Tag: สุขภาพเด็กและทารก

  • ไส้ติ่งอักเสบในเด็กภัยเงียบที่ต้องระวัง

    ไส้ติ่งอักเสบในเด็กภัยเงียบที่ต้องระวัง

    ไส้ติ่งอักเสบในเด็กภัยเงียบที่ต้องระวัง
    สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับไส้ติ่งอักเสบในเด็กภัยเงียบที่ต้องระวัง เนื่องจากโรคนี้มักมีอาการคล้ายกับโรคอื่นในเด็กและมีอาการที่แตกต่างจากไส้ติ่งอักเสบในผู้ใหญ่ค่ะ ตามแอดมินมาเลยจ้า…..

    ไส้ติ่งอักเสบ คือการอักเสบของไส้ติ่งที่อยู่บริเวณระหว่างลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น บริเวณช่องท้องข้างขวาส่วนล่าง มักเกิดจากการอุดตันและมีเชื้อโรคมาสะสมภายในไส้ติ่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันค่ะ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดออก ไส้ติ่งที่อักเสบจะแตกได้ค่ะ ทำให้เชื้อโรคจะกระจายในช่องท้อง อาจเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ค่ะ ไส้ติ่งอักเสบพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่อาการของไส้ติ่งอักเสบในเด็กนั้นจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ค่ะ

    อาการไส้ติ่งอักเสบในเด็ก
    อาการของไส้ติ่งอักเสบในเด็กนั้น จะสังเกตค่อนข้างยากเนื่องจากการสื่อสารบอกเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้นของเด็ก ไส้ติ่งอักเสบในเด็กจะมีอาการแตกต่างกับไส้ติ่งอักเสบในผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งไส้ติ่งอักเสบจะมีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ แต่สามารถสังเกตอาการไส้ติ่งอักเสบในเด็กได้ดังนี้

    • เบื่ออาหาร ไม่กินนมหรืออาหาร ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน เด็กบางคนจะงอแงร้องกวนผิดปกติเนื่องจากไม่สบายท้อง
    • ในบางรายมีอาการถ่ายเหลวโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • บางครั้งอาจปวดท้องจนตัวงอ โดยจะปวดมวนท้องอยู่ตลอดเวลา
    • ถ้าคลำท้องบริเวณด้านขวาล่างที่เป็นตำแหน่งของไส้ติ่งแล้วลูกเกร็งต้าน แสดงว่าเขารู้สึกเจ็บ
    • อาการปวดท้องไม่ลดลงแม้ว่าจะอาเจียนหรือถ่ายออกไปแล้ว ซึ่งต่างจากโรคติดเชื้อในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
    • มีไข้ ซึ่งเป็นอาการเด่นชันของไส้ติ่งอักเสบในเด็ก
    • ในกรณีที่ไส้ติ่งเกิดการแตกทะลุ อาการปวดก็จะแพร่กระจายไปตำแหน่งอื่นๆของช่องท้อง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

    การรักษาไส้ติ่งอักเสบในเด็ก
    การผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นทางเดียวในการรักษาเพื่อผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกไป แต่จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือไส้ติ่งไม่แตก และไส้ติ่งแตก เป็นการเช่นเดียวกับไส้ติ่งอักเสบในผู้ใหญ่ค่ะ โดยอาจจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้องหรือการผ่าตัดแบบส่องกล้องค่ะ ซึ่งจะขึ้นกับความพร้อมของโรงพยาบาลและความชำนาญของศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดค่ะ

    ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกๆอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเด็กเล็กสังเกตอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับเด็ก เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเมื่อโรคต่างๆที่เกิดกับเด็กเล็กๆ คือการที่เขาไม่สามารถบอกได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เจ็บ หรือปวดตรงไหน หากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาทันที เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ฯลฯ กว่าจะรู้ว่าลูกป่วยด้วยสาเหตุใดก็อาจจะรุนแรงจนยากที่จะรักษาแล้ว เพราะหลายๆโรคมักมีอาการที่คล้ายกันและอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคอื่น ๆได้ค่ะ

  • เตรียมพร้อมรับมือไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

    เตรียมพร้อมรับมือไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

    เตรียมพร้อมรับมือไข้หวัดใหญ่
    สวัสดีค่ะ
    วันนี้เราจะมาเตรียมพร้อมรับมือไข้หวัดใหญ่ในเด็กซึ่งหลายๆท่านอาจจะยังคงเข้าใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่มีการระบาดเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น แต่ความจริงแล้วโรคไข้หวัดใหญ่สามารถเป็นได้ตลอดทั้งปีและทุกช่วงวัยนะคะ ซึ่งอาการและความรุนแรงขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนในขณะนั้น ในบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายมีอาการรุนแรงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจนเสียชีวิตได้ค่ะ ดังนั้นเรามาเตรียมพร้อมรับมือกับเจ้าไข้หวัดใหญ่กันค่ะ

    ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเกิดจาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ A, B, และ C และมักจะรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป ซึ่งในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือมีผลกระทบต่อระบบประสาทและหัวใจจนทำให้เสียชีวิตได้ โรคไข้หวัดสามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย จาการไอจาม หรือการสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำมือเข้าปาก ขยี้ตาค่ะ ซึ่งอาการของไข้หวัดใหญ่ที่เด่นชัด คือ มีไข้แบบเฉียบพลัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ มีน้ำมูก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วสมารถดูแลรักษาได้โดยการเช็ดตัว ทานยาลดไข้พาราเซตามอล ดื่มน้ำมากๆและพักผ่อนให้เพียงพอก็สามารถหายได้เองค่ะ แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดลงควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่อไปเพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆได้ค่ะ

    การเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

    • คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกสอนให้ลูกดูแลรักษาความสะอาด เช่น การล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ หรือก่อน/หลังการรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เป็นต้น
    • คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรือล้างมือทุกครั้งก่อนป้อนอาหารลูก
    • การสอนให้ลูกไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อม แปรงสีฟัน เป็นต้น
    • การดูแลบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่เป็นที่เพาะเชื้อโรค อากาศถ่ายเทได้ดี เปิดหน้าต่างเพื่อให้แสงแดดเข้ามาฆ่าเชื้อ
    • ฝึกให้ลูกปิดปากทุกครั้งที่ไอจาม และการสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
    • การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดุกาลเป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันกับเชื้อไวรัสใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
    • การทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคไขหวัดใหญ่ เนื่องจากเด็กๆมีโอกาศป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกทำประกันสุขภาพให้ลูกๆไว้ด้วยค่ะ เพื่อคุ้มครองสุขภาพและดูแลค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษาของลูกได้ค่ะ

    นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะคะ ในกรณีที่พบว่าลูกป่วยไม่ควรพาลูกไปในแหล่งชุมชนหรือโรงเรียน ควรให้ลูกหยุดพักผ่อนจนหายดีเสียก่อนเพื่อป้องกันการป่วยเรื้อรังหายเชื้อหรือการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสสู่คนอื่นๆค่ะ ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องพาลูกออกไปด้วยควรฝึกให้ลูกสวมหน้ากากอนามัยค่ะ และการเจ็บป่วยทุกครั้งเราไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นการเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับมืออยู่เสมอเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะได้ไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ

  • ไวรัสไข้ซิกา

    ไวรัสไข้ซิกา

    ไวรัสไข้ซิกา
    นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม.(9 ม.ค.62) เตือนคนกรุงเทพฯ เฝ้าระวัง ป้องกันเชื้อไวรัสซิการะบาดหนักเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ เขตบางกะปิและเขตตลิ่งชันค่ะ เนื่องจากในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและบางพื้นที่อาจมีฝนตกส่งผลให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายค่ะ วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสซิกา การดูแลรักษาและการป้องกันมาฝากค่ะ

    โรคไข้ซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเชื้อซิกา(Zika Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดหลังและไข้เหลืองค่ะ ซึ่งโดยทั่วไปพบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสซิกา 1 ใน 5 ป่วยและแสดงอาการจากโดนยุงลายที่มีเชื้อกัด โดยระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกา 3 – 7 วัน

    อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้มากกว่า 3 วัน หรือมีผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เยื่อบุตาอักเสบ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ในบุคคลทั่วไปจะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรงแต่จะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 7 วัน แต่ในกรณีหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติและสมองฝ่อ หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ค่ะ

    การรักษาโรคไข้ซิกา คือการดูแลตามอาการเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้ซิกา ซึ่งรักษาโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ การใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด งดใช้ยาแก้ปวดและลดไข้กลุ่มNSAIDs (ยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ ซึ่งอาจทำให้รบกวนการทำงานของเกร็ดเลือดและเสียงต่อการมีเลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้นค่ะ

    การป้องกันโรคไข้ซิกา สามารถทำได้โดยป้องกันยุงกัดเป็นหลักค่ะ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการป้องกันไข้เลือดออกค่ะ โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ภาชนะที่มีน้ำขังในบริเวณบ้าน เช่น ถ้วยชามที่มีน้ำขัง กระถางต้นไม้ หรือแม้แต่เศษขยะก็มีน้ำขังได้ค่ะ ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ และธรรมชาติของยุงลายนั้น มักจะชอบกัดในเวลากลางวันและชอบอยู่ในบริเวณที่มืดชื้น ดังนั้นควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด นอนกางมุ้ง และปิดหน้าต่าง ปิดประตูหรือใช้มุ้งลวดติดเพื่อป้องกันยุงเข้าบ้านค่ะ หากพบว่าตัวเองมีไข้ ออกผื่น ปวดตามข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันทีค่ะ

