Tag: การป้องกัน

  • โรคไข้ละอองฟาง

    โรคไข้ละอองฟาง

    สวัสดีค่ะ บทความนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับไข้ละอองฟาง สาเหตุและการดูแลรักษาอย่างไร

    ไข้ละอองฟาง(Hay fever) หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือที่เรียกกับว่า โรคแพ้อากาศ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภูมิแพ้เยื่อบุภายในโพรงจมูก เป็นการอักเสบของเยื่อบุจมูกชนิดไม่มีการติดเชื้อ โดยการหายใจรับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ทำไมถึงเรียกว่า “ไข้ละอองฟาง” เนื่องจากสารที่ก่อภูมิแพ้ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากละอองฟาง ละอองดอกหญ้า ละอองหญ้าแห้ง ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น เป็นต้น และปัจจัยอื่นๆที่เสี่ยงให้เกิดโรคไข้ละอองฟอง ได้แก่

    • กรรมพันธ์ โดยมักพบประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดนั้น
    • ผู้ป่วยโรคหืด หรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
    • ความผิดปกติของโพรงจมูกที่ส่งผลต่อการหายใจของผู้ป่วย
    • สภาวะแวดล้อมที่มีสารก่อโรคภูมิแพ้
    • อุณหภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลต่อโพรงจมูกการหายใจ

    นอกจากนี้โรคไข้ละอองฟอง ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ภาวะอุดกลั้นทางเดินหายใจ เป็นต้น

    อาการโรคไข้ละอองฟาง อาจมีอาการต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ได้แก่

    • อาการทั่วไป เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นต้น
    • อาการส่งผลกระทบทางจมูก เช่น คันจมูก การจามบ่อยครั้ง คัดจมูก น้ำมูกไหลปิดกั้นจมูก (จมูกหนึ่งหรือทั้งสองข้าง) เป็นต้น
    • อาการส่งผลกระทบทางตา เช่น อาการคัน ตาสีแดง บวมแดง น้ำตาไหล ฯลฯ
    • อาการส่งผลกระทบทางคอและหู เช่น คันคอที่เกิดจากน้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ ปวดหู ซึ่งมักเกิดจากคอบวมทำให้ส่งผลกระทบต่อหูได้

    การรักษาและการป้องกันการเกิดโรคไข้ละอองฟาง
    โรคไข้ละอองฟางไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันและบรรเทาอาการของได้เมื่อเด็กๆมีอาการแพ้ โดยจากวินิจฉัยโรคจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้นั้นๆ เช่น การแพ้ไรฝุ่น ควรหมั่นทำความสะอาดบ้าน เปลี่ยนปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ ในเด็กบางรายที่มีอาการแพ้แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการคันจมูก คัดแน่จมูก หรือลดการจามลง ในเด็กโตอาจใช้สเตียรอยด์ชนิดที่ใช้กับจมูก เพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันการอักเสบของโพรงจมูก เป็นต้น ในกรณีที่มีการแพ้อย่างรุนแรงหรือมีอาการดื้อยาจะใช้วิธีการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้(สารที่ผู้ป่วยแพ้) หากเกิดจากความผิดปกติของโพรงจมูก ผนังกั้นจมูกคด จะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการใช้เลเซอร์เพื่อลดการบวมหนาของเยื่อเมือกในโพรงจมูกค่ะ ในส่วนของการป้องกันการเกิดโรคไข้ละอองฟางนั้น สามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ค่ะ

    สุขภาพของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเจ็บป่วยมักส่งผลต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาการของเด็กๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

  • โรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก

    โรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก

    โรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก
    เยื่อบุตาอักเสบ(Conjunctivitis) หรือโรคตาแดง เกิดจากการติดเชื้อที่ส่งผลกระทบต่อเยื่อใสที่ครอบคลุมตาขาวและด้านในของเปลือกตา ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเกิดจากสารที่ก่อภูมิแพ้ ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ บวมแดง ระคายเคือง โรคตาแดงเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการสัมผัส สิ่งของปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก หรือสัมผัสใบหน้า หรือจากการขยี้ตา เป็นต้น

