Tag: สุขภาพเด็กและทารก

  • การดูแลเด็กแรกเกิด สำหรับพ่อแม่มือใหม่ : การพาลูกไปหาหมอและรับวัคซีน

    การดูแลเด็กแรกเกิด สำหรับพ่อแม่มือใหม่ : การพาลูกไปหาหมอและรับวัคซีน

    หลังจากคุณแม่คลอดแล้ว หมอเด็กจะนัดให้มาพบเมื่อลูกอายุ 1 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพ และดูความผิดปกติที่อาจแอบซ่อนอยู่ แต่ถ้าคุณแม่มีข้อสงสัยที่เป็นเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับลูก ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดก็พบกับแพทย์ได้ เพราะถ้ารอเนิ่นนานไปอาจเป็นอันตรายได้ คุณแม่มือใหม่ควรจดจำคำถามเตรียมไว้หมอจะตอบให้เข้าใจ

    สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวลูก

    หลังจากที่คลอดลูกแล้วทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลจะมอบสมุดประจำตัวเล่มเล็กๆ ไว้ให้สำหรับบันทึกสุขภาพ น้ำหนักแรกเกิดส่วนสูง และการได้รับวัคซีนป้องกันโรค รายงานเกี่ยวกับสุขภาพด้านต่างๆ จะจดบันทึกไว้ในสมุดเล่มเล็กนี้ ให้เก็บไว้อย่างดี อย่าทำหาย

    โดยปกติ หมอจะนัดให้รับวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และโปลิโอตามช่วงวัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ส่วนวัคซีนอื่นที่มีเพิ่มขึ้นมา ถ้าคุณแม่อยากจะฉีดให้ลูกก็ปรึกษากับแพทย์ได้  ส่วนใหญ่คุณแม่มักจะพาลูกไปรับวัคซีนตามโรงพยาบาลที่คลอด แต่ถ้าไม่สะดวกอาจนำลูกไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกที่สะดวก อย่าลืมพกสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวลูกไปด้วยทุกครั้ง

    ควรปรึกษาหมอเมื่อไร

    ที่โรงพยาบาลจะมีแผ่นพับแจกให้คุณมาเพื่อบอกอาการผิดปกติของลูกว่าควรพาลูกไปพบแพทย์ได้หรือยัง อาการที่ควรปรึกษาแพทย์ เช่นลูกดูซีดเซียว อ่อนเพลีย ซึมมาก ไม่สนใจอะไร หงุดหงิด ร้องโวยวาย กระสับกระส่าย

    เมื่อต้องพบผู้เชี่ยวชาญ

    ถ้าลูกป่วยไม่หายสักที คุณต้องการพบผู้เชี่ยวชาญโรคนั้นโดยเฉพาะให้บอกกับหมอประจำที่ดูแลอยู่ได้ ปัจจุบันการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากมีการรักษาที่ต้องแยกแยะละเอียดย่อยๆ เช่น ระบบลำไส้ ระบบประสาท หู คอ จมูก ตา ฯลฯ ถ้าลูกเป็นอยู่เรื่อยๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าจะเป็นโรคนั้น ก็ควร พบกับหมอที่ชำนาญโรคเฉพาะทาง

    เตรียมกระเป๋ายาให้ลูก

    เครื่องมือและยาสำหรับปฐมพยาบาลที่ควรมีติดบ้านสำหรับลูก คือ ปลาสเตอร์ปิดแผล สำลีสะอาด ผ้าพันแผล ยาเหลือง ยาแดง น้ำยาล้างแผล กรรไกรสนิม ปากคีบสำหรับดึกเสี้ยนเล็กๆ ที่อาจตำตามร่างกายของลูก ยาน้ำสำหรับลดไข้ ปรอทวัดไข้ ลูกยางดูดน้ำมูกเวลาเป็นหวัด และหากจำเป็นต้องเดินทางไกลหรือไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ควรจัดเตรียมยาสามัญประจำบ้านไปด้วย

    การให้วัคซีนในเด็ก

    มรดกสำคัญที่พ่อแม่จะมอบให้แก่ลูกได้คือ การมรสุขภาพดี ซึ่งเริ่มต้นจากการให้วัคซีนเพื่อคุ้มกันโรคติดเชื้อในเด็ก ปัจจุบันมีวิทยาการก้าวหน้าจนสามารถควบคุมป้องกันโรคร้ายที่ทำอันตรายเด็กถึงชีวิตหรือพิการได้ เช่น โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน หัดเยอรมัน คางทูม โปลิโอ ฯลฯ

    วัคซีนยุคใหม่สำหรับเด็ก

    วัคซีนจะมีผลกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรค ทำมาจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคชนิดนั้น โดยใช้ความร้อนหรือสารเคมีบางชนิดทำให้เชื้อโรคไม่แข็งแรงพอที่จะทำอันตรายแก่เราได้ เพียงแค่กระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น โดยค่อยๆ สะสมเพิ่มทีละน้อยจนป้องกันโรคได้

    ในประเทศไทย เด็กไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนบีซีจี เพื่อป้องกันวัณโรค โรคที่อันตรายที่กลับมาอีกครั้งพร้อมเอสด์ และอาจจะมีการดื้อยาในอนาคต วัคซีนหลักซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทางราชการมโนบายให้เด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองคือ ป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอชนิดกิน หัด หัดเยอรมัน คางทูม โรคตับอักเสบบี โรคสมองอักเสบเจอี

