นๆได้ ทั้งนี้อาจทำให้เกิดภาวะแซรกซ้อนอื่นๆได้ ดังนี้

    • ก่อให้เกิดปัญหาลําไส้อุดตัน จากเศษอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ เสี่ยงต่อลำไส้แตกทะลักจนเสียชีวิตการรักษาทำได้โดยการผ่าตัดลำไส้ อาการเริ่มต้นจะมีอาการท้องอืด เจ็บท้องและท้องผูก อาเจียน ร้องไห้ไม่สามารถทานนมได้ เป็นต้น
    • ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังไม่พร้อมสำหรับการกลืนอาหาร อาจทำให้กล้วยหรืออาหารอื่นๆเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจของลูกน้อยได้ ส่งผลให้สมองขาดเลือดและเสียชีวิตได้ในที่สุด หรือในเด็กบางคนก็อาจกลายเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนิทราได้ค่ะ
    • ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เด็กทารกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรทานนมแม่เพียงอย่างเดียว ในนมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย หากให้ทานกล้วยจนอิ่มมากเกินไป จะทำให้เด็กทานนมได้น้อย และขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตได้เช่นกันค่ะ
    • ก่อให้เกิดการแพ้อาหาร เนื่องจากเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง จึงอาจมีโปรตีนก่อการแพ้หรือสารบางชนิดหลุดเข้าไปในกระแสเลือดจนทำให้ลูกเกิดการแพ้อาหารได้ และยังเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ในอนาคตอีกด้วย

    ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำให้เริ่มป้อนอาหารอื่นๆที่ไม่ใช่นมหลังเด็กอายุ 6 เดือน เนื่องจากร่างกายของทารกมีความพร้อมที่จะรับอาหารอื่นๆค่ะ ดังนั้นอย่าเอาชีวิตของลูกน้อยไปเสี่ยงจะดีกว่านะคะ ในช่วงแรกเกิด – 6 เดือน ควรให้ลูกทานแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวค่ะ และไม่ต้องกลัวว่าลูกจะไม่อิ่มหรือขาดสารอาหารค่ะ เพราะในนมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตเหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ค่ะ

  • ลูกมีไข้สูงควรทำอย่างไร

    ลูกมีไข้สูงควรทำอย่างไร

    ลูกมีไข้สูงควรทำอย่างไร
    จากคำกล่าวที่ว่า เมื่อลูกป่วยแม่พร้อมจะป่วยแทนลูกได้เสมอ เพราะทุกครั้งที่ลูกป่วยมีไข้มักสร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาลูกมีไข้สูง(ตัวร้อนจัด) และอาจนำมาซึ่งอาการชักได้ค่ะ ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบถึงการดูแล รับมือเมื่อลูกป่วยมีไข้สูงอย่างถูกวิธีค่ะ

    ไข้ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เกิดจากภาวะที่อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงผิดปกติสูญเสียความสมดุลภายในร่างกาย ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ กรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี วัดอุณหภูมิของร่างกายพบว่ามีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดการชักได้ค่ะ โดยอาการชักส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการมีไข้ ซึ่งอาการชักจากไข้สูง เกิดจากสมองของเด็กถูกการกระตุ้นจากที่ร้างกายมีอุณหภูมิสูง ลักษณะการชักจะมีการเกร็งหรือกระตุกทั้งตัวค่ะ หากเกิดอาการชักในวันหลังๆมักพบสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อระบบประสาท เป็นต้น การเป็นไข้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต การอักเสบของทางเดินหายใจ ปอดบวม ฯลฯ หรือภาวะร่างกายทำปฎิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม เช่น หลังการฉีดวัคซีน หรือจากสาเหตุอื่นได้อีกหลายอย่าง เช่น รายกายได้รับบาดเจ็บ การแพ้ยา ปัญหาจากฟัน อากาศที่ร้อนมากหรือสวมเสื้อหลายชั้น โรคธัยรอยด์เป็นพิษ ร่างกายขาดน้ำในเด็กเล็ก เป็นต้น

    วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อมีไข้สูง มีดังนี้

    • ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเป็นไข้
    • เมื่อแพทย์ให้ยาลดไข้ ควรให้เด็กทานยาเป็นระยะๆทุก 4 – 6 ชม
    • เด็กที่มีประวัติการชักเวลามีไข้สูง แพทย์อาจจะให้ยากันชักด้วย และเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการชักคือ เด็กที่เคยชักเวลาไข้สูงมาก่อน หรือเด็กที่มีประวัติญาติเคยชักเวลามีไข้สูงค่ะ
    • ควรเช็ดตัวเด็กบ่อยๆ เพื่อช่วยลดไข้ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมชาติหรืออุ่นเล็กน้อย การเช็ดถูจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่ผิวหนัง น้ำอุ่นจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ความร้อนถูกระบายออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ไม่ควรใช้น้ำเย็นเพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก จากนั้นเช็ดไปทั่วๆตัวเด็ก โดยย้อนทิศทางของรูขุมขนค่ะ
    • ควรให้ลูกทานอาหารอ่อน เพื่อง่ายต่อการย่อยและการดูดซึมไปใช้เป็นพลังงาน
    • ดื่มน้ำมากๆ ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำผลไม้ กระตุ้นให้ดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากพิษไข้
    • ควรสวมใส่เสื้อผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย ประเภทผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนาๆ
    • ควรอยู่ในที่อากาศเย็นสบาย และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
    • ห้ามห่มผ้าหนาๆหรืออยู่ในที่ร้อนๆ เพราะอาจจะทำให้ไข้สูงขึ้นจนชักได้