    สาเหตุของโรคเยื่อยุตาอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น

    • เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่าย เช่น การสัมผัส การหยิบจับสิ่งของที่มีการปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก หรือการสัมผัสใบหน้า การขยี้ดวงตา การใกล้ชิดกับผู้ป่วย สัมผัสสารคัดหลั่งการไอหรือจาม รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เป็นต้น
    • เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เกิดจากปฏิกิริยาการแพ้ การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น พชบางชนิด ฯลฯ และมักพบในเด็กที่มีประวัติของการแพ้ เช่น ไข้ละอองฟาง โรคหืด ฯลฯ โรคเยื่อบุตาอักเสบชนิดนี้ไม่ทำให้ติดต่อกันหรือแพร่จากคนสู่คนได้

    อาการโรคเยื่อบุตาอักเสบ อาจมีความแตกต่างกันตามสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นภายใน 24 – 72 ชั่วโมงหลังจากติดเชื้อ และสามารถหายเองได้ใน 1-3 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีอาการ ดังนี้

    • ระคายเคืองดวงตา คันตา ตาไวต่อแสง
    • รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายเล็กๆที่เปลือกตา
    • ตาแฉะ มีน้ำตาไหล
    • ตาขาวมีสีชมพูหรือสีแดง
    • เปลือกตาอาจบวมเล็กน้อย
    • มีขี้ตาสีเหลืองไหลออกจากดวงตา ทำให้เปลือกตาเหนียวลืมตาได้ยากในเวลาตื่นนอน
    • เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ อาการหวัด ขี้ตามีสีเหลืองหรือเขียว ในบางรายอาจเกิดการติดเชื้อในหู เป็นต้น
    • เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้มักมีอาการ เช่น คันตา น้ำตาไหล หรือตาบวม

    การรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบ
    เยื่อบุตาอักเสบ สามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษาใน 1-3 สัปดาห์ หรือทำการรักษาโดยการใช้ยาหยอดตายาปฏิชีวนะหรือครีม ตามคำแนะนำของแพทย์ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของตาแดง และผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดตามกำหนดการรักษา เพื่อป้องกันการกลับมาติเชื้อซ้ำได้
    การทำความสะอาดดวงตาด้วยสำลีที่แช่ในน้ำอุ่น โดยการเช็ดไปในทิศทางเดียวเท่านั้นด้านหัวตาออกมาทางหางตา วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ดวงตาข้างอื่นติดเชื้อหากดวงตาข้างใดข้างหนึ่งได้รับผลกระทบ และทิ้งสำลีในถังขยะและไม่นำกลับมาใช้ซ้ำค่ะ

    การป้องกันโรคเยื่อบุตาอักเสบ
    เนื่องจากโรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียนั้น สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการสัมผัส ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย การใช้ส่งของร่วมกัน การล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากมีการสัมผัสสิ่งต่างๆ ไม่ควรขยี้ตาแรงๆ การเช็ดน้ำตาควรใช้ทิชชู่หรือผ้าสะอาด และในกรณีที่ลูกของคุณเป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบ ควรให้หยุดเรียนหรือหลีกเลี่ยงการไปในที่สาธารณะจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นค่ะ

  • โรคโปลิโอ(Poliomyelitis)

    โรคโปลิโอ(Poliomyelitis)

    โรคโปลิโอ(Poliomyelitis)

    โรคโปลิโอ(Poliomyelitis) หรือ ไข้ไขสันหลังอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่ก่อให้เกิดความพิการแขนขาลีบ ในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ โรคนี้มักพบในเด็กซึ่งเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน และมีการติดเชื้อเฉพาะในคนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อยค่ะ เนื่องจากโรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนค่ะ

    โรคโปลิโอ เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ(Polio virus) เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่ม Entero virus ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดย่อย ซึ่งเชื้อไวรัสนี้อาจไปทำลายระบบประสาทและอาจส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อมีภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ เชื้อโปลิโอจะอาศัยอยู่ในลำไส้และเจริญเติบโตในลำไส้ และเชื้อไวรัสจะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระของผู้ป่วย การติดเชื้อโปลิโอในเฉพาะคนเท่านั้น โดยรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือติดมือผ่านคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง และเข้าสู่ร่างกายเมื่อนำเข้าปาก เชื้อโปลิโอมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน แต่อาจนานถึง 35 วัน โรคโปลิโอมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ค่ะ