    วัคซีนพิเศษบางชนิด

    นอกจากนี้วัคซีนบางชนิดที่มีราคาแพงและทางราชการยังไม่ได้ให้บริการแต่ผู้ปกครองสามารถจัดหาให้แก่เด็กได้ด้วยการออกค่าใช้จ่ายเอง ได้แก่วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนฮิบ วัคซีนโปโลโอชนิดฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อมีชีวิต ฯลฯ เนื่องจากมีวัคซีนเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงมีความสามารถที่รวมวัคซีนหลายชนิดเพื่อฉีดในเข็มเดียวกัน เด็กจะได้ไม่ต้องเจ็บตัวหลายครั้ง วัคซีน ที่มีการนำมาผลิตรวมเข็ม ได้แก่ วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนฮิบ และวัคซีนตับอักเสบบี

    พ่อแม่มีส่วนช่วยในการพาลูกไปรับวัคซีนได้อย่างไร

    • ควรนำเด็กมารับวัคซีนในขณะที่แข็งแรงดี ถ้าเจ็บป่วยควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน
    • การรับวัคซีนสามารถเลื่อนกำหนดนัดหมายได้ 2-4 สัปดาห์โดยช่วงอายุและจำนวนครั้งที่ของการรับวัคซีนแต่ละครั้ง
    • ในกรณีถึงช่วงอายุที่ต้องรับวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่ได้พาเด็กไป ขอให้ไปรับทันทีทีทำได้ ไม่ว่าจะทิ้งช่วงไปนานเท่าไรก็ตาม
    • วัคซีนทุกชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ต่างกัน ส่วนใหญ่เด็กจะเป็นไข้เจ็บปวดเฉพาะที่ งอแง ไม่สบายตัว หากเด็กมีความผิดปกติใดที่คุณไม่มั่นใจ ควรนำมาพบแพทย์ทันที
    • หากมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบเย็น หากมีไข้ควรให้เด็กกินยาลดไข้แก้ปวดในขนาดที่เหมาะสม เด็กที่เป็นโรคชักจากไข้ควรให้กินยาลดไข้ทันทีหลังฉีดวัคซีน
    • ควรเฝ้าสังเกตอาการของเด็กในโรงพยาบาลหลังจากได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที จึงพาเด็กกลับบ้าน และควรสังเกตอาการต่อที่บ้านด้วย
    • ควรเก็บบันทึกการรับวัคซีนของเด็กไว้ตลอดไป เพื่อเป็นหลักฐานว่าเด็กได้สร้างภูมิคุ้มกันโรคไว้บ้างแล้ว
  • ความสำคัญของสุขอนามัยส่วนบุคคลสำหรับเด็ก

    ความสำคัญของสุขอนามัยส่วนบุคคลสำหรับเด็ก

    คุณทราบหรือไม่ว่าการสอนเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ลูกของคุณมีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะเด็กๆก่อนวัยเรียนที่ต้องระวังเป็นพิเศษค่ะ เนื่องจากเด็กๆในวันนี้มักตื่นเต้นที่จะได้สัมผัส ค้นพบและเรียนรู้สิ่งต่างๆของโลกใบนี้ และการสัมผัสสิ่งต่างๆที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆเจ็บป่วยนั่นเองค่ะ เพื่อเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับโลกภายนอก การสร้างนิสัยด้านสุขอนามัยที่ดีจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของลูกค่ะ

    5 นิสัยสุขอนามัยสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน

    • สุขอนามัยของมือ การล้างมือเป็นหนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุดของสุขอนามัยที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ การรับประทานอาหารและกิจกรรมต่างๆ การล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ดังนั้นควรสร้างนิสัยการล้างมือก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังห้องน้ำทุกครั้งด้วยน้ำสะอาดและสบู่อย่างน้อย 15 วินาที เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคค่ะ นอกจากนี้ยังรวมถึงเล็บมือควรตัดสั้นเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคค่ะ
    • สุขอนามัยในช่องปาก หนึ่งในนิสัยที่ดีที่ชัดเจนที่สุดคือสุขอนามัยในช่องปาก ซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของเด็กทุกคนอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันเป็นประจำจะช่วยป้องกันการติดเชื้อเหงือกที่เป็นอันตรายหรือฟันผุค่ะ ในการเริ่มต้นควรดูแลลูกเมื่อเขาจับแปรงสีฟัน หรือคุณพ่อคุณแม่สามารถแปรงฟันพร้อมกับลูกของคุณเพื่อให้พวกเขาเลียนแบบและเรียนรู้จากคุณ ซึ่งคุณสามารถเพิ่มไหมขัดฟันและน้ำยาล้างปากได้ แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กเท่านั้นค่ะ รวมถึงการสอนเรื่องของการรับประทานอาหารขนมที่ไม่มีรสหวานมากเกินไปค่ะ
    • สุขอนามัยของร่างกาย การอาบน้ำเป็นการรักษาความสะอาดของร่างกาย เพื่อขจัดสิ่งสกปรก ฝุ่น แบคทีเรียและเซลล์ที่ตายแล้ว ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น สอนในเรื่องของการทำความสะอาดส่วนต่างๆของร่างกายค่ะ
    • การดูแลเส้นผม การสร้างนิสัยการสระผมแปรงผมที่เหมาะสมกับลักษณะของเส้นผม เนื่องจากผมเป็นหนึ่งในแหล่งสะสมของเชื้อโรคคราบเหงื่อไคล และสิ่งสำคัญควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกของคุณ 
    • สุขอนามัยที่บ้าน นอกจากสุขอนามัยของร่างกายการดูแลรักษาความสะอาดบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะการเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ การเก็บและหมั่นทำความสะอาดของเล่น การทิ้งขยะให้เป็นที่ งานง่ายๆที่ลูกของคุณสามารถทำได้สร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกของคุณ

    เหล่านี้เป็นเพียงไม่กี่นิสัยที่สามารถนำไปสู่เด็กที่มีสุขภาพดีและมีความสุขได้ การสร้างกิจวัตรประจำวันของนิสัยสุขอนามัยที่ดีสามารถช่วยให้เด็กก่อนวัยเรียนเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น และนิสัยเหล่านี้จะคงอยู่เมื่อลูกของคุณเติบโตขึ้นค่ะ

  • มลพิษทางอากาศผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก

    มลพิษทางอากาศผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก

    ปัจจุบันระดับมลพิษทางอากาศส่งผลเสียต่อสุขภาพ คุณภาพอากาศแย่ลงสุขภาพของเราก็แย่ลงเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบร้ายแรง เนื่องจากปอดยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับภูมิคุ้มกันค่ะ ซึ่งในบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจว่ามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไรรวมถึงการดูแลลูกน้อยของคุณ

    เด็กเล็กๆมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากขึ้นเนื่องจากคุณภาพทางอากาศไม่ดี และนี่คือส่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบเพื่อสามารถดูแลปกป้องลูกของคุณค่ะ ซึ่งเหตุผลที่เด็กๆไวต่อผลกระทบของมลพิษทางอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ได้แก่

    • เด็กมักจะหายใจเร็วทำให้สามารถหายใจเอาสารมลพิษ ฝุ่นละอองทางอากาศในอัตราที่เร็วกว่าผู้ใหญ่
    • ปอดของเด็กเล็กอาจยังไม่พัฒนาเต็มที่จนกว่าเขาจะอายุครบ 6 ขวบ
    • เด็กมักใช้เวลาอยู่กลางแจ้ง วิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นและสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เด็กๆ มีความไวต่อปัญหาสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสในการสภาพมลพิษหรือฝุ่นละอองในอากาศมากนั่นเองค่ะ

    มลพิษทางอากาศที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกของคุณ ได้แก่

    • ไนโตรเจนออกไซด์ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดโดยทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคือง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน
    • คาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อสูดดมเข้าสู่กระแสเลือดและผสมกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆของร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย สมองขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ร่างกายขาดออกซีเจนเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้
    • อนุภาคในอากาศ ซึ่งประกอบด้วยซัลเฟต ละออง คาร์บอนและไนเตรต อนุภาคเหล่านี้อาจทำให้โรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด เป็นต้น 
    • สารเคมีขนาดเล็กในดีเซล มลพิษทางอากาศที่พบในชุมชนหรือในเมืองซึ่งนำไปสู่อาการอาการคลื่นไส้   เวียนหัว ระคายเคือง เป็นต้น
    • ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการถลุงแร่ที่มีกำมะถัน 
    • ตะกั่ว เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมันหรือของเสีย  เมื่อมันเข้าสู่ร่างกายมันอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะเกือบทั้งหมด อาจมีผลต่อระบบประสาทและไตของเด็กค่ะ

    มลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิดค่ะ หากลูกของคุณได้รับมลพิษทางอากาศอยู่ตลอดเวลาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้แก่ การรับมลพิษทางอากาศเป็นประจำมากเกินไปสามารถขัดขวางการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืดในเด็ก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจแล้วยังส่งผลต่อระบบประสาทอีกด้วยค่ะ

    การดูแลเด็กๆเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก

    • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานในแหล่งชุมชนโดยเฉพาะพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม จราจรหนาแน่น เป็นต้น  เวลาที่เหมาะสำหรับการเล่นกลางแจ้งหรือการเยี่ยมชมสวนคือตอนเช้าค่ะ
    • รับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพราะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสามารถทำให้สุขภาพดีและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ค่ะ
    • หากคุณรู้สึกว่าคุณภาพอากาศในบ้านของคุณไม่ดีให้ใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและองค์ประกอบที่เป็นพิษในอากาศ รวมถึงการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านค่ะ

    มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญซึ่งในปัจจุบันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อลดมลภาวะทางอากาศค่ะ

  • ภาวะขาดน้ำในเด็กเล็ก

    ภาวะขาดน้ำในเด็กเล็ก

    ภาวะขาดน้ำในเด็กเล็ก

    ภาวะขาดน้ำในเด็กอาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนหรือแม้กระทั่งในช่วงการติดเชื้อ การสูญเสียน้ำนั้นมีสาเหตุมากมายจากเหงื่อออกมากไปจนถึงท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ได้รับ สร้างความขาดแคลนน้ำสำหรับการทำงานของร่างกายที่จำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญ เด็กวัยหัดเดินเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำได้มากกว่าในช่วงวัยอื่นๆ และหากร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจทำให้กิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตตาะ

    สาเหตุภาวะขาดน้ำในเด็ก

    การสูญเสียน้ำในร่างกายสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุได้แก่