    การเจ็บป่วยซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆไม่สามารถวางแผนหรือคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะเกิดกับคนใกล้ตัวหรือตัวเราและมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพคุณและคนที่รักคุณรักยามเจ็บป่วยได้ การทำประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากในปัจจุบันยามเจ็บป่วยช่วยดูแลในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล เพราะทุกวันนี้เชื้อโรค ไวรัสหรือแบคทีเรียมีการพัฒนาสายพันธ์และมีความรุนแรงขึ้นพร้อมกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงตามเช่นกันค่ะ

  • แนวทางดูแลป้องกันเด็กจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

    แนวทางดูแลป้องกันเด็กจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

    แนวทางดูแลป้องกันเด็กจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
    กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแนวทางการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่ กำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถ้าหากได้รับมลพิษทางอากาศในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อโรคเรื่องรังในระยะยาวได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาท ความรู้ความสามารถทางสติปัญญาของเด็กได้ เพราะเด็กเล็กการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ อัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ซึ่งส่งผลให้เด็กเล็กรับฝุ่นละอองนี้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองและครูพี่เลี้ยงควรดูแลเด็กและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ

    ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมหรือครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด สามารถลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 10 กิโลเมตร หากมีการสัมผัสในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อหลังในระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง โรคปอด โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบ ได้แก่ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวค่ะ

    ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดูแลเด็กเล็ก รวมถึงการลดมลภาวะทางอากาศที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้

    • ติดตามสถานการณ์ พื้นที่เสี่ยงของมลพิษทางอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เว็บไซต์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ที่ www.anamai.moph.go.th หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ สามารถดาว์นโหลดได้ทั้ง android และ ios ค่ะ
    • ในพื้นที่ไหนหากมลพิษทางอากาศมีค่า PM2.5 หรืออยู่ในระดับสีแดง (91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป ห้ามออกนอกบ้าน
    • ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด และควรเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน
    • คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กๆไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
    • กรณีที่มีความจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านควรสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ได้มาตรฐาน
    • รับประทานผักผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเพิ่มแอนตี้ ออกซิแดนต์ไว้ต่อสู้กับเชื้อโรค
    • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน
    • กรณีเด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการของเด็ก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที
    • งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น การเผาใบไม้ เผาขยะ เป็นต้น
    • ไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน
    • การปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ

    ทั้งนี้ การป้องกันและลดปัญหามลพิษทางอากาศนั้น ไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยหนึ่งเท่านั้น แต่หากเป็นหน้าที่ของทุกคนควรพึงปฏิบัติดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อาจจะเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ งดการเผาไหม้หญ้าและขยะ งดการใช้รถยนต์ควันดำ เป็นต้น

  • การฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก

    การฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก

    การฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก
    การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กควรฉีดวัคซีนใดบ้าง ค่าใช้จ่ายวัคซีนแต่ละชนิด และถ้าหากได้รับวัคซีนไม่ตรงตามที่กำหนดจะเกิดผลอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับเด็ก 14 วัคซีนสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยค่ะ โดยปกติแล้ววัคซีนสามารถแบ่งเป็น 2 แบบค่ะ คือ วัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนจำเป็น และวัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก

    วัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนจำเป็น วัคซีนในกลุ่มนี้เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนดค่ะ ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนหากเป็นโรงพยาบาลรัฐจะไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายขอวัคซีนแต่ละชนิดเป็นไปตามรายละเอียดของโรงพยาบาลค่ะ ซึ่งราคาของวัคซีนแต่ละประเภท แต่ละชนิดจะแตกต่างกันและการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาลค่ะ

    การฉีดวัคซีนกลุ่มพื้นฐานของเด็กในวัยต่างๆ ดังนี้

    เด็กแรกเกิด

    – วัคซีนป้องกันวัณโรค โดยฉีดในชั้นผิวหนังที่ไหล่ซ้าย ฉีดเมื่อตอนแรกเกิด จำนวน 1 ครั้งค่ะ
    – วัคซีนตับอักเสบบี(HB1) เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด เพราะการติดเชื้อในวัยเด็กจะทำให้เด็กที่ติดเชื้อเป็นพาหะของโรคนี้ได้สูงค่ะ โดยต้องฉีดวัคซีนตัวนี้ให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด

    เด็กอายุ 1 เดือน

    – วัคซีนตับอักเสบบี (HB2) เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

    เด็กอายุ 2 เดือน

    – วัคซีน DTP-HB1 ป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
    – วัคซีน OPV1 ป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน โดยใช้หยอดข้างปาก

    เด็กอายุ 4 เดือน

    – วัคซีน DTP-HB2 วัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
    – วัคซีน IPV1 ป้องกันโรคโปลิโอ โดยต้องให้แบบฉีด 1 เข็ม
    – วัคซีน OPV2 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง

    เด็กอายุ 6 เดือน

    – วัคซีน OPV3 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
    – วัคซีน DTP-HB3 รวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี

    เด็กอายุ 9 เดือน

    – วัคซีน MMR1 รวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ซึ่งถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด จะต้องรีบฉีดโดยเร็วที่สุด

    เด็กอายุ 1 ปี

    – วัคซีน LAJE1 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์

    เด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน

    – วัคซีน DTP4 รวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน
    – วัคซีน OPV4 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง

    เด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน

    – วัคซีน LAJE2 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
    – วัคซีน MMR2 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

    เด็กอายุ 4 ปี

    – วัคซีน DTP5 รวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน
    – วัคซีน OPV5 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง

    เด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 1

    – วัคซีน MMR รวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
    – วันซีน dT ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก
    – วัคซีน HB ป้องกันโรคตับอักเสบบี
    – วัคซีน IPV ป้องกันโรคโปลิโอ โดยต้องให้แบบฉีด 1 เข็ม
    – วัคซีน BCG ป้องกันโรควัณโรค
    – วัคซีน OPVป้องกันโรคโปลิโอ ชนิดรับประทาน 1 ครั้ง
    – วัคซีน LAJE ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์

    เด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 5

    – วัคซีนHPV1 และ HPV2 ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV

    เด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 6

    – วัคซีน dT ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก

    การฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก

    วัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือกวัคซีนกลุ่มนี้เป็นวัคซีนกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องฉีดก็ได้ค่ะ แต่ถ้าฉีดจะช่วยป้องกันการเกิดโรคนั้นได้ค่ะ ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนกลุ่มนี้จะเป็นไปตามรายละเอียดของโรงพยาบาลกำหนดค่ะ ซึ่งราคาของวัคซีนแต่ละประเภท แต่ละชนิดจะแตกต่างกันตามการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาลค่ะ วัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก ได้แก่

    วัคซีนไข้เลือดออก

    วัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดจำนวน 3 เข็มห่างกัน 0 เดือน, 6 เดือนและ 1 เดือน และเป็นวัคซีนที่ฉีดเมื่อเคยเป็นไข้เลือดออกเท่านั้น

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่

    วัคซีนกลุ่มทางเลือกที่เด็กไทยจำเป็นต้องได้รับ และแนะนำสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นบ่อยค่ะ โดยในช่วงแรกจะฉีดเมื่ออายุ 6 เดือนถึง 2 ปี จำนวน 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นฉีดปีละครั้งค่ะ

    วัคซีนตับอักเสบเอ

    วัคซีนที่ช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดเอที่ติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคนี้ มีอยู่ 2 ชนิด คือ เชื้อไม่มีชีวิต ฉีดจำนวน 2 เข็ม เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไปโดยฉีดห่างกัน 6 – 12 เดือน และเชื้อมีชีวิต ฉีดจำนวน 1 เข็ม อายุ 18 เดือนขึ้นไปค่ะ

    วัคซีนอีสุกอีใส (VZV)

    วัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคอีสุกอีใสซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดผื่นผุพองเป็นตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง ฉีดจำนวน 2 เข็ม เมื่ออายุ 12 – 18 เดือนและ 2 ปี 5 เดือน – 4 ปี

    วัคซีนฮิบ

    วัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Haemophilus influenzae Type B : Hib) ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้โดยผ่านละลองอากาศ เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไขสันหลังอักเสบในเด็ก มีความรุนแรงมากโดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ฉีดจำนวน 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือนและ 6 เดือนค่ะ

    วัคซีนเอชพีวี

    วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยฉีดเมื่ออายุ 11 – 12 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 6 – 12 เดือนและจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้รับการฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ค่ะ

    วัคซีนโรตา

    วัคซีนกลุ่มทางเลือก เชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วง ท้องร่วง หรือท้องเสียในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งวัคซีนโรตาเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค โดยวัคซีนนี้เป็นวัคซีนแบบหยอด มีชนิด 2 ชนิดคือ Live attenuated human ฉีดจำนวน 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือนและ Bovine-human reassortant ฉีดจำนวน 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน และ 6 เดือนค่ะ

    วัคซีนนิวโมคอคคัส
    ชนิดคอนจูเกตหรือวัคซีนไอพีดี (IPD)

    วัคซีนกลุ่มทางเลือก เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นตัวการหลักในการก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไอพีดี ที่มีอาการรุนแรง คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบและปอดอักเสบ ซึ่งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ดังนั้นจึงมีการให้วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต เพื่อเป็นการป้องกันโรคแก่เด็ก ฉีดจำนวน 4 เข็ม เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือนและ 12 – 18 เดือนค่ะ

    คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกรับวัคซีนพื้นฐานให้ครบตามกำหนดค่ะ และการรับวัคซีนเสริมเพื่อป้องกันลูกน้อย เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอค่ะ เพื่อสุขภาพลูกน้อยของคุณ

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นหรือไม่

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นหรือไม่

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับเด็กจำเป็นต้องฉีดหรือไม่..?

    โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ ชนิด A, ชนิด B, และชนิด C เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กซึ่งมีความรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันได้ง่าย เชื้อแพร่กระจายในอากาศ จากการไอ จามของผู้ป่วย หรือการจับสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เช่น ของเล่น สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆแล้วเอามือเข้าปากทำให้เชื้อโรคเข้าไปสู่ร่างกายได้ อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กเล็กจะพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาแดงและอาจมีอาการภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบจาการติดเชื้ออย่างรุนแรง หรืออาการคล้ายติดเชื้อในกระแสเลือด จนถึงช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ หากพบว่าเด็กมีอาการคล้ายหวัด แต่มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก ซึมลง ทานไม่ได้ ไอมากจนหายใจเหนื่อย และเป็นมากขึ้นหรือไม่ดีขึ้นเกิน 5 วัน ควรรับพาลูกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจและรักษาที่ถูกต้องค่ะ

    วัคซีนไขหวัดใหญ่ คือวัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก เป็นกลุ่มวัคซีนที่ไม่จำเป็นจะต้องฉีดก็ได้ค่ะ แต่ถ้าฉีดจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันการเกิดโรคไขหวัดใหญ่ ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนนี้เป็นไปตามรายละเอียดของโรงพยาบาลกำหนดค่ะ วัคซีนไขหวัดใหญ่เหมาะสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายค่ะ โดยในช่วงแรกจะฉีดเมื่ออายุ 6 เดือนถึง 2 ปี จำนวน 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นฉีดปีละครั้งค่ะ

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นหรือไม่สำหรับเด็กๆ มาดูความคิดเห็นจากคุณพ่อคุณแม่สมาชิกพันทิปกันค่ะว่ามีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้างค่ะ

    ความคิดเห็นจาก แม่ของน้องเตี้ยซ่า อะฮ่าอะฮ่า
    สำหรับเราจำเป็นค่ะ ลูกเราฉีดทุกปีแต่มีปีหนึ่งที่เค้าเป็นติดไข้หวัดใหญ่ (ถึงแม้จะฉีดแล้ว) แต่อาการเค้าน้อยมาก แค่ 3-4 วันก็หายแล้ว ไข้ไม่สูงมาก ไม่ซึม กินได้ เล่นได้ อีกอย่างไข้หวัดใหญ่แพร่เชื้อง่ายมาก ตอนนั้นแค่ 2-3 วัน แทบจะติดไข้กันทั้งบ้าน (พ่อ แม่ ลูกคนโต น้าชาย) จนตัดสินใจย้ายลูกคนเล็กวัย 4 เดือน ไปอยู่บ้านอีกหลังพร้อมกับย่า เพราะตอนนั้นยังไม่ได้รับวัคซีน

    ความคิดเห็นจาก เตียวหยุนจูล่ง
    ฉีดเถอะครับ แลกกับความปลอดภัยของลูกยามไปติดหวัดจากเพื่อนมา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ตัวร้อน ไข้สูง เช็ดตัวยังไงก็ไม่ลด เช็ดตัวก็ร้องเจ็บ ร้องหนาว ไอยังกะใจจะขาด ไอทั้งคืน และในบางคนกินแล้วอ้วกออกมา พ่อแม่ไม่ได้หลับได้นอน ต้องคอยตื่นทุกๆชั่วโมงเช็คไข้ลูก ตื่นปลุกลูกกินยา เผลอๆต้องลางานไปเฝ้าไข้ลูก ไหนจะค่ารักษา ค่าหมอ ค่าห้อง โรงพยาบาลรัฐบางทีห้องพิเศษก็ไม่ได้ว่างง่ายๆ
    ถ้าลูกป่วย ต้องไปอยู่ร่วมกับเด็กป่วยคนอื่นในห้องรวม มีโอกาสติดเชื้ออื่นเพิ่มอีก แถมบางที่มีลูกหลายคน เป็นหนึ่งคน อีกคนก็ติดอีก เหนื่อยคูณสอง ยาลูกเต็มตู้เย็นไปหมดจัดยาทีปวดหัวเลย แถมเสียเวลาเรียนด้วย กว่าจะหายต้องตามทำการบ้าน
    ถ้าฉีด โอกาสเป็นก็ลดลง แต่ก็ไม่ได้ฉีดแล้วจะกันได้100% นะครับ แต่คุ้มแน่ๆ ผมให้ลูกฉีดทุกวัคซีน ที่เค้ามีให้ฉีด อย่าน้อยเสียค่าวัคซีน เรารู้ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่ถ้าป่วยหนักๆมาบางทีจะหลายพันไปถึงหลายหมื่น ถ้าแอดมินนานๆ จะแพงกว่านั้นอีกครับ ทำประกันไว้ยังไงก็มีส่วนต่างต้องจ่ายเยอะ

    ความคิดเห็นจาก 5021567
    ข้อแนะนำคือ แนะนำให้บุคคลที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ฉีดทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามการฉีด ประสิทธิภาพขึ้นกับการระบาดของเชื้อในปีนั้น จะตรงกับวัคซีนหรือไม่ ประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 66 ในเด็ก ถ้าจะฉีด ควรจะฉีดสองครั้ง ห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อให้ประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ 66 แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้ป้องกันเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ H1N1 หรือไข้หวัดนก

    ความคิดเห็นจาก 1428399
    เราให้ลูกทั้ง3คน ฉีดค่ะ ส่วนตัวคิดว่าป้องกันไว้ก่อน ถ้าลูกป่วยคงไม่สนุก เพราะถึงแม้จะมีประกันสุขภาพและได้ส่วนลดในการแอดมิท เพราะพ่อของลูก(สามีเรา)เป็นหมอ ก็ไม่คุ้มค่ะ

    ความคิดเห็นจาก 5086851
    จริงๆ ไม่ใช่แค่ในเด็กนะครับทุกคนควรฉีดเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ รัฐบาลจะให้วัคซีนฟรีเฉพาุะในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ คนท้อง คนแก่ คนที่ป่วยเป็นเบาหวาน โรคปอด ภูมิคุ้มกันต่ำเป็นต้น วัคซีนนี้ควรฉีดอย่างน้อยมีละ 1 ครั้ง สามารถป้องกันและลดความรุนแรงของการเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ครับ ที่ทุกคนควรฉีดเพราะหากเป็นขึ้นมาไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรง การเดินหายใจล้มเหลวได้ และเรายังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ครอบครัวและชุมชนได้ครับ

    ความคิดเห็นจาก Tawan my sunshine
    จำเป็นมากค่ะ ลูกเราเป็นทั้งสายพันธ์เอ และบี ก่อนหน้าที่จะฉีดวัคซีน คือสงสารลูกมาก เป็นหนักเลย แต่พอฉีดวัคซีน คือเป็นแต่ไข้ธรรมดา มีน้ำมูก ไอบ้าง อาการไม่รุนแรง เท่าตอนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนค่ะ

  • คุรแม่แชร์ประสบการณ์ ลูกป่วยโรค HLH (โรคหายาก)

    ลูกป่วยโรค HLH ภาวะเม็ดเลือดขาวบกพร่อง
    สวัสดีค่ะ บทความนี้เราขอนำเรื่องราวของคุณแม่ Wiparat Tadpitak ลูกชายวัย 1 ปี 2 เดือน ป่วยเป็นโรค HLH ภาวะเม็ดเลือดขาวบกพร่อง โรคร้ายที่พบได้ในเด็กไม่บ่อยนัก โดยน้องต้องเข้าออกโรงพยาบาล 8 เดือน คุณแม่จึงอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ครอบครัวอื่นๆทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้เป็นอย่างไรค่ะ

    ข้อมูลเบื้องต้นโรค HLH (hemophagocytic lymphohystiocytosis) เป็นโรคของเม็ดเลือดชนิดหนึงหนึ่งซึ่งพบได้น้อยมาก แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ชนิดพันธุกรรมมักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และชนิดที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งมักเกิดร่วมกับการติดเชื้อ หรือร่วมกับมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นหลัก โรค HLH ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ(ชนิดที่เกิดขึ้นภายหลัง) อาการที่พบ คือ มีไข้สูง 1-8 สัปดาห์ ม้ามโต และอาจพบมีต่อมน้ำเหลือโตหรือมีผื่นและอาการบวมร่วมด้วย โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ค่ะ

    โดยสมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ Wiparat Tadpitak บอกเล่าเรื่องราวเมื่อลูกชายวัย 1 ขวบ 2 เดือน ที่ป่วยเป็นโรค HLH ภาวะเม็ดเลือดขาวบกพร่อง ซึ่งไม่ค่อยมีใครเป็นจึงอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ครอบครัวอื่นๆทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้เป็นอย่างไรค่ะ