    ลักษณะอาการของโรคโปลิโอ สามารถแบ่งออกตามกลุ่มอาการได้น 4 กลุ่ม ได้แก่

    1. กลุ่มที่ไม่ปรากฎอาการใดๆ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการใดๆของผู้ติดเชื้อ
    2. กลุ่มที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการคล้ายกับโรคหวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดท้อง เป็นต้น ซึ่งอาการกล่าวนี้มักจะหายเป็นปกติใน 3-5 วัน
    3. กลุ่มอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักมีอาการคล้ายโรคหวัดร่วมกับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดบริเวณต้นคอ หลัง คอแข็ง อ่อนเพลีย สับสน มึนงง เป็นต้น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้สามารถหายเป็นปกติได้ค่ะ
    4. กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยแต่มีความรุนแรงที่สุด การติดเขื้อไวรัสโปลิโอสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถทำลายเซลล์ประสาทที่มีหน้าควบคุมกล้ามเนื้อของร่างกาย ลักษณะของอาการที่พบมักคล้ายกับผู้ป่วยกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หลังจากนี้ประมาณ 1 สัปดาห์จะแสดงอาการอื่นๆตามมา ได้แก่ กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ภาวะอัมพาตเฉียบพลันซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียวชั่วคราวหรือถาวรได้ค่ะ

    นอกจากนี้ยังพบกลุ่มอาการหลังเกิดโปลิโอ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสโรคโปลิโอประมาณ 15 – 40 ปี ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่างๆเสื่อมบิดผิดรูป ข้อสะโพกพิการผิดรูป ขาลีบ ในบางรายอาจกลืนลำบากหรือพูดลำบากร่วมด้วย อ่อนเพลีย เป็นต้น

    ภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรงของโรคโปลิโอ มักพบในผู้ป่วยกลุ่มกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งมีโอกาศเสียชีวิตได้เนื่องจากเซลล์ในก้านสมองถูกทำลาย ทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ระบบไหลเวียดเลือดล้มเหลว นอกจากนี้ อาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคปอดบวม และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

    การรักษาโรคโปลิโอ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะต่อเชื้อไวรัสโปลิโอ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เพื่อลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ ฯลฯ เร่งฟื้นฟูร่างกาย การกายภาพบำบัด ในบางรายอาจต้องใส่อุปกรณ์ช่วยยึดลำตัว อุปกรณ์ช่วยในการเดิน อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันข้อบิดผิดรูป ฯลฯ รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

    โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ใช้มี 2 ชนิด คือ

    วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด
         วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด (OPV : Oral poliovirus vaccine)
    • วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด หรือชนิดรับประทาน (OPV : Oral poliovirus vaccine) เป็นวัคซีนที่ทำให้เชื่อไวรัสโปลิโออ่อนฤทธิ์ลง กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้เชื้อเจริญเติบโตในลำไส้ และป้องกันการแพร่กระจายของโรคโปลิโอ โดยเด็กจะได้รับวัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 12-18 เดือน และเมื่ออายุ 4 ปี
    วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด
           วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด(IPV : Inactivated Poliomyelitis Vaccine)
    • วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด(IPV : Inactivated Poliomyelitis Vaccine) เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว การฉีดวัคซีนชนิดนี้เพื่อป้องกันในกรณีในอนาคตเกิดการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ จะไม่สามารถลุกลามจากลำไส้สู่งร่างกายได้ จึงทำให้ไม่เกิดอาการต่างๆของโรคโปลิโอ แต่เชื้อจะยังอยู่ที่ลำไส้และสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ค่ะ การรับวัคซีนชนิดนี้ในเด็กจะได้รับจำนวน 1 ครั้งเมื่ออายุ 4 เดือน

    นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่คสรพาเด็กเข้ารับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค หรือกรณีที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือรับครั้งสุดท้ายนานกว่า  10 ปีแล้ว รวมถึงควรปลูกฝังให้เด็กๆรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และเลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ เป็นต้น เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่เชื้อค่ะ