    • โรคท้องร่วง เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียน้ำในเด็ก เนื่องจากอุจจาระเหลวเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย หรือจากการแพ้อาหารทำให้เกิดการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว
    • อาเจียนอย่างรวดเร็วทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับอาการท้องร่วงค่ะ
    • อุณหภูมิร่างกายสูงในช่วงมีไข้ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อออกมากๆ
    • ความร้อนและความชื้นสูงนำไปสู่การมีเหงื่อออกมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่การคายน้ำและคลายความร้อนของร่างกาย เด็กที่เล่นกิจกรรมกลางแจ้งอาจเสี่ยงต่อการขาดน้ำได้
    • ภาวะเบาหวานที่ทำให้มีการปัสสาวะมากผิดปกติจากน้ำตาลในเลือดสูง

    อาการของการคายน้ำของร่างกาย

    อาการที่สามารถบ่งบอกของภาวะจาดน้ำของร่างกายได้แก่

    • อาการปากแห้ง เป็นสัญญาณแรกของการขาดน้ำในเด็ก คุณแม่สามารถสังเกตได้จากน้ำลายไหลที่น้อยลง และริมฝีปากแห้ง
    • ปัสสาวะน้อย โดยทั่วไปควรปัสสาวะอย่างน้อย1 ครั้งภายในชั่วโมง
    • น้ำตาน้อยลงกว่าปกติเมื่อลูกร้องไห้
    • ดวงตาของลูกดูเหมือนจมลง
    • ผิวที่แห้งแตกกว่าปกติ
    • เด็กจะไม่สนใจในกิจกรรมใดๆแลจะมีสมาธิน้อยลง

    การวินิจฉัยภาวะขาดน้ำในเด็ก

    การตรวจสอบว่าลูกของคุณมีภาวะขาดน้ำหรือไม่ โดยทั่วแพทย์จะทำการวินิจฉัยดังนี้

    • การตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบระดับโซเดียมและโพแทสเซียมในเลือด
    • การทดสอบปัสสาวะ จะตรวจสอบปัสสาวะที่มีความเข้มข้นซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการขาดน้ำ และตัวบ่งชี้ระดับของเหลวในร่างกายได้

    การรักษาภาวะขาดน้ำในเด็ก

    ภาวะขาดน้ำในเด็กเล็กควรพบแพทย์และควรได้รับการรักษาตามความเหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาภาวะขาดน้ำที่ดีที่สุดนั้น คือการเติมน้ำเข้าสู่ร่างกายด้วยการดื่มน้ำมากๆให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย  และควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้แก่เด็กที่มีอาการท้องร่วงอยู่ คุณแม่สามารถให้ผงน้ำตาลเกลือแร่ได้ด้วยการจิบเพียงเล็กน้อยแต่บ่อยครั้ง ในบางรายที่สูญเสียน้ำจากอาการเจ็บป่วย อาจต้องรักษาด้วยการให้น้ำเกลือผ่านเส้นเลือดค่ะ

    การป้องกันการขาดน้ำในเด็ก

    การป้องกันภาวะขาดน้ำเพื่อบรรเทาการสูญเสียน้ำของร่างกาย คุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้ดังนี้

    • การน้ำมาก โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนและการเล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง เนื่องจากการสูญเสียของเหลวจากเหงื่อออกจะสูงขึ้นในสภาวะที่มีความชื้นสูง ค่ะ
    • ป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากอาจทำให้ท้องเสียและอาเจียน สภาวะที่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ ดังนั้นควรสอนให้ลุกน้อยรักษาสุขอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ค่ะ เช่น การล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหาร เป็นต้น
    • การสวมใส่เสื้อผ้า ควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศค่ะ ในวันที่อากาศร้านควรสวมใส่เสื้อผ้าบางเบา ระบายอากาศได้ดีค่ะ

    การมีปริมาณน้ำเพียงพอเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการขาดน้ำในเด็กได้ดี ดังนั้นการหมั่นสังเกตและเฝ้าระวังลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของลูกน้อยค่ะ

  • สีอุจจาระ บ่งบอกสุขภาพลูกน้อย

    สีอุจจาระ บ่งบอกสุขภาพลูกน้อย

    สีอุจจาระ บ่งบอกสุขภาพลูกน้อย

    สีอุจจาระของทารกสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะในช่วงปีแรกของการเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่กังวลเกี่ยวกับการขับถ่ายของลูกน้อย เรามาดูกันค่ะว่าอุจจาระสีไหนปกติ หรือสีไหนควรพบแพทย์บ้างค่ะ