    น้องแฟ้มอายุ 1 ขวบ 2 เดือน ตั้งแต่เกิดมาน้องไม่เคยป่วยหรือเป็นอะไรเลย เป็นเด็กร่าเริง ขี้เล่น ยิ้มเก่ง ไม่หวงตัวใครเห็นก็ขออุ้ม น้องก็ให้อุ้มหมดทุกคนค่ะ เมื่อเดือนพฤษภาคมน้องมีไข้สูง 38 – 39 องศาเซลเซียสแม่ก็พาน้องไปที่โรงบาลเอกชล1 หมอตรวจพบว่าน้องมีเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติ และหมอจะส่งตัวไปที่โรงบาลชลบุรี เพราะที่นั่นจะมีหมอโรคเลือดเฉพาะทาง พอมาถึงโรงบาลชลบุรีน้องมีไข้สูงตลอดแม่เช็ดตัวน้องทั้งคืน เพราะไข้ไม่ยอมลงเลย

    ผ่านไป 1 อาทิตย์ ไข้น้องก็ยังไม่ยอมลดลงเลย หมอขอเจาะไขกระดูกของน้องเพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง ผลออกมาไม่พบหรือเจอเชื้ออะไร หมอบอกเห็นแค่จางๆยังไม่ชัดเจน อาทิตย์ที่ 2 ผ่านไปน้องยังมีไข้สูง และหมอขอเจาะไขกระดูกอีกรอบ อาทิตย์ที่ 3 หมอเรียกพ่อกับแม่เข้าห้องคุยอาการของน้อง ผลจากเจาะไขกระดูกยังไม่พบเชื้ออะไรแต่เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ น้องอาจจะเป็นโรค HLH เม็ดเลือดขาวกินเม็ดเลือดแดง เราก็ถามหมอว่าอันตรายไหม หมอบอกถ้าเกิดจากการติดเชื้อก็จะรักษาหายและหายขาดแต่ขอระยะเวลารักษา 1 ปี และผลข้างเคียงของโรครึผลข้างเคียงของยาจะทำให้น้อง อ้วน มีขนเยอะ ผิวดำ พัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ แม่ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรก็ตามก็ขอแค่ให้ลูกหายก็พอ แม่ก็ถามหมอว่าอีกครั้ง น้องไม่ได้เป็นมะเร็งใช่ไหมคะ หมอบอกไม่คะแม่น้องไม่ได้เป็นมะเร็ง

    อาการของน้องมีไข้สูงอยู่ตลอดน้องร้องทั้งคืน เกล็ดเลือดต่ำ เนื้อตัวก็จะมีจุดจ้ำเลือดออกตามแขนและซีดต้องให้เกล็ดเลือดอยู่บ่อยๆ หมอบอกว่าน้องต้องให้ยาคีโมเพื่อไปฆ่าเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติ หลังจากนั้นวันสองวันหมอก้อให้ยาคีโมหลังจากที่น้องได้ยาคีโมไข้น้องก็เริ่มหายตัวเริ่มก็หายเหลืองซีด กินได้ เล่นได้ กินเก่งมาก กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แม่เห็นลูกกลับมาเป็นแบบนี้แม่ก็รู้สึกดีใจมากและผลเลือดของน้องก็ดีขึ้น เกล็ดเลือดก็เริ่มดี เม็ดเลือดขาวดี เริ่มดีทุกอย่างได้เล่นกับเพื่อน มีความสุขมาก น้องแข็งแรงดีแล้ว ผลเลือดดีแล้ว แต่ก็ต้องให้ยาคีโมอยู่ตลอดและหมอก็ให้กลับบ้านได้แต่ทุกอาทิตย์น้องต้องมาให้ยาคีโม หมอสั่งห้ามไม้ให้พาน้องไปที่ที่คนเยอะๆเป็นไปได้ให้อยู่ที่บ้าน ถ้าใครไม่สบายห้ามเข้าใกล้น้อง เพราะน้องกินยากดภูมิ ภูมิน้องต่ำ น้องจะติดเชื้อง่าย นอนโรงบาลครั้งนี้ 2 เดือนเต็มค่ะ

    แม่ดีใจมากน้องได้กลับมาบ้านแล้ว น้องก็มีความสุข วิ่งเล่น กินเก่งมาก กินทุกอย่างและมีความสุข เราก็ไม่พาออกไปไหนกลัวลูกจะติดเชื้อกลัวลูกเป็นอีก เพราะเห็นลูกเป็นมันทรมานมาก ที่บ้านเราอยู่ด้วยกัน 3 คน พ่อ แม่ ลูก ชีวิตเราตั้งแต่มีลูกก็มีความสุขมาก ขอแค่เรามีเค้าค่ะ ทุกอาทิตย์แม่จะพาไปให้ยาคีโมไม่เคยขาด ไปทุกรอบที่หมอนัดไม่เคยขาดนัดเลย จนหมอขอเจาะไขกระดูกอีกรอบเพื่อตรวจว่าเชื้อยังมีอยู่รึเปล่า และผลออกหมอบอกเชื้อในไขกระดูกไม่มีแล้ว เราก็ดีใจมากเชื้อไม่มีแล้ว คิดว่าลูกต้องหายต้องกลับมาเป็นปกติให้ได้ลูกของแม่

    น้องอยู่ที่บ้านได้ 3 เดือน กินเก่ง น้องก็เริ่มอ้วน ผิวคล้ำลง ขนเยอะมากตามตัวใครเห็นใครก็ทัก น้องจะต้องให้ยาคีโมอยู่ตลอดและกินยากดภูมิ ยาสเตียลอยด์แต่น้องก็ร่าเริง เล่น ยิ้มเก่ง เหมือนเดิมก็มาหาหมอตามนัดทุกครั้ง แต่ครั้งนี้น้องมีไข้ต่ำๆหมอก็ให้ยาและกลับบ้านหลังจากนั้นไม่กี่วันน้องก็เป็นไข้อีก แม่ก็พาไปโรงบาลหมอก็ให้นอนดูอาการครั้งนี้น้องเริ่มมีไข้สูงเหมือนรอบที่แล้วนอนโรงบาลได้ 3 – 4 วัน น้องเริ่มบวมขึ้นทุกวันอย่างเห็นได้ชัด แม่ก็ตกใจ ถามหมอว่า ทำไหมน้องถึงบวมคะ หมอก็บอกว่าน้องไม่ได้บวมเพราะน้ำเกลือหรือยาหรอกคะ น้องบวมเพราะโรคทำให้น้องบวมและหมอขอเจาะไขกระดูกน้องอีกรอบ

    รอบนี้น้องบวม ท้องโต หายใจเหนื่อย ต้องให้ออกซิเจน น้องบวมจนลุกไม่ขึ้น นั่งไม่ได้เพราะแน่นท้อง หมอให้ยาคีโมและยาอะบูมีน เพื่อที่จะฉี่ออกมาเยอะๆ ขับน้ำออกมา ท้องจะได้ยุบ จากนั้นน้องก้อเริ่มฉี่เยอะมาก ฉี่ออกจนท้องยุบ น้องเริ่มดีขึ้นลุกนั่งได้ กินได้ แต่ไม่ค่อยเล่น หงุดหงิด ง่าย งอแง ไม่สบายตัวเพราะรอบนี้หมอให้ยาคีโมแรงกว่าเดิม ผมน้องเริ่มร่วง ร่วงแต่ผม ร่วงจนเริ่มหมดแต่ขนไม่ร่วง อาการน้องดีขึ้นเกล็ดเลือดดี เม็ดเลือดดีขึ้น หมอก็ให้กลับบ้านได้ ครั้งนี้นอนโรงบาล 1 เดือนเต็ม กลับบ้านรอบนี้ หนูไม่ค่อยเดิน หนูเดินแล้วหนูล้ม หนูก็ไม่อยากเดินอีกไม่เป็นไรลูก หนูเก่งอยู่แล้วเดียวหนูก็เดินได้ แม่กับพ่อพาหนูไปเที่ยวสวนสัตว์หนูมีความสุขมาก หนูยิ้ม หนูชอบ แม่เห็นหนูมีความสุข แม่กับพ่อก้อมีความสุข กลับมาอยู่บ้านได้ 2 อาทิตย์ วันที่หมอนัดไปให้ยา พอวัดไข้หนูกลับมีไข้ 38.1 หมอเลยให้หนูนอนดูอาการสุดท้ายท้องหนูก็เริ่มบวม หมอบอกว่าเหมือนน้องจะเป็นแบบซ้ำ

    วันต่อมาหมอบอกแม่ว่าจะลองส่งน้องไปที่โรงบาลศิริราชนะแม่ เผื่อที่นู้นจะมียาตัวอื่นรักษาน้อง แม่ก็ดีใจ มีความหวังขึ้นมา ว่าหนูจะไปรักษาที่ศิริราช ยาหนูก็เยอะที่ต้องให้เกล็ดเลือด เลือด ยาฆ่าเชื้อ 2 ตัว 3 ตัว เส้นหนูไม่พอให้ เส้นเลือดเล็กต้องเจาะใหม่ เจาะใหม่เกือบทั้งคืน เจาะเส้นใหม่กว่าจะได้ เข้าไปเจาะในห้อง ร้องจนไม่มีเสียง กว่าจะได้ออกมา ออกมาที ลอยเจาะเต็มไปหมด จนหมอทำเส้นเลือดใหญ่ให้ เพราะน้องไม่ไหวจริงๆ ท้องน้องก็เริ่มโตทุกวันทุกเวลา ยาที่ให้ไปก็เริ่มไม่เห็นผล น้องไม่ยอมฉี่ ฉี่ไม่ค่อยออก สวนสายฉี่แล้วก็ไม่ค่อยออก ออกก็ออกน้อย