  • ฮิคิโคโมริ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

    ฮิคิโคโมริ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

    ฮิคิโคโมริ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

    ฮิคิโคโมริ ซินโดรม (Hikikomori Syndrome) คือเด็กที่มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม ปิดกั้นตัวเองไม่ชอบพบปะผู้คน เก็บตัวอยู่แต่ในห้องหรือบ้านโดยไม่ติดต่อกับสังคมภายนอก หรืออาจเรียกได้ว่าพยายามทำตัวให้หายไปจากโลกความจริง และหลายๆคนอาจมองว่าเป็นคนชอบเก็บตัว ซึ่งไม่ใช่กับเด็กวัยเรียนรู้ วัยที่กำลังพัฒนาในด้านต่างๆ ฮิคิโคโมริ ซินโดรม ไม่ใช่โรคเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย แต่หากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้า และนำไปสู่ภาวะของการเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งได้ค่ะ

    สาเหตุของการเกิด ฮิคิโคโมริ ซินโดรม ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดของอาการหรือพฤติกรรมดังกล่าวค่ะ แต่จิตแพทย์และนักจิตวิทยาหลายคนที่เคยให้การรักษาหรือให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ได้บอกถึงสาเหตุที่น่าจะทำให้เกิดอาการของฮิคิโคโมริ ได้ดังนี้

    • ความผิดหวังจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรุนแรงและโทษตัวเอง
    • แรงกดดันจากคนรอบข้าง ทำให้เกิดความเครียดสะสม เช่น เรื่องการเรียนที่ถูกคาดหวังจากครอบครัวมากเกินไป
    • ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนหรือคนรอบข้างบ่อยครั้ง ทำให้รู้สึกแย่และสูญเสียความมั่นใจ
    • กลัวการเข้าสังคม อารมณ์อ่อนไหวกับคำแนะนำหรือคำวิจารณ์ เมื่อเจ็บปวดก็มักจะยอมรับไม่ได้
    • หนีปัญหา และค่อยๆ ทำตัวให้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

    อาการของ ฮิคิโคโมริ ซินโดรม ซึ่งจะไม่แสดงออกให้เห็นถึงความผิดปกติใดๆ กับทางร่างกาย เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตใจ โดยจะแสดงพฤติกรรมที่ชอบเก็บตัวอยู่แต่ในห้องคนเดียว ไม่ออกไปพบปะผู้คน มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นเกมส์ ดูหนัง หรือการนั่งเฉยๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าตนเองถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่ต้องทนรับแรงกดดัน ปัญหา หรือความเครียดใดๆทั้งสิ้น ฮิคิโคโมริ ซินโดรม ภัยเงียบที่คุณพ่อคุณแม่มองข้าม เพราะอาจจะมองว่าลูกเป็นเด็กเก็บตัว และคงไม่ส่งผลเสียอะไรกับตัวลูกค่ะ แต่อันที่จริงหากปล่อยให้เกิดภาวะเช่นนี้ ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า และนำไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวชค่ะ

    การรักษาฮิคิโคโมริ ซินโดรม เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดจากการได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ดังนั้น การรักษาจึงควรเป็นการรักษาทางด้านสภาพจิตใจ คุณพ่อคุณแม่รวมถึงคนรอบข้างควรให้กำลังใจ และหลีกเลี่ยงเรื่องราว คำพูดที่อาจทำให้รู้สึกกดดันได้ค่ะ

    การดูแลป้องกันฮิคิโคโมริ ซินโดรม คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ โดยการเริ่มต้นจากการคิดในแง่บวก เช่น หากลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จากการดุด่าว่ากล่าวรวมถึงการลงโทษ คุณพ่อคุณแม่อาจเปลี่ยนมาใช้การพูดให้กำลังใจที่เชื่อว่าลูกสามารถแก้ไขได้และปรับปรุงได้ เป็นต้น การใกล้ชิดใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนในครอบครัว อาจเริ่มจาการทานข้าวพร้อมกัน การนั่งดูหนังด้วยกัน ไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง การทำกิจกรรมอื่นๆที่เหมาะสมกับวัยของเด็กๆ ส่งเสริมทักษะสร้างความมั่นใจให้กับลูก การรับฟังความคิดเห็นของลูก และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การไว้วางใจในลูกของคุณเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง กล้าคิดกล้าแสดงออก ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองค่ะ