    การดูแลลูกน้อยเบื้องต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่นะคะ เมื่อพบว่าลูกมีไข้สูงควรให้ยาลดไข้พาราเซตามอลและเช็ดตัวลดไข้ทันทีค่ะ จากนั้นให้พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ ไม่ควรปล่อยให้ตัวร้อนจัดเพราะเด็กอาจชักได้ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบบประสาทส่วนกลางยังเจริญไม่เต็มที่ หากมีการชักบ่อยๆ ดยเฉพาะถ้านานมากกว่า 30 นาที จนมีภาวะตัวเขียว ขาดออกซิเจน อาจมีผลต่อสมองได้ จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งผลต่อระดับสติปัญญาและการทำงานของสมองในอนาคตได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิดค่ะ

  • โคลิค-ลูกตื่นร้องไห้กลางคืน

    โคลิค-ลูกตื่นร้องไห้กลางคืน

    ลูกตื่นร้องไห้กลางคืน
    การนอนช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีในวัยเด็ก แต่ทำอย่างไรล่ะเมื่อพฤติกรรมการนอนของลูกเริ่มเปลี่ยนไป โดยปกติเด็กทารกจะนอนมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวันค่ะ และตื่นทุก 3 – 4 ชั่วโมง ซึ่งสัมพันธ์กับการหิวเนื่องจากเด็กทารกต้องกินนมทุก 3 – 4 ชั่วโมงค่ะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กทารกจะตื่นกลางคืน และเมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงอายุ 3 เดือน จะเริ่มหลับยาวได้มากขึ้นเกือบตลอดทั้งคืนค่ะ ดังนั้น เราจะมาหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกันค่ะ

    สาเหตุของลูกตื่นร้องไห้กลางคืนเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ โดยมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้

    • โคลิค โดยอาการโคลิคเกิดขึ้นกับเด็กทารกจะมีลักษณะหน้าแดง กำมือแน่น ลูกชูขาสูงขึ้นมาถึงหน้าอกและร้องเสียงดังนาน 2-3 ชั่วโมง ในช่วงเวลาเดิมของแต่ละวัน อาการนี้มักหายไปเองเมื่อลูกอายุได้ 4 เดือนค่ะ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่ให้นมลูกบ่อยเกินไป เกิดการเคยชินเมื่อลูกร้องคุณพ่อคุณแม่ก็รีบเอาขวดนมใส่ปากทันที การทำเช่นนี้เป็นการฝึกให้เด็กตื่นร้องมากินนมกลางคืนได้ค่ะ
    • ฝันร้าย อาการฝันร้ายสามารถพบในเด็กได้เช่นกันค่ะ เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุ 3-6 ปี หรือวัยอนุบาล มักมีเรื่องของการจินตนาการฝันร้ายจึงมักเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นน่ากลัวค่ะ และการปล่อยให้ลูกเล่นมากไป โดยขาดแบบแผนการนอนที่แน่นอน ไม่ได้นอนกลางวัน เพราะคิดว่าถึงเวลากลางคืนจะได้หลับเต็มที่ ซึ่งอาจได้ผลตรงกันข้ามได้ค่ะ เช่น ลูกหลับไม่สนิท และตื่นบ่อย ฯลฯ
      วิธีแก้ไขเมื่อลูกฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจค่ะ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ปลอบลูกและทำให้ลูกรู้สึกสบาย เช่น อ่านหนังสือนิทานที่ไม่น่ากลัวหรือตื่นเต้นค่ะ อย่าให้ลูกเหนื่อยเกินไป จัดเวลาให้นอนกลางวันให้เหมาะสมกับวัยของลูกไม่มากหรือน้อยเกินไปค่ะ หรือการพาลูกเข้านอนตรงเวลาและเป็นแบบแผนที่แน่นอนค่ะ
    • ปัญหาทางด้านสุขภาพ การเจ็บป่วย ไม่สบายตัว แมลงกัดต่อย สาเหตุของการนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อยๆ เมื่อลูกตื่นร้องไข้คุณแม่ต้องรีบเข้าไปดูแลและหาวิธีรักษาค่ะ เช่น เมื่อลูกมีไข้ต้องลดไข้ลูกด้วยด้วยการเช็ดตัวหรือให้ทายาลดไข้ เป็นต้น ถ้าหากคุณแม่หาสาเหตุไม่พบหรือกระทำแล้วลูกไม่หยุดร้อง ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไปค่ะ
    • ตื่นแล้วหลับเองไม่เป็น เด็กส่วนใหญ่แล้วเมื่อตื่นกลางดึก บางคนหลับต่อเองได้ แต่บางคนหลับเองไม่ได้ อาจเป็นเพราะไม่ได้ถูกฝึกให้หลับเองตั้งแต่เล็ก เคยชินกับการที่คุณแม่อุ้มจนหลับ ไม่ได้ปล่อยเขาลงเตียงขณะที่ยังรู้สึกตัวเคลิ้มๆ เพื่อให้ลูกหลับต่อได้เอง ทำให้ลูกไม่ชินกับการหลับด้วยตัวเองค่ะ ช่วงอายุลูก 4-5 เดือน คุณแม่ควรฝึกให้ลูกหลับได้ด้วยตัวเองค่ะ