    วันจันทร์วันที่3 ธันวาคม 2561 วันนี้ส่งตัวมาที่โรงบาลศิริราช วันแรก หมอทางศิริราชบอกดูจากอาการน้องแล้ว หมอจะให้น้องนอนห้องไอซียูนะขอดูอาการน้องก่อน เพราะน้องแลเหนื่อยมาก ลูกอยู่ในห้องไอซียู ก็ต้องไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ได้นอนด้วยกัน แม่ก็คิดมาก ทำไงได้ ก็ต้องยอม เพื่อที่หมอจะได้ดูแลเต็มที่ เวลาเข้าเยี่ยม 11.00-13.00 /18.00-20.00 รอเวลาเยี่ยมกว่าจะได้เข้าไปหา วันแรกก็ผ่านไป วันที่สองพยาบาลป้อนข้าวไม่ยอมกิน พยาบาลบอกป้อนข้าวน้องไม่ยอมกินข้าว พอแม่มาป้อนกินได้นิดหน่อย กล้วยอีก1ลูกนมอีกครึ่งกล่อง แม่เห็นหนูกินได้แม่ก้อดีใจ

    วันที่ 3 ที่นอนในห้องไอซียู น้องไม่ค่อยฉี่ ฉี่ออกน้อยจนบวมหนัก หมอขอเจาะน้ำในท้องน้องออก แต่หมอขอใส่ท่อเครื่องหายใจด้วยเพราะตอนเจาะมันเสี่ยงความดันตก อาจจะวูบได้ ใส่เครื่องเพื่อให้มีอากาศพอ เพราะหมอต้องวางยานอนหลับเยอะ ในการเจาะครั้งแรกก็ผ่านไปได้ดี หนูก็ตื่นมาขึ้นคุยแม่ เล่นโทรศัพท์ของพ่อ ดูการ์ตูนที่หนูชอบ เช้ามา แม่เข้ามาหาน้อง น้องมาใส่แค่สายออกซิเจน หมอบอกว่าเมื่อคืนน้องทำท่อหลุดหมอเลยลองเปลี่ยนมาใส่แค่ออกซิเจน หมอจะลองดูก่อนนะคะ ว่าน้องจะไหวรึเปล่า ถ้าน้องไหวก็ใส่แค่ออกซิเจน ไม่ต้องใส่ท่อแล้ว ท่อถ้าไม่จำเป็นหมอก็ไม่อยากใส่คะ เพราะตัวน้องเองก็ดิ้นเยอะ และใส่ยากด้วย พอตกกลางคืนมาน้องก้อไม่ไหว หมอเลยต้องกลับไปเปลี่ยนใส่เครื่องช่วยหายใจเหมือนเดิม

    หมอก็บอกว่าโรคที่น้องเป็นไม่ค่อยมีใครเป็น น้อยมากที่จะเป็นแต่ถ้าได้เป็นแล้วก็น้อยที่จะรักษาหายโรคที่น้องเป็นไม่ได้เป็นแค่ติดเชื้อ ถ้าเป็นแค่ติดเชื้อให้ยา น้องก็จะหายแต่น้องให้ยาแล้วไม่หาย หมอคิดว่าอาจจะเป็นที่พันธุกรรม แต่ถ้าเป็นที่พันธุกรรมก็ต้องปลูกถ่ายไขกระดูก และต้องเอาเซลล์พี่น้องท้องเดียวกัน แต่พ่อกับแม่มีลูกคนเดียว ก็ต้องรอรับผู้มาบริจาคและเข้ากันได้ ถึงจะปลูกถ่ายได้ และต้องใช้เงินมาก อยู่ในหลักล้าน แต่ถ้าน้องไปจุดที่ต้องปลูกถ่ายจริงๆก็ค่อยมาคุยกันใหม่

    หมอก็รักษาเต็มที่ ให้ยาเต็มที่ แต่น้องไม่ตอบสนองกับยาเลย ไข้ก็ยังมี มีไข้ต่ำๆ 37.8 – 38.1 องศาเซลเซียส ยังมีอยู่เรื่อยๆตั้งแต่น้องเลือดออกปอด น้องก็ไม่ตื่นมาคุยกับแม่ ไม่ได้มองหน้ากัน เราก็นั่งเฝ้านั่งรอลูกทุกวัน รอวันที่ลูกตื่นขึ้นมา แม่รอหนูอยู่ตรงนี้นะลูก หลังจากนั้น 2-3 วัน น้องแฟ้มก็ฉี่ออกเยอะ เริ่มขยับตัว ตอบสนองเวลาเราจับมือ หัวใจเต้นได้อยู่ในระดับดี หมอได้เบาเครื่องลงทุกวัน จนได้กลับไปใส่เครื่องช่วยหายใจปกติได้ น้องเริ่มลืมตามาเห็นหน้าแม่ น้องก็ร้องไห้ ยกมือยกแขนที่จะให้แม่อุ้ม แม่อยากอุ้มหนูใจจะขาด แต่ด้วยตัวหนูบวมใหญ่และเต็มไปด้วยเครื่อง แม่อุ้มหนูไม่ได้ และน้องก็ได้ทรุดอีกรอบ

    หลังจากน้องดีขึ้น น้องก็กลับมาทรุดอีกรอบ แต่ครั้งนี้หมอนั่งรอในห้องเต็มไปหมด ในห้องมีหมอกับพยาบาลประมาณ10 กว่าคนได้ แม่เดินเข้าไปในห้องยังตกใจ ว่าทำไหมหมอถึงนั่งรออยู่ขนาดนี้ หมอเรียกคุยแต่ล่ะรอบไม่มีเรื่องดีเลย หมอก็เริ่มพูดเลยว่าอาการน้องตอนนี้หนักกว่ารอบที่แล้ว พ่อกับแม่จะทำอะไรให้น้องไหม ยังเหลืออะไรอีกไหมที่ยังไม่ได้ทำ หมอขอพูดตรงๆนะว่าน้องจะอยู่กับเราอีกไม่นานแล้ว แม่เงียบพูดไม่ออก ไม่อยากฟังอะไรไม่อยากได้ยินอะไรแล้ว อยากไปหาลูกอย่างเดียวส่วนพ่อร้องไห้อย่างเดียว หมอบอกมีเลือดในปอดออกอีก แต่รอบนี้ออกน้อยกว่าครั้งก่อน หมอให้ยานอนหลับน้องอีก ถ้าไม่ให้ยานอนหลับน้องจะหายใจเหนื่อยมาก หมอบอกถ้าน้องจะไปน้องก็จะหลับไปแบบไม่ทรมาน มันเรื่องจริงใช่ไหม ที่หมอพูด

    แม่กับพ่อนั่งเฝ้าหนูทุกวัน รอหนูทุกวันเผื่อจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอีกสักครั้ง แต่มาถึงวันนี้วันที่ 30 ธันวาคม 2561 หัวใจของหนูได้เต้นช้าลง ช้าลงเรื่อยๆแม่กับพ่อก็ยังนั่งอยู่กับหนูอยู่ข้างๆหนูตลอดเลยนะลูก แม่พูดกับหนูว่า หนูเก่งมากลูก แม่เชื่อแล้วว่าหนูเก่ง ถ้าหนูไม่ไหวหนูพักนะลูก เป็นคำพูดที่ไม่อยากจะพูดเลย สักพักหนูก็จากพ่อกับแม่ไป แบบไม่มีวันกลับ เหมือนใจจะขาด เหมือนไม่เหลืออะไรอีกแล้ว
    สุดท้ายวันนี้ ก็มาถึง วันที่แม่กับพ่อต้องมาจัดงานอะไรแบบนี้ให้ลูก หนูมาจากแม่ไปแบบไม่มีวันกลับ ไม่มีอีกแล้ว ไม่เหลือแล้ว แม่รักของแม่ที่สุด


    ประสบการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับครอบครัวของเราเอง ทางเราขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวหรือใครที่เจอปัญหาหรือเรื่องราวอะไรที่ทำให้รู้สึกท้อค่ะ ขอให้สู้ๆนะคะ


    ขอบคุณแหล่งที่มา : Wiparat Tadpitak

  • แชร์ประสบการณ์ลูกติดเชื้อไวรัส RSV

    แชร์ประสบการณ์ลูกติดเชื้อไวรัส RSV

    แชร์ประสบการณ์ลูกติดเชื้อไวรัส RSV
    สวัสดีค่ะ
    วันนี้ขอแชร์เรื่องราวของคุณแม่ท่านหนึ่งกับลูกน้อยวัยซนป่วยเป็น RSV ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 7 วัน 6 คืน พร้อมกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 8 หมื่นกว่าบาทค่ะ ก่อนที่จะไปอ่านเรื่องราวของคุณแม่กับลูกวัยซนแอดมินขอพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกับโรค RSV ภัยร้ายใกล้ตัวเด็กค่ะ