    เนื่องทุกวันนี้รูปแบบวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันค่อนข้างสูงบวกกับพ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก จึงทำให้แนวโน้มของการเกิดภาวะฮิคิโคโมริเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆค่ะ ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับลูกจึงจำเป็นอย่างมากค่ะ และแอดมินขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวค่ะ

  • กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก

    กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก

    กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก

    บทเรียนราคาแพงจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการไม่ทันได้ระวังของคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงเด็ก โดยการดึงแขนลูกแรงๆซึ่งเสี่ยงต่อกระดูกข้อศอกเลื่อนหลุดได้ค่ะ อุบัติเหตุอันดับต้นๆโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีควรระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ เนื่องจากสรีระของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อศอกยังมีการพัฒนาไม่สมบูรณ์ ง่ายต่อการเคลื่อนหลุดถ้าหากมีการขยับผิดจังหวะ กระดูกข้อศอกเลื่อนเกิดจากการที่กระดูกแขนหลุดออกจากเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกไว้บริเวณข้อศอกค่ะ โดยสาเหตุหลักมักเกิดจากการจับมือลูกแล้วมีการกระตุกแรงๆอย่างรวดเร็ว การดึงมือหรือยกเด็กขึ้นมาจากพื้นโดยใช้แขนหรือมือเพียงข้างเดียว รวมทั้งการเล่นจับมือลูกเหวี่ยงแบบชิงช้า และสาเหตุอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น อุบัติเหตุลื่นล้ม เป็นต้น กระดูกข้อศอกเลื่อนหากเคยเป็นแล้วจะมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้ง่ายค่ะ โดยเฉพาะในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกที่ลูกเคยกระดูกข้อศอกเลื่อน จึงต้องระมัดระวังให้มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวค่ะ

    กระดูกข้อศอกเคลื่อน
    กระดูกข้อศอกเคลื่อน

    อาการแสดงว่าข้อศอกเคลื่อน คือ ลูกจะร้องไห้งอแงทันที่เนื่องจากรู้สึกเจ็บปวดที่แขนมาก ซึ่งเป็นอาการที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนมองว่าลูกงอแงปกติ เดี๋ยวคงจะหยุดร้องไห้ไปเอง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักลูกจะยังคงร้องไห้จากความเจ็บปวดอยู่และไม่ยอมขยับแขนหรือยกแขนที่เจ็บโดยเด็ดขาด ลักษณะของข้อศอกจะอยู่ในท่างอเล็กน้อย หุบเข้าหาลำตัว ลูกจะยังคงขยับหัวไหล่ได้แต่จะไม่สามารถขยับข้อศอกได้เพราะเจ็บมากค่ะ ในเด็กบางรายอาจขยับเข้าที่ได้เอง สามารถขยับแขนได้เป็นปกติและหายปวดหลังจากกระดูกข้อศอกเข้าที่ค่ะ แต่ถึงอย่างไรคุณแม่คุณพ่อก็ควรพาลูกไปพบแพทย์เฉพาะทางนะคะ เพื่อตรวจให้ละเอียดเพิ่มเติมว่าไม่ได้มีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วยและการรักษาที่ถูกวิธีค่ะ

    การรักษาอาการข้อศอกเคลื่อน หากพบว่าลูกมีอาการคล้ายข้อศอกเลื่อน ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน โดยการจัดให้ส่วนที่เจ็บอยู่นิ่งๆมากที่สุด ประคบเย็นและรักษาสภาพข้อศอกให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุดค่ะ จากนั้นให้รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป ข้อควรระวังอย่าพยายามขยับแขนให้เข้าที่ด้วยตัวเองนะคะ เพราะอาจทำผิดพลาดแล้วทำให้บาดเจ็บที่ข้อศอก เส้นเอ็น เส้นเลือดบริเวณนี้มากขึ้นค่ะ