    วิธีการรับมือเมื่อลูกน้อยร้องไห้กลางคืนค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มฝึกวินัยการนอนให้กับลูกได้ตั้งแต่อายุประมาณ 6 – 8 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เด็กสามารถนอนยาวได้ขึ้นค่ะ โดยการให้เข้านอนเป็นเวลา และฝึกไม่ให้ลูกทานมื้อดึกค่ะ และควรฝึกให้เด็กหลับได้ด้วยตนเอง โดยการเริ่มให้นอนบนเตียงในช่วงที่เด็กกำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับ ไม่อุ้มกล่อม หรือป้อนนมจนลูกจนหลับค่ะ หากลูกตื่นมาร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบเข้าหาตัวลูกทันทีค่ะ ควรทำเฉยไว้ก่อน ประมาณ 5 นาที จากนั้นให้คุณแม่เดินเข้าไปหาได้แต่ต้องไม่อุ้มลูกขึ้นมานะคะ แต่หากให้นั่งอยู่ข้างๆแล้วลูบเบาๆ บอกว่าแม่อยู่นี่ หลับซะลูก หรือฮัมเพลงกล่อมเบาๆ ลูกจะหลับไปเองค่ะ และเมื่อเด็กรู้ว่าการร้องไม่ได้ผล เด็กจะเริ่มเรียนรู้ที่จะหลับได้ด้วยตนเองในคืนต่อๆไปค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งนะคะ แอดมินเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกๆท่านค่ะ

  • 5 โรค ควรระวังในเด็กแรกเกิด

    5 โรค ควรระวังในเด็กแรกเกิด

    5 โรค ควรระวังในเด็กแรกเกิด

    สวัสดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่านค่ะ ลูกน้อยเปรียบเสมือนเป็นแก้วตาดวงใจเมื่อเกิดมาก็ย่อมปรารถนาให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ครบสามสิบสองค่ะ แต่การเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงวัยแม้ว่าลูกน้อยจะเพิ่งเกิดก็ยังมีโอกาสเจ็บป่วยได้เช่นกันค่ะ ดังนั้นบทความนี้แอดมินจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับโรคที่พบบ่อยในเด็กแรกเกิดค่ะ

    ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

    ภาวะตัวเหลืองเด็กแรกเกิด

    ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดพบในเด็กทุกคนแต่อาจจะมากหรือน้อยบ้าง โดยมักจะพบในช่วง 3 – 5 วันแรกหลังคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกับคุณแม่ ทารกที่เจ็บป่วยเป็นโรคหรือเกิดขึ้นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง รวมถึงคุณแม่ที่ประวัติเกี่ยวกับบุตรที่ต้องได้รับการส่องไฟ เพื่อรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกมาก่อน และจะค่อยๆเหลืองน้อยลงจนหายไปได้เองค่ะ แต่ในบางกรณีที่มีภาวะตัวเหลืองผิดปกติหรือตัวเหลืองจากโรค ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูกน้อยว่า มีภาวะเหลืองมากหรือไม่ โดยการกดที่ผิวของลูกจะเห็นบริเวณที่กดเป็นสีเหลืองชั้นขึ้น ซึ่งอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ตาขาวเป็นสีเหลือง เหงือกเหลือง ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มซึ่งปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี เป็นต้น หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่าลูกมีภาวะตัวเหลือง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อทำการประเมินและตรวจร่างกายซ้ำว่าเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่ค่ะ หากลูกมีภาวะตัวเหลืองมากในระดับที่เป็นพิษต่อเนื้อสมอง อาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางสมองและระบบประสาท ทำให้ทารกมีอาการชัก หลังแอ่น แขนขามีอาการบิดเกร็ง พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ฯลฯ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ค่ะ

    โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

    โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

    โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื้อต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ และเป็นหนึ่งโรคที่พบบ่อยในทารกแรกเกิดเช่นกันค่ะ โดยมักพบอาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจมีโรคหัวใจพิการ ซึ่งอาจตรวจไม่พบหรือแสดงอาการชัดเจนในช่วงหลังก็ได้ค่ะ เช่น ริมฝีปากเขียว มีภาวะซีดแบบเฉียบพลัน ตัว/มือและเท้าเย็น หายใจแรงและเร็ว ซี่โครงบาน หน้าอกบุ๋ม จมูกบาน ดูเหนื่อย ดูดนมไม่นานก็หยุดเป็นพักๆ ในทารกบางรายแพทย์อาจตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ หรือมีโรคหัวใจตั้งแต่ก่อนออกจากโรงพยาบาล โรคหัวใจพิการแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