    RSV ในเด็ก เป็นการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจมักเกิดในเด็กเล็กๆอายุต่ำกว่า 3 ปี พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาวค่ะ สามารถติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลายจากการไอ จาม หรือการสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนเชื้อไวรัสโดยที่เด็กๆมักนำเข้าปากค่ะ RSVมีระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน โดยในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เป็นต้น หลังจากนั้นส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ฯลฯ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV เช่น ไข้สูง หายใจเร็วแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสียงหวีดในปอด ไข้โขลกๆ มีเสมหะในลำคอมากๆค่ะ ในส่วนของการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค RSV โดยตรง ดังนั้นจะการรักษาตามอาการ เช่น ทานยาลดไข้ ยาลดเสมหะหรือดูดเสมหะออก ในบางรายอาจต้องทำการพ่นยาเพื่อขยายหลอดลม เป็นต้น หากมีการติดเชื้อไวรัส RSV ต้องรักษาติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาะวะแทรกซ้อนอื่นๆซึ่งหากมีอาการรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ

    วันนี้จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับอาการ RSV การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 7 วัน 6 คืน ลูกน้อยวัยซน ซึ่งคุณแม่ joyjung_pomkung ได้เล่าไว้ดังนี้

    ย้อนไปเมื่อวันที่ 3/11/16
    ลูกชายเราได้มีอาการไอตอนกลางคืนค่ะ และตอนกลางคืนหายใจครืดคราด คือใจเรานี่คิดไปแล้ว มันต้องใช่ ต้องใช่แน่ๆ และตั้งใจว่าเช้าปุ๊บจะพาลูกชายไปหาหมอทันที พอรุ่งเช้าลูกก็ไอน้อยลง แล้วก็เหมือนจะไม่เป็นอะไรด้วยค่ะ แต่เราไม่นิ่งนอนใจค่ะ พาไปโรงพยาบาลเลยค่ะ

    เช้าวันที่ 4/11/16
    ทุกครั้งเราจะไปโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนนะคะ เพราะเราคลอดลูกที่นี่ และประทับใจทีมหมอและพยาบาลที่นี่ วันนี้หมอประจำยังไม่ลง เราเลยขอพบหมอกฤต ซึ่งเป็นคุณหมอท่านหนึ่งที่มีคนไข้เยอะนะคะ หมอพูดจาดีเป็นกันเอง ของเล่นเยอะ และเป็นหมอรุ่นใหม่ แต่พอตรวจจริง ลูกหายใจเคลียร์ ออกซิเจนปกติ น้ำมูกไม่มี ไข้ไม่มี จบข่าว หมอลงความเห็นว่าเป็นหวัดปกติก่อน ใจเราก็อยากรู้ว่าลูกจะเป็นมั้ย หมอเลยบอกว่าถ้าอยากรู้ต้องหยอดน้ำเกลือแล้วดูดน้ำมูกออกมา แต่ลูกจะร้องนะ จะทรมานลูกทำไม หมอว่ารอดูอาการไปก่อนดีกว่า เพราะถ้าเกิดเป็นRSV จริงๆก็ต้องรักษาตามอาการ เพราะมันก็ไม่มียาที่รักษาเฉพาะได้ เราก็เลยคิดว่าก็จริงอย่างที่หมอบอก หมอบอกว่าให้คุณแม่ดูอาการครับ ถ้าลูกไข้สูงมาก กินยาก็ไม่ลงแบบนี้รีบพามาด่วน หรือถ้าลูกไอแล้วอาเจียน ถี่ๆแบบนี้ใช่แน่นอน รีบมาด่วนเลย อาการแบบนี้ต้องแอดมิท เราเลยกลับบ้านมารอดูอาการค่ะ ตกคืนนั้น ลูกนอนปกติ มีครืดคราดตอนกลางคืนบ้าง แต่ก็ไม่มีอะไร เราภาวนาอย่างเดียวขอให้เป็นหวัดปกติ และแล้ว วันรุ่งขึ้นก็มาถึง

    วันที่ 6/11/16
    อาการลูกชายเริ่มมีไข้อ่อนๆ แต่ลูกก็ยังคึกคักอารมณ์ดีกินข้าวกินนมได้ แต่พอช่วงบ่ายหลังจากตื่น ลูกเล่นกับพ่อเค้าแล้วเราสังเกตเหมือนอกเค้าบุ๋มๆแล้วตอนเค้าเดินไปมาเหมือนเค้าหอบเลย คือมันจะใช่ ใช่มั้ย คือในระหว่างที่ลูกชายมีอาการข้างต้น ก็สอบถามคนนั้นคนนี้ที่ลูกมีประสบการณ์เป็นRSV แต่อาการก็ไม่เห็นจะตรงกับลูกเราเลย ไม่รอช้า รีบไปหาหมอเลย เก็บกระเป๋าด่วน ไปหาคุณหมอที่ปีที่แล้วลูกเป็นเหอแปงไจน่า แล้วเราประทับใจ นั่นก็คือคุณหมอนารา
    คุณหมอนาราจะค่อนข้างใส่ใจรายละเอียดคนไข้ ถามอาการเบื้องต้น เริ่มมีอาการกี่วันแบะจดรายละเอียดทุกอย่างไว้หมด ตอนมาถึงวัดไข้ ไข้สูง39 นี่ขนาดกินยาลดไข้แล้วนะ ค่าออกซิเจนต่ำมากจนเครื่องร้อง ลูกชายโดนจับเช็ดตัวและพ่นยาด่วน และโดนแอดมิท ให้ยาฆ่าเชื้อทางสายน้ำเกลือ น่าสงสารจังเลยเจ้าลูกชายตัวแสบ
    ตอนนี้เชื้อมันเล่นงานปอดลูกเราเรียบร้อยแล้ว เกาะรอบปอดเลย ต้องเคาะปอดดูดเสมหะ โอ๊ยยยย…..สงสารลูกแทบขาดใจ ฮือออออออ เชื้อบ้าบอ…เกลียดมัน นั่งหาอ่านข้อมูลไปเรื่อย แล้วก็นั่งย้อนกลับไป ลูกเราน่าจะติดจากที่ไหน อ๋อ…นึกออกแล้ว น่าจะติดจากเพลย์กรุ๊ปแน่นอน พาน้องไป แล้วมีเพื่อนในคลาสไอใส่ ตอนนั้นคิดอยู่ว่าอย่าเป็นRSVนะ….ต้องใช่ มันต้องใช่แน่ๆ เพราะปกติเลี้ยงลูกอยู่บ้านตลอด ไม่ค่อยพาไปที่เสี่ยงๆ ฮือ…… ไม่น่าเลย ลางสังหรณ์วันนั้น….มันเป็นเรื่องจริง
    อาการลูกเรา น้ำมูกแห้งมาก ไม่ไอ แต่คอแดง มีเสมหะมาก มีไข้สูงต้องให้ยาทุก 4 ชม. พ่นยาวันละ 4 รอบ เคาะปอดเช้าและบ่าย วันละ 2 รอบ ลูกเริ่มกินน้อยลง โชคดียังดูดนมดีเรายังให้นมลูกค่ะ

    แชร์ประสบการณ์ลูกติดเชื้อไวรัส RSV

    7/11/59
    อาการ RSV วันที่3 ลูกชายยังมีไข้ต้องให้ยาลดไข้และเช็ดตัว เคาะปอดวันละ 2 รอบ คุณหมอบอกว่าเสมหะเยอะมาก กลัวจะท่วมปอดถ้ากลับบ้าน รอดูผลรายวันเอาละกัน กลับบ้านยังอันตรายมาก…. ตอนนี้ลูกชายริ่มคุ้นเคยกับพยาบาลบ้างแล้ว แต่ก็กลัวอยู่ดี ตอนพ่นยาไม่ค่อยร้องแล้ว พยาบาลบอกว่าตอนเคาะปอดก็ร้องน้อยลง คงปรับตัวได้แล้ว ร้องไปก็ไม่ช่วยอะไร ที่นี่มีแว่นวางไว้บนหัวนอนด้วย ลูกชายเราใส่ตอนไปเคาะปอด พ่นยาตลอด

    8/11/59
    อาการวันนี้ วันนี้ไม่มีไข้แล้ว แต่เริ่มไอมากขึ้น เคาะปอดยังเสมหะเยอะมาก คงต้องนอนต่ออีกสองคืน…ลูกชายพูดทุกวันม๊าเก็บกระเป๋า กลับบ้านนะ….สงสารลูกจับใจ วันนี้กินได้มากขึ้น ขอกินขนมปังกับนม….ก็ยังดีที่พอจะกินได้บ้าง

    9/11/59
    RSV อาการวันนี้ แทบจะไม่ไอเลย น้ำมูกก็ไม่มี แต่เสมหะเยอะมาก….เชื้อบ้าบออะไรนะ สงสารลูก….จะได้กลับบ้านวันไหน….แต่ทุกวันลูกชายยังร่าเริงแรงเยอะ…และกินบ้างไม่กินบ้าง แต่โดยรวมถือว่าดี ซึ่งอาการนี่ต้องดูรายวันกันเลยทีเดียว