    สีอุจจาระของทารกบอกอะไรได้บ้าง

    • อุจาระสีดำ หรือขี้เทา (meconium) เป็นอุจจาระแรกของทารกแรกเกิด ประกอบไปด้วยเมือกน้ำคร่ำ เซลล์ผิวหนังและสิ่งอื่นๆที่ติดอยู่ในมดลูก เป็นเรื่องปกติแสดงถึงสัญญาณของลำไส้ที่กำลังทำงานอยู่และไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย เมื่อลูกอายุ 2 – 4 วันอุจจาระจะกลายเป็นสีอ่อน สีเหลืองสีเขียวหรือสีน้ำตาลและเหนียวน้อยลง
    • สีเหลืองมัสตาร์ด เป็นสีอุจจาระปกติในทารกที่กินนมแม่ มีลักษณะเหนียวนุ่มหรือเป็นครีมและอาจมีจุดเล็กๆคล้ายเมล็ด
    • อุจจาระสีน้ำตาลอ่อน  สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในทารกที่กินนมแม่และทารกที่ได้รับอาหารผสม มีกลิ่นเล็กน้อยแต่ไม่ค่อยแรงเท่าเมื่อลูกเริ่มกินของแข็ง
    • อุจจาระสีน้ำตาลเข้ม เมื่อลูกเริ่มกินอาหารแข็งได้แล้วสีของอึลูกอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอาหาร หากลูกยังคงขับถ่ายปกติและไม่มีอาการท้องผูกใดๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ
    • อุจจาระสีเขียว อุจจาระเป็นน้ำที่มีสีเขียวกว่าปกติและถ่ายหลายครั้งต่อวัน อาจบ่งบอกได้ว่าลูกน้อยกำลังท้องเสีย มักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอาหารหรือนมของลูกน้อย หรือบ่งบอกถึงอาการแพ้อาหารที่ทานเข้าไป และอาการท้องเสียอย่างรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรงได้ เช่น ไวรัสหรือการติดเชื้อ เป็นต้น
    • อุจจาระสีขาว อาจเป็นสัญญาณของปัญหาตับที่แฝงอยู่ น้ำดีไม่เพียงพอในตับเพื่อช่วยให้พวกเขาย่อยอาหารได้อย่างเหมาะสม ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาที่ถูกต้องต่อไป

    แม้ว่าสีสามารถบ่งบอกสุขภาของลูกน้อยได้ แต่สิ่งสำคัญคือการพิจารณาเนื้อผิว การผสมผสานสามารถบอกคุณได้มากมายเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อยที่สีไม่สามารถทำได้เพียงอย่างเดียว เช่น

    • อาการท้องร่วงในทารกประกอบด้วยอุจจาระที่หลวมและเป็นน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นได้มากกว่า 1 ครั้งต่อการกินอาหารทุกครั้ง  ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะระบุอาการท้องร่วงในเด็กเล็กได้ เนื่องจากการทานอาหารชนิดเหลว
    • เมือกหรืออุจจาระเป็นฟอง อุจจาระเนื้อบางลักษณะคล้ายเมือกหรือฟอง บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น การงอกของฟัน การกลืนน้ำลาย เป็นต้น รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ของทารก
    • เลือดปนในอุจจาระของทารก ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาท้องผูกและอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ

    ทารกอุจจารกบ่อยแค่ไหน

    หากลูกน้อยไม่อุจจาระทุกวันไม่ได้แปลว่ามีปัญหาค่ะ ทารกแรกเกิดในช่วงแรกสามารถมีการเคลื่อนไหวของลำไส้น้อยได้ แต่เมื่อลูกน้อยของคุณเริ่มทานอาหารเสริมอื่นๆ ควรมีการเคลื่อนไหวของลำไส้อย่างน้อยวันละครั้ง หากน้อยกว่านี้อาจบ่งบอกถึงอาการท้องผูกได้ค่ะ นอกจากนี้อาหารและอายุของลูกน้อยสามารถส่งผลกระทบต่อสีและลักษณะของอุจจาระของลูกน้อยได้ หากพบอาการอื่นๆหรือคุณแม่สงสัยควรปรึกษาแพทย์ค่ะ

    ดังนั้นการสังเกตหรือหมั่นตรวจสอบอุจจาระของทารก อาจเป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการระบุปัญหาสุขภาพที่ลูกน้อยของคุณไม่สามารถบอกคุณได้ค่ะ

  • 14 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไวรัส RSV

    14 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไวรัส RSV

    สวัสดีค่ะ บทความนี้รวบรวมคำถามที่น่าสนใจที่ที่มักถามกันบ่อยๆ เกี่ยวกับไวรัส RSV ที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆคนสงสัยมาฝากค่ะ แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักกับไวัสรัสชนิดนี้ในเบื้องต้นกันก่อนค่ะ ไวรัส RSV คือเขื้อไวรัสที่ก่อให้โรคในระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายในเด็กเล็กและสามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ ไม่มียารักษาและวัคซีนในการป้องกัน โดยอาการเบื้องต้นจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องสังเกตอาการลูกน้อย หากสงสัยควรพบแพทย์ทันทีค่ะ

    1. RSV คืออะไร
    RSV หรือ Respiratory syncytial virus เป็นเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบได้บ่อยและเจริญเติบโตได้ดีช่วงที่มีอากาศชื้น โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาวและมีอาการคล้ายกับไข้หวัดแต่มีความรุนแรงกว่ามากค่ะ

    2. ไวรัส rsv อันตรายไหม
    การติดเชื้อไวรัส rsv นั้น อันตรายถึงขึ้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากเชื้อไวรัสส่งผลต่อปอดและทางเดินหายใจค่ะ

    3. เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการอย่างไร
    ในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายได้เอง หลังจากมีการติดเชื้ออาร์เอสวีมักจะมีอาการ ดังนี้ มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียล ไอต่อเนื่องรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย แรงจนอกบุ๋ม มีเสียงหวีด มีเสมหะเหนียวข้น เด็กมีอาการซึม เป็นต้น ซึ่งควรรีบพบแพทย์ทันที

    4. ไวรัส RSV มีระยะฟักตัวกี่วัน
    ไวรัสอาร์เอสวีมีระยะฟักตัว 2-8 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส

    5. การตรวจหาเชื้อ RSV ทำได้อย่างไร
    การตรวจหาเชื้อ RSV ในเบื้องต้น โดยการป้ายสารคัดหลั่งน้ำมูกในจมูก เหมือนการตรวจไข้หวัดใหญ่ทั่วไป การใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อฟังเสียงการทำงานของปอด หรือเสียงที่ผิดปกติจากส่วนอื่นๆในร่างกาย การตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อตรวจหาไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เป็นต้น