    • หัวใจพิการชนิดเขียว เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้มีเลือดดำปนอยู่ในเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เด็กเกิดภาวะขาดออกซิเจนผิวจึงมีสีเขียวคล้ำม่วง ซึ่งจะเห็นได้ขัดเจนขณะร้องหรือดูดนม เหนื่อยง่าย และอาจมีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย
    • หัวใจพิการชนิดไม่เขียว เกิดจากความผิดปกติในโครงสร้างของระบบหลอดเลือดและหัวใจ แต่ไม่มีการผสมกันของเลือดดำและเลือดแดงจึงไม่มีอาการเขียว โดยความผิดปกติอาจเกิดที่ผนังกั้นหัวใจมีรูลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท(รั่ว) หรือเปิดไม่กว้างเท่าปกติ(ตีบ) หรือหลอดเลือดตีบหรือเกินปกติ เป็นต้น

    ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด

    ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์

    ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด คือ ภาวะที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนชื่อ ไทรอยด์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะปัญญาอ่อน เนื่องจากฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อพัฒนาการของสมองโดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก จึงมีความสำคัญกับเด็กมากค่ะ เด็กแรกเกิดในประเทศไทย จะพบราวๆ อัตราส่วน 1 : 3,000 ในพื้นที่ทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการบริโภคแร่ธาตุไอโอดีนน้อย และอัตราส่วน 1 : 1,900 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรคนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ค่ะ โดยคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุไอโอดีนให้เพียงพอ หลังจากคลอดแล้วควรทำการตรวจเลือดทารกก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งทำการตรวจคัดกรองภาวะดังกล่าว หากพบว่ามีความน่าสงสัยจะต้องรีบพาทารกกลับมาตรวจซ้ำและทำการรักษาในทันที เพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันต่อภาวะปัญญาอ่อน

    ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด

    ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด

    ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิดพบบ่อยในเด็กแรกเกิด เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ทำให้มีความเสียองต่อการติดเชื้อได้ง่ายและลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเยื่อหุ้มสมอง ปอดอักเสบ ทารกที่มีภาวะติดเชื้ออาจมีอาการแสดงได้หลายอย่าง เช่น มีอาการซึม นอนนิ่ง ไม่ค่อยขยับแขนขาหรือร้อง ดูดนมน้อย หายใจเร็วผิดปกติหรือหยุดหายใจจนตัวเขียวหรือซีด ในบางรายอาจมีอาการเกร็งกระตุก ในกรณีที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้ความดันเลือดต่ำหรือถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากท่านสังเกตเห็นอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบนำทารกมาพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาตามความเหมาะสมค่ะ

    ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว

    ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว

    ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว คือ ภาวะที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยงผนังลำไส้ เนื่องจากการจัดเรียงตัวของลำไส้ผิดปกติแต่แรกเกิดเป็นภาวะที่พบไม่บ่อยนัก ในช่วงแรกจะไม่แสดงอาการที่เด่นชัดเด็กจะปกติดีทุกอย่างเมื่อแรกเกิด แต่ต่อมามีอาการตัวซีด อาเจียน ท้องอืด ถ่ายเป็นเลือดหรือสีน้ำหมาก หากปล่อยไว้ทารกจะมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่หากพบว่าลูกมีภาวะดังกล่าวควรรีบนำทารกมาพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ โดยการผ่าตัดอย่างรีบด่วนเพื่อไม่ให้ลำไส้ขาดเลือดจนไม่สามารถแก้ไขได้ค่ะ

    โรคที่แอดมินกล่าวข้างต้นเป็นที่มักพบในเด็กแรกเกิด เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรต้องหมั่นสังเกตลักษณะและอาการของลูกอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทักท่วงทีค่ะ รวมถึงการเอาใจใส่และเลี้ยงดูเพื่อให้ลูกน้อยเติบโตมามีชีวิตมีชีวิตที่ดีและสุขภาพแข็งแรง เพราะสุขภาพของลูกเป็นสิ่งสำคัญ อาจส่งผลต่อการพัฒนาการของลูกน้อยในอนาคตได้ค่ะ

  • โรคหัดเยอรมัน(rubella)

    โรคหัดเยอรมัน(rubella)

    โรคหัดเยอรมัน
    โรคหัดเยอรมันในเด็กไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เนื่องจากโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่เกิดกับคนทั่วไปและความรุนแรงน้อยกว่าหัดค่ะ สามารถป้องกันและรักษาได้ค่ะ อย่างไรก็ตามอาจเป็นอันตรายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ค่ะ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัดเยอรมัน สาเหตุ อาการและการรักษาโรคหัดเยอรมันค่ะ

    โรคหัดเยอรมัน คืออะไร หัดเยอรมัน หรือในประเทศไทยเรียกว่า เหือด(Rubella) เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลา เชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในสารคัดหลั่งน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โรคหัดเยอรมันมีความคล้ายคลึงกับโรคหัดหรือไข้ออกผื่น แต่มีความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด สามารถติดต่อได้โดยการ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัดหรือหัด ซึ่งมีระยะฟักตัว 14 – 21 วันหลังได้รับเชื้อไวรัส โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงมักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ถ้าในกรณีที่เกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะ 3 – 4 เดือนแรก เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีอวัยวะต่างๆผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิดได้ค่ะ โรคหัดเยอรมันนี้เป็นแล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกค่ะ