    10/11/59
    อาการRSV วันนี้สรุปต้องนอนต่ออีกหนึ่งคืน เพราะเมื่อคืนมีไข้เพิ่มขึ้นมาอีก วันนี้คุณหมอมาเยี่ยมแล้วบอกว่าเธอเป็นเยอะมากเลยนะ ไม่รู้ญาติผู้ใหญ่ที่บ้านเป็นเกี่ยวกับภูมิแพ้มั้ย…. และเราตอบไปว่า “ยายทวดเป็นหอบหืดค่ะ ” เจอแล้ว เพราะแบบนี้ลูกชายเลยเป็นเยอะ เพราะวันมาลูกชายหอบด้วย ค่าออกซิเจนต่ำ เสมหะเลยรุมปอดกันมากมาย แต่โดยรวมลูกชายยังสดใส แรงเยอะ แรงม้า พลังช้างมาก ตอนพ่นยานึกว่าหลายวันจะพ่นง่าย ที่ไหนได้ตอนนี้ฟาดงวงฟาดงา….เด็กแค่ไม่ถึง2ขวบ แต่ผู้ใหญ่ 3 คนจับแทบไม่อยู่ แต่มีวิธีที่ทำให้ลูกสงบคือแม่ต้องหลบไปซ่อน แล้วเธอจะอ่อนแรงลง

    11/11/59
    ในที่สุดวันนี้ก็ได้กลับบ้านค่ะ ก่อนกลับคุณหมอให้เคาะปอดดูดเสมหะ และพ่นยาก่อนกลับ ลูกชายให้น้ำเกลือและยาฆ่าเชื้อหมดน้ำเกลือไป 4 ถุงค่ะ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดหมดไป 80,000 กว่าบาท ใช้ประกันสุขภาพของบริษัทสามี ประกันจ่ายบางส่วนก็จ่ายส่วนต่างหลักหมื่นนะคะ คือเป็นพนักงานบริษัทเงินเดือนก็ไม่ได้มากมาย หลักหมื่นที่ก็สะเทือนในมากแล้วค่ะ ถ้าจ่ายทั้งหมดต้องตายแน่ๆค่ะ
    ต้องขอบคุณพยาบาล คุณหมอที่ใส่ใจไข้ เรียกปุ๊บมาปั๊บ บริการมีระดับประทับใจจริงๆค่ะ และตอนนี้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน จนถึงวันนี้ลูกชายยังเสียงแหบเป็นเป็ดอยู่เลยค่ะ ส่วนเราเองก็ยังไม่หายดี ไปไหนก็ใส่หน้ากากป้องกันกันไปค่ะ ยังไงก็เป็นกำลังใจให้แม่ๆพ่อๆทุกท่านสู้ๆๆๆนะคะ เวลาลูกป่วยเหนื่อยกายและเหนื่อยใจจริงๆค่ะ

    ทางเราต้องขอขอบคุณ คุณแม่ที่มาแชร์ประสบการณ์ให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆได้ทราบด้วยค่ะ เพราะลูกคือดวงใจของคุณพ่คุณแม่แม้เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยมักจะสร้างความกังวลใจมากมายให้กับคุณพ่อคุณแม่ จะดีกว่ามั้ยหากการทำประกันสุขภาพให้กับลูกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายกรณีที่ลูกเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคร้ายที่พบบ่อยในเด็กและต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลค่ะ เพราะเราคาดเดาไม่ได้ค่ะ แอดมินขอเป็นกำลังใจให้เด็กๆที่กำลังป่วยหายไวๆ และกลับมาสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิมนะคะ

    ขอขอบคุณเรื่องราวของคุณแม่ joyjung_pomkung

  • มีสิทธิรักษาพยาบาล ควรทำประกันเพิ่มหรือไม่

    มีสิทธิรักษาพยาบาล ควรทำประกันเพิ่มหรือไม่

    สวสัดีค่ะ
    จากกระทู้คำถามจากพันทิปที่ว่า ตอนนี้ลูกเราอายุ 1 ปี 5 เดือน มีสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทในโรงพยาบาลที่ดีมากๆแห่งหนึ่ง ควรทำประกันสุขภาพเด็กเพิ่มหรือไม่ครับ และ
    จากคำถามที่คุณแม่ได้ตั้งไว้ก็มีสมาชิกพันทิปหลายๆท่านมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ อิทิเช่น

    ความคิดเห็นจากคุณ teerit กล่าวว่า
    การทำประกันสุขภาพให้ลูกเพิ่มนั้น บอกยากครับ การที่เราจะทำประกันเพิ่มให้กับลูกนั้นต้องดูว่าคุณจริงจังและกังวลมากแค่ไหน สามารถดูแลเองได้ไหม เพราะโรงพยาบาลของรัฐแอดมิทยากกว่าโรงพยาบาลเอกชนครับ ส่วนตัวผมทำประกันแบบเหมาจ่ายไว้ กรณีกลัวลูกป่วยบ่อยๆ ส่วนกรณีที่ป่วยหนักหรือโรคร้ายแรงก็ต้องเข้าโรงพยาบาลรัฐอยู่แล้วครับ เพราะถ้าป่วยหนักขนาดนั้นจริงประกันเหมาจ่ายก็เอาไม่อยู่ครับ ของผลเองป่วยไป 2 ครั้งแบบถ้าไปหาหมอเอกชนได้นอนแน่นอนแต่ก็ดูกันเองครับเหนื่อยหน่อย ไม่จำเป็นไม่อยากให้นอนโรงพยาบาลมันมีข้อเสียและความเสี่ยงอยู่แต่ก็มีพ่อแม่หลายๆคนจะชอบให้นอนเพราะเบิกประกันได้ถึงแม้จริงๆจะไม่จำเป็นก็เถอะ ถ้าไม่มากเกินไปก็พอไหวประกันจ่าย ถ้ามากไปหมอก็จะบอกเลยว่าถ้านอนประกันอาจจะไม่จ่ายครับ ลองถามตัวเองดูนะครับอีกอย่างโรงพยาบาลรัฐบางทีจะได้ห้องรวมเป็นส่วนใหญ่ก็จะเสี่ยงขึ้นไปอีกหน่อยอาจได้โรคเพิ่มง่ายขึ้นครับ
    ถ้าให้แนะนำแบบฟันธงเลยก็ขอบอกว่าทำเถอะครับแต่ต้องตัดใจเงินก้อนนั้นนะ อย่างของผมตัวแทนก็ยังเสียดายบอกไม่อยากให้ทำเหมาจ่ายเพราะเบี้ยแพงให้ทำยูนิตลิงค์ แถมของลูกผมมีสวัสดิการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งลดราคาบางส่วนอยู่แล้วแต่ผมถือว่าเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงก็ทำแบบเหมาจ่ายไป แต่ตัดใจทิ้งค่าเบี้ยเลยครับที่แนะนำเพราะโรงเรียนสมัยนี้ห้องแอร์ซะมาก มีโอกาสป่วยบ่อยแน่นอนครับ

    ความคิดเห็นจากคุณ แม่ใหญ่สอน กล่าวว่า
    เด็กแรกเกิดถึง 5 ปี มีโอกาสป่วยง่ายและบ่อยค่ะ ยิ่งถ้าเข้าโรงเรียนแล้วมีโอกาสบ่อยบ่อยขึ้นเพราะอาจติดจากเพื่อนๆ แต่ถ้าคุณแม่มั่นใจว่าโรงพยาบาลตามสิทธิ 30 บาท เขาจะรักษาได้ดีและมีเตียงสำหรับลูกเราตลอด 24 ชม. เผื่อเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินช่วงกลางคืนก็ไม่ต้องทำประกันเพิ่มก็ได้ค่ะ หรือถ้าคุณแม่กังวล หรืออยากมีไว้เพื่อความอุ่นใจไม่ว่าลูกเราเจ็บป่วยขนาดไหน ตอนไหน จะเข้าโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่ เราก็มีเงินจ่ายก็ทำประกันเผื่อไว้เลยคะ ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาให้เบาลงกรณีที่ต้องจ่ายมากๆค่ะ

    ความคิดเห็นจากคุณ Deathangel กล่าวว่า
    ส่วนตัวเราคิดว่าขึ้นอยู่กับเรารับได้หรือไม่กับสิทธิรักษาพยาล 30 บาทที่ได้รับ เช่น กรณีนอนโรงพยาบาลก็ต้องนอนตามที่สิทธิกำหนด(ห้องรวม) ไม่ใช่ห้องรวมไม่ดีนะครับ (เพราะลูกผมล่าสุดป่วยหนักจึงต้องแอดมิทอยู่ห้องรวม เพื่อให้พยาบาลสามารถดูแลได้ทั่วถึงครับ) และก็มีข้อจำกัด เช่น ให้เฝ้าได้คนเดียวซึ่งก็จะเหนื่อยหน่อยครับตอนกลางคืนต้องเฝ้าคนเดียวดูคนเดียว ถ้าเป็นพิเศษเดี่ยวก็จะอยู่เฝ้าด้วยกันได้ครับ ซึ่งถ้าต้อง admit และไม่มี Criteria ให้ต้องอยู่ห้องรวมผมก็อยากเลือกพิเศษเดี่ยวครับ ผมจึงเลือกทำประกันไว้ด้วยครับ(เผื่อกรณีจำเป็นห้องไม่ว่าง ก็ยังผ่อนหนักผ่อนเบากรณีต้องเข้าเอกชน) โดยทำความคุ้มครองแค่เพียงพอสำหรับโรงพยาบาลรัฐ(ซึ่งต้องยอมรับว่าเตียงหายากมาก และถ้าใกล้หายแล้วมีคนหนักกว่าคอยเตียง หมอจะขอให้ discharge เพื่อให้คนที่ป่วยหนักกว่าได้เตียงครับ)