    6. การรักษาผู้ป่วยทางเดินหายใจจากเชื้ออาร์เอสวีทำอย่างไร
    เนื่องจากไม่มียาสำหรับการรักษาเชื้อไวรัสนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยากลดไข้ ยาสำหรับขยายหลอดลมเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น เป็นต้น

    7. การติดต่อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างไร
    โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้นาน 3-8 วัน จากการไอหรือจาม และจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ฯลฯ โดยไวัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก

    8. ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV มีอะไรบ้าง
    การติดเชื้อไวรัส RSV อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ เช่น โรคปวดบวมหรือภาวะปอดอักเสบซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะติดเชื้อในหูส่วนกลางซึ่งเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในทารกและเด็กเล็ก โรคหอบหืด การติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรงในเด็กอาจทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดได้ในเวลาต่อมา

    9. RSV สามารถเป็นซ้ำได้หรือไม่
    ไวรัส RSV สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ค่ะ หากร่างกายอ่อนแอโดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส

    10. หากติดเชื้อ RSV จะป่วยนานแค่ไหน
    ระยะเวลานั้นขึ้นกับว่าความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยทั่วไปหากป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดามักหายได้เองภายใน 4 – 7 วัน แต่ถ้าหากติดเชื้อถึงทางเดินหายในส่วนล่าง ซึ่งมักส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอ มีเสมหะ เป็นต้น ซึ่งต้องรับการรักษาดูแลที่โรงพยาบาลในบางรายจำเป็นต้องได้รับการเคาะปอด ดูดเสมหะ เป็นระยะเวลานานถึง 2-3 สัปดาห์ค่ะ

    11. ใครสามารถป่วยจากการติดเชื้อไวรัส RSV บ้าง
    โรคทางเดินหายใจจากการติดเชื้ออาร์เอสวีนี้ สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่พบบ่อยและอาการมักรุนแรงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    12. ไวรัส RSV ส่งผลเสียอย่างไร
    RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ อาจส่งผลเสียได้คือ อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบจากการติเชื้อ ซึ่งต้องรักษาในห้องไอซียูและในบางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลวได้ค่ะ

    13. วิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัสทำอย่างไร
    เนื่องจากไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ควรป้องกันการแพร่กระจายและลดปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อได้ดังนี้

      • ทุกคนในบ้านควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ เพราะการล้างมื้อช่วยลดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียต่างๆที่ติดมากับมือ
      • หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีแพร่ระบาดของเชื้อต่างๆ
      • หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดหรือปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก
      • ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นลูกเป็นประจำ
      • รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำสะอาดมากๆและพักผ่อนให้เพียงพอ

    14. วิธีการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสทำอย่างไร
    เนื่องจากไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอาร์และยาสำหรับรักษาโดยเฉพาะ ดังนั้นควรลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังนี้

      • ควรปิดจมูกและปากเมื่อไอหรือจามทุกครั้ง
      • หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้ออื่นๆเข้าสู่ร่างกาย
      • หากลูกป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดีค่ะ
      • หากพบว่าลูกป่วยควรแยกออกจากเด็กคนอื่น รวมถึงแยกสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  • ไวรัส RSV ระบาดหนักหน้าฝน เด็กเล็กต้องระวัง

    ไวรัส RSV ระบาดหนักหน้าฝน เด็กเล็กต้องระวัง

    ช่วงนี้ฝนตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เด็กๆเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งมีระบบภูมิต้านทานโรคยังไม่แข็งแรง และมีการระบาดหนักของเชื้อไวรัสอาร์เอสวี(RSV) หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเด็กเล็กต้องระวังค่ะ

    ไวรัส RSV คืออะไร

    RSV หรือ Respiratory syncytial virus เป็นไวรัสที่พบบ่อย เจริญเติบโตได้ดีช่วงที่มีอากาศชื้นและแพร่กระจายได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาการคล้ายกับไข้หวัดแต่มีความรุนแรงกว่า ในเด็กเล็กมักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย อันตรายต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ

    สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV

    การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆจากการใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วย เช่น การไอ จาม เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสอาร์เอสวีเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูกและปาก เชื้อไวรัสพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอ หรือการจาม และจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง

    อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV

    การติดเชื้อไวรัส RSV ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคหวัด ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ไอแห้ง เจ็บคอ ฯลฯ โดยเชื้อไวรัสนี้มีระยะการฟักตัว 4 – 6 วันหลังจากได้รับเชื้อ และสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมฝอยอักเสบ เป็นต้น ซึ่งมักแสดงอาการดังนี้

    • ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เซื่องซึม เบื่ออาหาร
    • หายใจเร็ว หรือหอบเหนื่อยและหายใจลำบาก 
    • ไออย่างรุนแรง มีเสมหะข้นเหนียวมาก 
    • มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
    • ปากหรือเล็บมีสีเขียวคล้ำจากการขาดออกซิเจน

    หากลูกมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการแทรกซ้อนและทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หยุดหายใจเป็นช่วงๆหรือหายใจล้มเหลวได้ค่ะ

    การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV

    การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV เป็นการรักษาตามอาการหรือการประคับประคอง เพื่อให้ระบบทางเดินหายใจดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่พบอาการรุนแรงหรือในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น การรับประทานยาลดไข้ ยาลดเสมหะหรือดูดเสมหะออก ลดอาการบวมของทางเดินหายใจ ในบางรายอาจต้องทำการพ่นยาเพื่อขยายหลอดลม อาจต้องและใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจหากพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น 

    ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ RSV

    การติดเชื้อ RSV ในเด็กเล็ก อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและผลกระทบระยะยาวได้ เช่น โรคปอดบวมหรือหลอดลมฝอยอักเสบ ทำให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อในหูชั้นกลาง โรคหอบหืด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ RSV รุนแรงมีความเสี่ยงระยะยาวในการพัฒนาเป็นโรคหอบหืดได้ ในบางรายอาจทำให้หัวใจลมเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ค่ะ

    การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

    เนื่องจาก RSV สามารถแพร่กระจายได้ง่ายโดยการสัมผัส และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสได้ดังนี้

    • คุณพ่อคุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสทารก
    • การสอนให้ลูกล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
    • รักษาความสะอาดที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้และของเล่นให้สะอาด 
    • หลีกเลี่ยงการการพาลูกน้อยไปยังที่แออัดในช่วงที่มีระบาดของเชื้อไวรัส
    • หากมีความจำเป็นต้องพาลูกไปสถานที่ชุมชน เช่น โรงพยาบาล ควรสวนใส่หน้ากากอนามัย
    • หากลูกป่วยเป็นหวัด ควรพักรักษาตัวให้หายก่อนไปโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น
    • หากผู้ปกครองเป็นหวัดควรหลีกเลี่ยงการกอดและจูบลูกจนกว่าจะหายดี
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และการพักผ่อนให้เพียงพอ

    บทความที่เกี่ยวข้อง

  • อาการผมร่วงในเด็กทารก

    อาการผมร่วงในเด็กทารก

    อาการผมร่วงในเด็กทารก

    (more…)

  • ทารกก็เป็น “ฝี” ได้ – สาเหตุและการรักษา

    ทารกก็เป็น “ฝี” ได้ – สาเหตุและการรักษา

    ทารกก็เป็น “ฝี” ได้ – สาเหตุและการรักษา

    เนื่องจากทารกมีผิวที่บอบบางและระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขายังอยู่ในช่วงการพัฒนา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงฝีที่อาจเกิดขึ้นกับทารกได้เช่นกันค่ะ ซึ่งในบางครั้งอาจมองเหมือนเป็นตุ่มยุงกัดธรรมดา ดังนั้นคุณแม่ควรสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย และในบทความนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับฝีที่เกิดขึ้นกับทารก รวมถึงอาการและวิธีการดูแลรักษาอย่างไร

    ฝีคืออะไร

    ฝีเป็นก้อนเนื้อนุ่มที่ปรากฏบนผิวหนังเนื่องจากการติดเชื้อในต่อมหรือรูขุมขนชั้นใต้ผิวหนัง การติดเชื้อมักเกิดขึ้นเนื่องจากแบคทีเรียในกลุ่ม staphylococcus aureus แบคทีเรียนี้อาศัยอยู่บนผิวหนัง จมูกและปาก โดยปกติผิวหนังมักทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันแบคทีเรียเหล่านี้ป้องกันไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อมีการขูดหรือกัดเป็นแผลเชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแตกบนผิวหนังและพัฒนาเป็นฝีได้ ในช่วงแรกผิวหนังที่ได้รับผลกระทบจะกลายเป็นสีแดงและมีก้อนเนื้อปรากฏขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปก้อนเนื้ออาจเปลี่ยนเป็นสีขาวและมีการสะสมของหนองค่ะ ฝีที่เกิดขึ้นสามารถติดต่อไปยังบุคคลที่สัมผัส การใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน ฯลฯ ได้อีกด้วย

    สาเหตุของการฝีในทารก

    ฝีเป็นกลไกการต้านเชื้อโรคของร่างกายเกิดขึ้นชั้นใต้ผิวหนัง โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดฝีในทารกได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ขาดสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย การสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น การใช้สบู่หรือครีม ผงซักฟอกรุนแรง ทำให้ผิวหนังระคายเคือง รวมสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายค่ะ และโดยทั่วไปแล้วฝีในทารกจะไม่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนใดๆ แต่หากการตุ่มนั้นถูกบีบหรือถูกแทงเปิดอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้

    สัญญาณและอาการของฝีในทารก 

    โรคฝีในทารกมักจะแสดงสัญญาณและอาการดังนี้ ผิวหนังที่ได้รับผลกระทบจะมีอาการบวมและแดง ในบางครั้งเด็กอาจมีไข้ร่วมด้วย หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายจุด และต่อมน้ำเหลืองรอบๆแผลอาจบวมขึ้นค่ะ

    การรักษาฝีในทารก 

    สิ่งสำคัญในการรักษาฝีคือ การรักษาความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมและปิดด้วยผ้ากอซ เพื่อป้องกันการสัมผัสการเสียดสีกับสิ่งอื่น รวมถึงการป้องกันการแพร่กระจายของการติดเชื้อ หากดูเหมือนว่าแผลจะโตขึ้นหรือขยายใหญ่ขึ้นแพทย์อาจสั่งให้ยาปฏิชีวนะ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัดมิฉะนั้นจะมีการกำเริบของโรคค่ะ และในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเปิดแผลและล้างหนองออกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด

    การป้องกันการเกิดฝีในทารก

    การป้องกันนั้นสามารถทำได้เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝี ได้แก่ 

    – รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลที่เหมาะสมในลูกน้อยของคุณ

    – ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งในขณะที่จับทารก

    – เปลี่ยนผ้าเช็ดตัวและผ้าปูที่นอนของทารกอย่างสม่ำเสมอ

    – ในกรณีที่เกิดฝีแล้วควรรักษาความสะอาด เพื่อป้องกันการติเชื้อในส่วนอื่นๆของร่างกาย

    – รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต่อร่างกาย

    การปรากฏตัวของฝีบนผิวหนังของเด็กทารกมักไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะระบบการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกายมักจะดูแลมันเอง แต่ในกรณีที่คุณรู้สึกว่าฝีที่เกิดขึ้นขยายใหญ่ขึ้นไม่ยุบตัวลง และแพร่กระจายไปส่วนอื่นๆของร่างกาย ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

  • การติดเชื้อทรวงอกในเด็ก

    การติดเชื้อทรวงอกในเด็ก

    การติดเชื้อทรวงอกในเด็ก

    การติดเชื้อที่หน้าอกเป็นเรื่องธรรมดาในเด็กและสามารถสังเกตได้ง่าย ซึ่งมักจะพัฒนาจากไข้หวัดและสามารถพัฒนาเป็นโรคที่คุกคามชีวิตได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับการรักษา ดังนั้นในบทความนี้เรามาทำความเข้าใจกันว่า การติดเชื้อทรวงอกคืออะไร และมีวิธีการดูแลรักษาได้อย่างไร

    การติดเชื้อที่ทรวงอกคืออะไร

    การติดเชื้อที่หน้าอกสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โรคหลอดลมอักเสบและโรคปอดบวม เด็กเล็กมีโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อมากว่าช่วงวัยอื่น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังคงพัฒนาได้ไม้เต็มที่เท่าช่วงวัยอื่นค่ะ การติดเชื้อที่หน้าอกมักจะเริ่มเป็นไข้หรือเป็นหวัดและจะพัฒนาอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการรักษา และความแตกต่างระหว่างสองประเภทคือ โรคปอดบวมมีผลกระทบต่อถุงลมในปอด ในขณะที่โรคหลอดลมอักเสบส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อเมือกที่มีอยู่ในร่างกาย

    สาเหตุของการติดเชื้อทรวงอกในเด็ก

    การติดเชื้อทรวงอกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยซึ่งอาจทำงานควบคู่กันในบางกรณี ดังนี้

    • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
    • ความแข็งแรงของภูมิคุ้มกัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังคงเจริญเติบโตไม่เต็นที่ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับแบคทีเรียและไวรัสที่จะติดเชื้อในเด็กและทำให้เกิดการติดเชื้อที่หน้าอกได้
    • โรคภูมิแพ้ ในบางกรณีคุณอาจสังเกตเห็นว่าลูกของคุณติดเชื้อในเวลาเดียวกันทุกปี ซึ่งมักจะหมายความว่าเขาแพ้สิ่งที่เป็นไปตามฤดูกาล เช่น ละอองเกสรดอกไม้ตามฤดูกาล เป็นต้น
    • โรคไข้หวัด สิ่งนี้เกิดขึ้นในเด็กส่วนใหญ่โรคหวัดมักเกิดจากการติดเชื้อทรวงอกหลังจากนั้นไม่นาน เกิดขึ้นเพราะความเย็นทำให้ร่างกายอ่อนแอต่อการถูกโจมตี เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
    • ระดับมลพิษทางอากาศรอบตัว เช่น ควันบุหรี่ ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของลูกคุณและอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อทรวงอกได้เช่นกันค่ะ

    อาการของการติดเชื้อทรวงอกในเด็ก

    อาการของโรคติดเชื้อทรวงอกในเด็กและเห็นได้ชัดว่าลูกของคุณได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ ได้แก่

    • มีไข้สูง
    • ไอและมีเสมหะสีเหลืองหรือสีเขียว
    • หายใจลำบากพร้อมกับหายใจดังเสียงวี๊ด
    • อัตราการเต้นของหัวใจเร็ว
    • อาการปวดหรือแน่นเจ็บหน้าอก
    • บางรายอาจมาพร้อมกับคลื่นไส้และอาเจียน

    การรักษาการติดเชื้อทรวงอกในเด็ก

    การรักษาโรคติดเชื้อทรวงอกในเด็กนั้นค่อนข้างง่ายไม่ร้ายแรงและจะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งลูกของคุณจะต้องได้รับการดูแลในระยะแรกของการเจ็บป่วยเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น และสามารถดูแลรักษาได้เองที่บ้านโดยมีวิธีการรักษามีดังนี้

    • ยาพาราเซตามอล สามารถช่วยลดไข้และลดความแออัดในหน้าอกได้ค่ะ
    • การใช้น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและบรรเทาเสมหะได้ดี
    • การสูดดมไอน้ำเป็นอีกวิธีที่ยอดเยี่ยมในการลดอาการคัดจมูกค่ะ
    • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด และการพักผ่อนที่เพียงพอเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันค่ะ

    การติดเชื้อทรวงอกนั้นโดยปกติอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากการได้รับการรักษาจากที่บ้าน หากอาการของอาการไม่ดีขึ้นหรือพบว่าลูกของคุณหายใจลำบากรู้สึกไม่สบายหรือไอมีเสมหะปนคราบเลือดควรรีบพบแพทย์ทันที