    อาการของโรคหัดเยอรมันในเด็ก โรคหัดเยอรมันมีความคล้ายคลึงกับไข้หวัด โดยมีไข้ต่ำถึงปานกลาง ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย และหลังหู ร่วมกับมีผื่นเล็กๆสีแดง หรือสีชมพูอ่อนขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่นๆ เช่น แขน ขา และลำตัว โดยผื่นมักมีลักษณะกระจายตัว ซึ่งอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้ ในบางรายอาจมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้หรือมีไข้โดยไม่มีผื่น ผื่นดังกล่าวจะค่อยๆจางหายภายใน 3 – 5 วัน โดยไม่ทิ้งรอยแผลจากผื่นทิ้งไว้ และในบางรายอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดศรีษะ แสบตาเคืองตา ปวดเมื่อยตามร่างกายเล็กน้อย ไม่อยากอาหาร เป็นต้น อาการโดยทั่วไปมักไม่ค่อยรุนแรง และอาจไม่มีอาการแสดงใดๆเลยก็ได้ค่ะ

    ภาวะแทรกซ้อนของหัดเยอรมัน โรคหัดเยอรมันเป็นการติดเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง และไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เนื่องจากได้รับการฉีดวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม แต่ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ เช่น โรคข้ออักเสบที่นิ้วมือ ข้อมือ นิ้วเท้า และหัวเข่า สมองอักเสบอาจพบได้บ้างแต่น้อยมาก

    ควรระวังหากเกิดในหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 – 4 เดือนแรก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ หรือมีอวัยวะต่างๆผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแบบต่างๆ เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว สมองอักเสบ เป็นต้น หรือโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดในทารกเมื่อมารดาติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์

    การรักษาหัดเยอรมัน โรคหัดเยอรมันไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยทั่วไปอาการของโรคจะไม่ร้ายแรงและมักดีขึ้นภายใน 7-10 วัน การรักษาในเด็กและผู้ใหญ่ทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ หากมีอาการคันให้ทายาแก้ผดผื่นคัน ในกรณีที่พบในหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 – 4 เดือนแรก หรือคุณแม่ตั้งครรภ์หากมีไข้ร่วมกับการมีผื่น หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหัดเยอรมัน แม้จะไม่มีอาการอะไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโรค ซึ่งอาจต้องตรวจเลือดพิสูจน์ หากพบว่าเป็นโรคหัดเยอรมันแพทย์อาจพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์ค่ะ สำหรับทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อหัดเยอรมัน หรือสงสัยว่าติดเชื้อหัดเยอรมัน แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ตั้งแต่หลังคลอดและนัดเด็กมาตรวจเป็นระยะๆ เพราะอาการบางอย่างอาจปรากฏเมื่อเด็กอายุมากขึ้นค่ะ

    การป้องกันโรคหัดเยอรมัน โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 9 – 12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อ 2 ขวบครึ่ง แต่ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตอนโตก็ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นค่ะ และผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรในกรณีที่ไม่เคยฉีดวัคซีน ควรฉีดวัคซีนในระยะที่มีประจำเดือนพร้อมกับคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อป้องกันโอกาสที่วัคซีนจะทำให้ทารกติดเชื้อได้ รวมถึงการหลีกเลี่ยงในการคลุกคลี หรือใช้สิ่งของเครื่องใช้กับผู้ป่วยซึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาได้โดยง่ายค่ะ

    แม้ว่าโรคหัดเยอรมันจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่มักพบได้บ่อยในทารกและเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้ารับวัคซีนให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ค่ะ

  • โรคระบาดในเด็กที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง

    โรคระบาดในเด็กที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง

    โรคระบาดในเด็กที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง
    โรคระบาดในเด็ก อันตรายที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังอาจทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ เนื่องจากเด็กเล็กๆยังมีภูมิต้านทานที่ไม่ดีนัก ทำให้มีโอกาสของการติดเชื้อโรคระบาดได้ง่ายและมักมีภาวะแทรกซ้อนและมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่เรื่องของสุขภาพลูกให้มากๆค่ะ วันนี้แอดมินจึงรวบรวมโรคระบาดในเด็ก พร้อมกับอาการและวิธีป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังมาฝากค่ะ

    โรคไข้หวัดใหญ่
    ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไขหวัดใหญ่ชนิดเอและบีซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ เชื้อสามารถแพร่กระจากได้ง่ายติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวเพราะอากาศที่เย็นลงและความชื้นทำให้โรคในกลุ่มไวรัสที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจนั้นเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มีมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ
    อาการ
    เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง คัดจมูก มีน้ำมูกใส เจ็บคอ ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีโรคแทรกซ้อนได้ค่ะ เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบได้
    การป้องกัน
    ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ควรฉีดประมาณ 1 – 2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโรคทุกๆปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป รวมถึงการฝึกให้ลูกใช้หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย เลือกกินแต่อาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆจะดีที่สุด และหลีกเสี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยค่ะ