    การป้องกันข้อศอกเลื่อนในเด็ก
    คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดึงหรือกระชากแขนลูกอย่างรุนแรงอาจทำให้กระดูกข้อศอกหลุดได้ หากลูกล้มหรือนั่งที่พื้นควรยกตัวลูกด้วยกาจับตัวลูกที่ใต้รักแร้ หรือจับที่บริเวณแขนท่อนบนส่วนที่ติดกับหัวไหล่แล้วจึงยกขึ้น ไม่ควรดึงเด็กขึ้นมาจากพื้นด้วยมือหรือจับที่แขนท่อนล่างเพียงข้างเดียวค่ะ ไม่อุ้มลูกเล่นเหวี่ยงแบบชิงช้าเพราะอาจเกิดอันตรายได้รับบาดเจ็บอย่างอื่นๆร่วมด้วยค่ะ

    ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มักเกิดขึ้นได้เสมอค่ะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วคุณพ่อคุณแม่อย่ามัวโทษตัวเองนะคะ แต่หากควรระมัดระวังการจับหรือการดึงแขนลูกมากเป็นพิเศษค่ะ เพราะนี่คืออุบัติเหตุใกล้ตัวอันดับต้นๆที่มักเกิดกับลูกน้อยของเราค่ะ เราเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ

  • โรคปอดบวมในเด็ก

    โรคปอดบวมในเด็ก

    โรคปอดบวมในเด็ก
    ปอดบวมในเด็ก 1 ใน 6 โรคที่มาพร้อมกับอากาศเย็นที่พบได้บ่อยในเด็กค่ะ ซึ่งเราจะมีวิธีการดูแลและป้องกันดูแลลูกอย่างไรให้ห่างไกลโรคนี้ วันนี้แอดมินจะพาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบค่ะ

    โรคปอดบวม เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพยาธิ ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะในถุงลมหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โรคปอดบวมพบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตสูงถึง 1.6 ล้านคนต่อปีจากจำนวนผู้ป่วย 156 ล้านคนต่อปีทั่วโลก โดยร้อยละ 95 ของเด็กเหล่านี้อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาค่ะ โรคปอดบวมสามารถติดต่อได้จากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป จากการไอ จามของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสในในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ฯลฯ

    อาการโรคปอดบวมในเด็ก พบว่าโรคปอดบวมจะมีอาการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่า เกิดการติดเชื้อที่ส่วนไหนของปอดค่ะ ซึ่งอาการเริ่มต้นจะมีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ร่วมกับการไอ ระยะต่อมาจะมีไข้สูง ไอมากขึ้น เริ่มหอบเหนื่อย หายใจแรง มีอัตราการหายใจเร็วกว่าปกติตามเกณฑ์อายุ เพลีย ซึม ไม่ค่อยทานน้ำและอาหารหรืออาเจียนร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่รีบพาเด็กมาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจประเมินการรักษาค่ะ โรคปอดบวมอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ เช่น โรคฝีในปอด ซึ่งเกิดเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายปอด ทำให้เกิดฝีในปอดตามมา แบคทีเรียในกระแสเลือดแพร่กระจายลุกลามไปยังปอดส่วนทำให้อวัยวะล้มเหลวได้ เกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

    การรักษาโรคปอดบวม

    การรักษาโรคปอดบวมสวนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสจะไม่มียารักษาที่จำเพาะค่ะ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ หรือในบางรายที่มีอาการหดเกร็งของหลอดลมแพทย์จะให้ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ หากมีอาการหอบเหนื่อยอาจต้องให้ออกซิเจน หากอาการรุนแรงมากอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจค่ะ ซึ่งในบางรายหากมีภาวะหายใจล้มเหลว หรือหยุดหายใจแพทย์อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจค่ะ สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยเชื้อแบคทีเรียจะให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 7-21 วัน ขึ้นกับเชื้อและความรุนแรงค่ะ

    การป้องกันโรคปอดบวมในเด็กมีดังต่อไปนี้

    • คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้เด็กรักษาอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือก่อนและหลังการรับประทาน ฯลฯ
    • หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานไปในสถานที่ที่แออัด หรือในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง วันบุหรี่ ควันธูป เป็นต้น เนื่องจากจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค
    • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนโรคไอกรน วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคไอพีดี เป็นต้น เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคปอดอักเสบค่ะ
    • คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการป่วยของลูก หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคปอดบวมควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

    โรคปอดบวมในเด็ก โรคอันตรายที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และมักมีโรคภัยต่างๆตามมาเสมอค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจลูกน้อยอย่างใกล้ชิดนะคะ