    ความคิดเห็นจากคุณ smallkid กล่าวว่า
    เราก็มีสิทธิของราชการค่ะ แต่ก็ทำประกันสุขภาพให้ลูกเลือกที่พอจ่ายค่าห้องของโรงพยาบาลที่คาดว่าจะใช้ประจำ เรื่องค่ารักษา โรคที่เด็กๆเป็นกันบ่อยๆ ค่ารักษามักจะไม่สูงค่ะ ที่เน้นให้ดูค่าห้องเพราะปัจจุบันค่าห้องสูงกว่าที่คิดไว้ค่ะ โรงพยาบาลระดับกลางๆค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าพยาบาล คืนหนึ่งต้องมี 4,000 – 5,000 บาท ลูกเราค่ารักษา 40,000 ยังไม่เคยต้องจ่ายเพิ่มค่ะ จะป่วยบ่อยแค่ช่วง 1 – 2 ปีแรกที่เข้าเรียนอนุบาลค่ะ ตอนนี้ 5 ขวบ ไม่ต้องแอดมิทแล้ว ไม่แนะนำประกันพวกเหมาจ่ายค่ะเพราะถ้าเคลมเยอะๆปีต่อไปอาจถูกยกเลิกได้ง่ายๆค่ะ(เราเจอมาแล้ว)

    ความคิดเห็นจากคุณ Jarunya.b กล่าวว่า
    เราว่าควรทำค่ะ เราทำควบในยูนิตลิงต์ให้ลูกเหมือนกันค่ะ เอาแบบตัวท๊อปเลยกัดฟันทำคิดซะว่าเป็นทุนไว้ให้ลูก เพราะบางทีโรคที่ยาแพงๆโรงพยาบาลรัฐกว่าจะอนุมัติยาได้ก็หลายขั้นตอนนะคะ แล้วก็ไม่รู้ว่านโยบายแต่ละแห่งจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนอนาคตลูกจะอยู่ไหนก็ยังไม่รู้ค่ะ

    ความคิดเห็นจากคุณ นายแสงจันทร์ กล่าวว่า
    ถ้าบริหารการเงินได้ระดับหนึ่ง จะทำไว้ก็ไม่เสียหายครับ บางครั้งป่วยแล้วจะมาคิดหากรมธรรม์เพื่อครอบคลุมมันก็ยากนะครับ เพราะบางบริษัทฯอาจไม่คุ้มครองโรคที่เคยป่วยมาแล้วครับ

    ความคิดเห็นจากหมายเลข 4731469 กล่าวว่า
    ลูกผมก็ใช้สิทธิ 30 บาทนะ แต่ก็ทำประกันสุขภาพไว้ด้วยเพราะเด็กป่วยเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ป่วยแล้วไม่อยากให้แอทมิทโรงพยาบาลรัฐ มันจุกจิกไปหน่อยครับ

    ส่วนตัวแอดมิทคิดว่า การทำประกันสุขภาพเด็กเพิ่มนั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองหลายๆท่านเรื่องทำให้กับลูกน้อย เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงในเรื่องของลูกภาพให้กับลูกรัก แบ่งเบาเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพราะการเจ็บป่วยของลูกในแต่ละครั้งเราต่างต้องการให้ลูกได้รับการรักษาที่ดีที่สุดค่ะ

    ขอบคุณที่มา pantip.com

  • ประกันสุขภาพเด็กอาคเนย์ประกันชีวิต

    ประกันสุขภาพเด็กอาคเนย์ประกันชีวิต

    สวัสดีค่ะ
    บทความนี้เรานำข้อมูลเกี่ยวกับประกันสำหรับเด็กของบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต แผนประกันสุขภาพเด็กเพื่อลูกรักให้ได้รับความคุ้มครองที่ดีที่สุด สุดคุ้มที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลของลูกน้อย มาฝากคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังสนใจแผนประกันสุขภาพจากค่ายนี้ค่ะ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่พิจารณาเลือกตามความต้องการที่สุดค่ะ โดยแบ่งเป็น 4 แผนหลักๆ ดังนี้

    ประกันสุขภาพเด็ก แผนมาตรฐาน (มีเงินชดเชยรายวัน)

    • คุ้มครองสุขภาพเด็กตั้งแต่อายุ 1 เดือน ถึง 15 ปี
    • ค่าห้องสูงสุดจำนวน 3,700 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 90 วัน ต่อครั้งต่อโรค
    • เงินชดเชยกรณีนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,000 บาท/วัน
    • คุ้มครองผู้ป่วยนอกจากอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ขณะเป็นผู้ป่วยนอกเนื่องจากอุบัติเหตุและรักษาต่อเนื่อง
    • คุ้มครองค่าใช้จ่ายส่วนเกินให้อีก 90% ในความคุ้มครองอื่นๆ ยกเว้นค่าห้องค่าอาหาร จะรับผิดชอบให้ตามตารางผลประโยชน์
    • อัตราเบี้ยประกันเพิ่ม-ลดตามอายุของผู้เอาประกัน
    • เงื่อนไขไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องซื้อพ่วงพ่อแม่
    • ฯลฯ

    หมายเหตุ : ข้อยกเว้นเป็นไปตามเงื่อนไขของแผนประกันฯ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากตัวแทนประกันค่ะ

    ประกันสุขภาพเด็ก สะสมทรัพย์ (เงินคืนระหว่างปี, เงินชดเชยรายวัน)

    • คุ้มครองสุขภาพเด็กตั้งแต่อายุ 1 เดือน ถึง 15 ปี
    • ค่าห้องสูงสุดจำนวน 3,700 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 90 วัน ต่อครั้งต่อโรค
    • เงินชดเชยรายได้ จากการเข้าพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในวันละ 1,000 บาท
    • คุ้มครองผู้ป่วยนอกจากอุบัติเหตุค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน
    • คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากอุบัติผู้ป่วยนอกและต่อเนื่อง
    • รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินให้อีก 90% ของค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินในแต่ละผลประโยชน์ และไม่เกินยอดรวมผลประโยชน์สูงสุดต่อครั้ง
    • บเงินคืนต่อเนื่อง 10% ของทุนประกันทุก 3 ปี เริ่มตั้งแต่สิ้นปีที่ 3 จนถึงสิ้นปีที่ 18
    • รับเงินก้อนเป็นทุนการศึกษา สิ้นปีที่ 21 รับเงิน 40% ของทุนประกัน
    • จ่ายคืนทุกปีจนสิ้นสุดสัญญา รับเงินคืน 5% ของทุนประกันตั้งแต่สิ้นปีที่ 22 เป็นต้นไป
    • อัตราเบี้ยประกันเพิ่ม-ลดตามอายุของผู้เอาประกัน
    • เงื่อนไขไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องซื้อพ่วงพ่อแม่
    • ฯลฯ

    หมายเหตุ : ข้อยกเว้นเป็นไปตามเงื่อนไขของแผนประกันฯ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากตัวแทนประกันค่ะ

    ประกันสุขภาพเด็ก สไมล์คิดส์

    • คุ้มครองสุขภาพเด็กตั้งแต่อายุ 1 เดือน ถึง 15 ปี
    • ค่าห้องสูงสุดจำนวน 3,700 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 90 วัน ต่อครั้งต่อโรค
    • คุ้มครองผู้ป่วยนอกจากอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ขณะเป็นผู้ป่วยนอกเนื่องจากอุบัติเหตุ
    • รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินให้อีก 90% ของค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินในแต่ละผลประโยชน์ และไม่เกินยอดรวมผลประโยชน์สูงสุด
    • เบี้ยประกันเบาๆ อายุ 0-5 ปี ให้ความคุ้มครองสูงสุดในแผน 3 เบี้ยเพียง 13,3xx บาทเท่านั้น
    • อัตราเบี้ยประกันเพิ่ม-ลดตามอายุของผู้เอาประกัน
    • เงื่อนไขไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องซื้อพ่วงพ่อแม่
    • ฯลฯ

    หมายเหตุ : ข้อยกเว้นเป็นไปตามเงื่อนไขของแผนประกันฯ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากตัวแทนประกันค่ะ

    ประกันสุขภาพเด็ก แผนเพื่อลูกรัก

    • ค่าห้องสูงสุดจำนวน 7,400 บาทต่อวัน (สูงสุดไม่เกิน 90 วันต่อครั้งต่อโรค)
    • รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินให้อีก 90% ของค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินในแต่ละผลประโยชน์ และไม่เกินยอดรวมผลประโยชน์สูงสุด
    • คุ้มครองผู้ป่วยนอกจากอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ขณะเป็นผู้ป่วยนอกเนื่องจากอุบัติเหตุ
    • เงินชดเชยรายได้จากการเข้าพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในวันละ 1,000 บาท
    • อัตราเบี้ยประกันเพิ่ม-ลดตามอายุของผู้เอาประกัน
    • เงื่อนไขไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องซื้อพ่วงพ่อแม่
    • ฯลฯ

    หมายเหตุ : ข้อยกเว้นเป็นไปตามเงื่อนไขของแผนประกันฯ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากตัวแทนประกันค่ะ

    ขอบคุณข้อมูลจากบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิตค่ะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาประกันให้กับลูกรักนะคะ