    โรคไข้เลือดออก
    ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคสามารถระบาดได้ทั้งปีแต่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน เพราะมีโอกาสที่น้ำจะขังมากทำให้ยุงวางไข่และขยายพันธุ์ได้ดี มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารและมีภาวะช็อคได้
    อาการ
    เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก อาการของโรคมักคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่มักไม่มีอาการหวัดร่วมด้วย หลังได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป กินยาลดไข้แล้วอาการไข้ลดลงเพียงเล็กน้อย ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว และอาจตรวจพบจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง โรคไข้เลือดออกยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบได้อีกด้วย
    การป้องกัน
    วัคซีนไข้เลือดออกกำลังอยู่ระหว่างการทดลอง คาดว่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคอย่างแพร่หลายในเร็วๆนี้ค่ะ การป้องกันที่ดีที่สุดคุณพ่อคุณแม่ควรพยายามอย่าให้ยุงกัดลูก อาจให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง รวมถึงจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบๆบ้าน จัดบ้านให้โปร่งไม่มีมุมมืดอับทึบ เนื่องยุงลายชอบอยู่ในที่มืดและชื้น อาการที่ควรเฝ้าระวังเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อลูกมีไข้สูงซึ่งอาจทำให้ช็อคได้ หรือมีอาการซึม มือเท้าเย็นโดยเฉพาะเมื่อไข้ลดลง ควรพบแพทย์เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

    โรคมือเท้าปาก
    โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส พบมากในช่วงหน้าฝนมีการแพร่ระบาดได้บ่อยตามสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลหรือเนิร์สเซอรี่ และพบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น ของเล่น ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ เป็นต้น หากพบว่าลูกป่วยโรคมือเท้าปากคุณแม่ต้องแจ้งทางโรงเรียนทันที เพื่อให้ปิดเรียนและทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อค่ะ
    อาการ
    เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2 – 3 วัน จะมีแผลในช่องปากทำให้รับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ โดยมีตุ่มแดงทั้งที่ลิ้น เพดานปากและกระพุ้งแก้มแล้วกลายเป็นตุ่มพองใสในที่สุด และพบตุ่มใสขึ้นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าแต่ไม่มีอาการคัน จากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วัน โรคมือเท้าปาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองที่รุนแรงได้แต่พบน้อยมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจทำให้ชักได้เสียงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาค่ะ
    การป้องกัน
    เนื่องจากไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นดูแลเรื่องความสะอาด อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงของเล่นและของใช้ของลูกเป็นประจำ หากไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรมีกระติกน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้ที่โรงเรียน ปลูกฝังและฝึกให้ลูกล้างมือก่อนกินข้าว และใช้ช้อนกลางทุกครั้งค่ะ

    โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV
    ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก มีอาการคล้ายกับไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ จาม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่แยกความแตกต่างของอาการหวัดและไวรัสได้ยากค่ะ ในบางรายอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้ค่ะ
    อาการ
    เด็กที่มีการติดเชื้อ RSV จะมีไข้ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล หายใจเร็วมีเสียงครืดคราดร่วมด้วย หอบเหนื่อยและหายใจลำบาก ไออย่างรุนแรง มีเสมหะมาก มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว) เนื่องจากเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมอักเสบได้ หากลูกมีโรคประจำตัวอย่างหอบหืด ภูมิแพ้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆหรือหายใจล้มเหลวได้ค่ะ
    การป้องกัน
    ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เริ่มต้นด้วยการฝึกให้ลูกหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนหลังการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการสัมผัส หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและสถานที่ที่มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัด หากลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นค่ะ

    เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ หากพบว่าลูกป่วยควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไปคะ

  • ไวรัสโรต้า ท้องร่วงรุนแรงในเด็ก

    ไวรัสโรต้า ท้องร่วงรุนแรงในเด็ก

    ไวรัสโรต้า ท้องร่วงรุนแรงในเด็ก
    ภาวะท้องร่วงรุนแรงในเด็ก อันตรายใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับไวรัสโรต้าสาเหตุทำให้เกิดโรคท้องร่วงรุนแรงในเด็ก รวมถึงการป้องกันและการดูแลลูกน้อยมาฝากค่ะ

    ไวรัสโรต้า(ROTAVIRUS) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียฉับพลันและติดต่อกันได้ง่ายผ่านการนำมือ อาหาร หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก โดยมักพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กมักจะหยิบอะไรได้ก็ส่งเข้าปากทันที ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย เชื้อไวรัสโรต้าพบการแพร่ระบาดมากในช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะช่วงเดือน ตุลาคม ถึง กุมพาพันธ์ แฝงตัวอยู่กับสิ่งของรอบตัวไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร หรือของเล่น และแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เชื้อไวรัสโรต้าทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายคนได้นาน ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเป็นอย่างมากค่ะ

    เชื้อไวรัสโรต้าแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายคนได้นาน โดยจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงการนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก นอกจากนี้ เชื้อไวรัสโรต้ายังสามารถปะปนไปกับอุจจาระของผู้ติดเชื้อตั้งแต่ในช่วงก่อนที่จะแสดงอาการป่วย และสามารถอาศัยอยู่ในร่างกายต่อไปได้นานถึง 10 วันหลังหายดีแล้ว บุคคลเหล่านี้จึงกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว

    อาการและการรักษาโรคท้องร่วงที่อาจเกิดจากไวรัสโรต้า โดยสังเกตได้ดังนี้
    ไวรัสโรตัาเมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรตาเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว 48 ชั่วโมง จะมีอาการท้องเสียหนักมาก ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำและถ่ายบ่อยกว่าปกติ ปวดท้องอย่างรุนแรง เด็กบางรายจะมีอาการซึม มือเท้าเย็น มีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากอุจจาระบ่อยจนอาจหมดแรงและสูญเสียน้ำในร่างกาย หรืออาเจียนร่วมด้วยไม่สามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ มีไข้ น้ำมูกและไอเล็กน้อยคล้ายการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ อาการท้องร่วงหากอาการไม่รุนแรงจะหายได้เองใน 3 – 7 วัน แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง คือการเสียน้ำในร่างกายซึ่งทำให้เกิดการช็อกได้ค่ะ ควรดื่มเกลือแร่ ทานอาการอ่อนย่อยง่ายค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการหากพบภาวะอื่นร่วมด้วยหรือความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

    การป้องกันไวรัสโรต้า

    1.การรักษาสุขอนามัย ซึ่งเป็นการป้องกันที่สำคัญที่สุดค่ะ
    – เด็กอายุ 6 – 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดก่อนและหลังการสัมผัส ป้อนอาหารลูกน้อย หมั่นควรทำความสะอาดของใช้เด็กเป็นประจำค่ะ
    – เด็กวัยอนุบาล ควรฝึกวินัยนิสัยสร้างสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือก่อนและหลังการหยิบของเข้าปาก เป็นต้น
    2. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม
    3. หลีกเลี่ยงการพาลูกไปในที่ชุมชนหนาแน่น หรือที่ที่มีการระบาดของโรค
    4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าได้ 100 % เพียงแต่ช่วยให้มีอาการท้องร่วงน้อยลงค่ะ

    นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อลูกป่วย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ หากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ลูกไม่สามารถรับประทานอะไรได้ มีอาการซึม หรืออาเจียนบ่อยครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกมาพบคุณหมอทันทีค่ะ เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

  • โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก

    โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก

    โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก
    ภาวะท้องร่วงในเด็ก เรื่องใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง บทความนี้แอดมินจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับโนโรไวรัสโรตัวการท้องเสียในเด็ก รวมถึงอาการและการป้องกันมาฝากค่ะ ตามแอดมาเลยจ้า…..

    โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร มีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของอาหารเป็นพิษซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกันค่ะ พบระบาดมากในช่วงหน้าหนาวเป็นไวรัสที่มีการแพร์ระบาดได้ง่ายในสภาพอากาศเย็นและรวดเร็ว สามารถทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆได้ดี ในบางรายที่มีอาการอาจหนักอาจร้ายแรงถึงขึ้นชีวิตได้ค่ะ ดังนั้น การรู้เท่าทันไวรัสชนิดนี้ย่อมช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลป้องกันและดูแลรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

    อาการเมื่อติดเชื้อโนโรไวรัส
    อาการที่พบบ่อยหลังได้รับเชื้อโนโรไวรัสภายใน 12 – 48 ชั่วโมง ลักษณะอาการคล้ายกับอาหารเป็นพิษเช่น คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ปวดท้องถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ รวมถึงปวดเมื่อยตามร่างกาย และรู้สึกอ่อนเพลีย เด็กเล็กและผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้

    การติดต่อและการแพร่กระจายโนโรไวรัส
    เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย โดยสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนเชื้อแล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก การรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนไวรัสนี้โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก และติดต่อทางอากาศการหายใจรับเชื้อโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกาย พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ฯลฯ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมงและอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความผิดปกติของการดูดซึมไขมันและน้ำตาลของลำไส้เล็ก เมื่อตรวจอุจจาระจะพบเชื้ออยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ หลังจากผู้ป่วยไม่มีอาการแล้ว

    การรักษาโนโรไวรัส
    ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ทานยาแก้อาเจียน ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ และการให้ยาปฏิชีวนะในบางราย โดยทั่วไปอาการต่างๆมักดีขึ้นในเวลา 3 – 4 วัน

    การป้องกันโนโรไวรัส
    เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัสนี้ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือการดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาด สุขอนามัยของลูกน้อย เพราะเป็นโรคที่ติดต่อง่ายมากค่ะ คุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ดื่มน้ำที่สะอาด ฝึกให้ลูกล้างมือให้สะอาดหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และก่อน/หลังการรับประทานอาหารหรือการหยิบจับสิ่งของเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แก้วน้ำ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยค่ะ

    นอกจากนี้ การดูแลและป้องกันลูกที่ดีที่สุดคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่ หมั่นสังเกตลูกเสมอ หากพบว่าลูกป่วยควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีต่อไปค่ะ

  • โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) โรคเลือดไหลไม่หยุด

    โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) โรคเลือดไหลไม่หยุด

    โรคฮีโมฟีเลีย หรือ โรคเลือดไหลไม่หยุด โรคทางพันธุกรรมเกิดจากความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดยาก เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดและเรื้อรังตลอดชีวิตไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคนี้พบในเด็กชายเท่านั้นส่วนเด็กหญิงที่มียีนฮีโมฟีเลียแฝงอยู่จะเป็นพาหะของโรค โรคฮีโมฟีเลียที่พบบ่อยในประเทศไทยเป็นชนิด Hemophilia A และ B มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แบบ X-linked recessive

    สาเหตุของโรคฮีโมฟีเลีย(Hemophilia)
    โรคฮีโมฟีเลีย เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเลือดออกร่างกายจะสร้างกลไกการห้ามเลือดขึ้น หากการแข็งตัวไม่เกิดขึ้นแผลอาจมีเลือดออกมากเกินไป เลือดสมารถออกได้ทั้งภายนอก คือ ด้านนอกของร่างกายที่สามารถมองเห็นได้ และภายใน คือด้านในของร่างกายที่มองไม่เห็น เลือดออกภายในของข้อต่อ (เช่น หัวเข่าหรือสะโพก)

    ฮีโมฟีเลียมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่
    ฮีโมฟีเลีย A พบมากที่สุด เกิดจากการขาดโปรตีนจับลิ่มเลือด ที่เรียกว่าแฟกเตอร์ 8 ฮีโมฟีเลีย B พบรองลงมาจากชนิดเอ เกิดจากการขาดโปรตีนจับลิ่มเลือด ที่เรียกว่า- แฟกเตอร์ 9 และ ฮีโมฟีเลีย C เป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากที่สุด เกิดจากการขาดโปรตีนจับลิ่มเลือด ที่เรียกว่าแฟกเตอร์ 11 นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้หรือมีอาการของโรคเลือดออกง่ายหยุดยากมาก่อน อาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของยีน (Spontaneous Mutation) หรือแม่เป็นพาหะค่ะ

    อาการโรคฮีโมฟีเลีย โดยทั่วไป คือเลือดไหลนานและการห้ามเลือดยากเนื่องจากเลือดไม่แข็งตัว ในทารกแรกเกิดมักจะไม่มีอาการเลือดออกในวัยแรกเกิด อาจมีจ้ำเขียวตามลำตัวหรือแขนขาบ้าง สะดือหลุดเหมือนเด็กปกติทั่วไปไม่มีเลือดออกที่ผิดปกติ ในกรณีที่เด็กผู้ชายมีการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศจะมีเลือดออกมาก โดยทั่วไปเด็กฮีโมฟีเลียเริ่มมีอาการเลือดออกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เริ่มหัดคลานหรือเดินเมื่อชนกับสิ่งของจะพบรอยจำเขียวได้ง่าย หรือเกิดจากได้รับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ในบางรายที่เมื่อฟันหลุดจะมีเลือดออกมากกว่าเด็กปกติ เลือดกำเดาไหลไม่มีสาเหตุ บางคนอาจมีอาการปวดตามข้อ เลือดออกในข้อ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย มีเลือดออกในข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า มีอาการปวดบวมแดงคล้ายข้ออักเสบ ความรุนแรงของโรคฮีโมฟีเลีย หลายระดับขึ้นอยู่กับระดับของการแข็งตัวของเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ข้อติดแข็งพิการได้ อันตรายของโรคนี้ถ้ามีเลือดออกในกล้ามเนื้อของคอหรือกล่องเสียงจะทำให้กดหลอดลม หรือ หากมีเลือดออกในสมอง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

    ภาวะแทรกซ้อนฮีโมฟิเลีย นอกจากโรคฮีโมฟิเลีย จะมีอาการเลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก มีรอยฟกช้ำจ้ำเขียวตามร่างกายแล้ว อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย ได้แก่ เลือดออกภายในอวัยวะ ข้อต่อต่างๆเกิดความเสียหาย แขน ขาบวม อาจไปกดทับเส้นประสาท ข้อต่อ ทำให้ปวดหรือชาหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะข้อต่ออักเสบหรือเสียหายได้ นอกจากนี้อาจมีอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษาร่วมด้วย ในบางรายระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาทำให้รักษาไม่ได้ผลค่ะ

    การรักษาโรคฮีโมฟิเลีย โรคฮีโมฟิเลียไม่มีการรักษาที่ช่วยให้หายขาดได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาโดยการทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ ซึ่งมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก แพทย์จะฉีดฮอร์โมนเดโมเพรสซินเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อให้ร่างกายผลิตโปรตีนจับลิ่มเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องดูแลตนเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วยค่ะ

    เนื่องจากโรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถป้องกันได้ค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกป่วยเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยหาความผิดปกติของยีนค่ะ ถ้าพบว่าลูกเป็นโรคฮีโมฟีเลียคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษเพื่อลดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่อาจทำให้เลือดออกได้ และควรมีประจำตัวที่ระบุว่าเด็กเป็นโรคฮีโมฟีเลียพร้อมทั้งระบุกรุ๊ปเลือด กรณีหากเกิดอุบัติเหตุหรือมีเลือดออกจะได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องทันท่วงทีค่ะ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดค่ะ