  • โรคเริมในเด็ก

    โรคเริมในเด็ก

    “เริม” โรคผิวชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยในผู้ใหญ่และไม่มีอาการรุนแรงสามารถรักษาให้หายได้ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าถ้าหากเด็กเล็กเป็นเริมอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ เริมเกิดจากไวรัส Herpes simplex virus type 1 (HSV-1) การติดเชื้อในช่องปากและริมฝีปากและ Herpes simplex virus type 2 (HSV-2) การติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ระบบประสาท และโรคเริมชนิดแพร่กระจายทั่วร่างกายในทารกแรกเกิด

    สาเหตุของโรคเริมในเด็ก

    โรคเริมในทารกแรกเกิด ซึ่งมักจะเกิดจากการติดจากคุณแม่ตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ โดยเกิดจาการติดเชื้อในระหว่างการคลอดทางช่องคลอด จาการติดเชื้อเริมในขณะที่มารดามีการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ รวมถึงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโรคเริม เช่น การจูบ การสัมผัสแผล เป็นต้น โรคเริมจะมีอาการปรากฏประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 3 สัปดาห์หลังจากการได้รับเชื้อไวรัส ในระยะแรกของการติดเชื้อเด็กจะมีอาการซึม มีไข้ ไม่ดูดนม มีตุ่มน้ำใสที่ผิวหนังหรือแผลในปาก ในบางรายที่มีการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง จะมีอาการของการอักเสบของเนื้อสมอง มีการชักถี่ๆ และในรายที่มีการติดเชื้อแบบแพร่กระจาย ซึ่งเด็กจะมีความไวต่อการกระตุ้น หายใจลำบาก การชักจากการติดเชื้อที่สมอง ปอด ตับ และต่อมหมวกไต และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ เช่น ตาบอดได้หานเชื้อเกิดที่ตา มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผื่น เป็นต้น

    โรคเริมในเด็ก

    การรักษาโรคเริมสำหรับเด็ก

    โดยในระยะแรกที่มีตุ่มน้ำใสหรือสงสัยว่าเด็กมีการติดเชื้อไวรัส คุณแม่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่ทันท่วงทีค่ะ ซึ่งคุณหมอจะทำการรักษาโรคเริมในเด็กโดยการให้ยาต้านไวรัสเริม ซึ่งมียาหลายตัวและหลายรูปแบบทั้งยาฉีด ยารับประทาน และยาทาภายนอก โดยคุณหมอจะพิจารณาให้ตามข้อบ่งชี้ในการรักษาและความรุนแรงของอาการค่ะ รวมถึงคุณแม่ต้องการรักษาความสะอาดของร่างกาย การล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการสัมผัสเด็กหรือทันทีที่มีการจับต้องแผลหรือสารคัดหลั่งผู้ป่วย เพราะอาจจะนำเชื้อไปสู่ส่วนอื่นของร่างกายได้ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น เช่น การจูบ ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกันโดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง

    การป้องกันเริมในเด็ก

    ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริมค่ะ ดังนั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หากมีประวัติเคยเป็นโรคเริมมาก่อนหรือยังคงมีอาการของโรคอยู่ ควรแจ้งให้คุณหมอที่ดูแลทราบด้วยนะคะ และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อเริม เช่น การหอมแก้มหรือจูบตามร่างกายของเด็กหากพบว่าตัวเองมีแผลเริมบริเวณริมฝีปากหรือมีตุ่มน้ำใสๆ หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ระวังการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นเริม ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ และรักษาความสะอาดล้างมือก่อนมีการสัมผัสลูกน้อยทุกครั้งค่ะ

    นอกจากเชื้อเริมแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังโรคอื่นๆที่มีการติดต่อทางการสัมผัสกับทารกค่ะ เช่น ไวรัสหวัด สุกใส หัด โรคตาแดง แผลอักเสบที่ผิวหนัง เป็นต้น เนื่องจากทารกมีภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ทำให้สามารถรับเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายค่ะ รวมถึงควรระมัดระวังการสัมผัสทารกหลังคลอดจากบุคคลอื่น เพราะเราไม่รู้ได้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะพาเชื้อโรคอะไรมาติดทารกบ้างค่ะ

  • ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

    ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

    ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก(influenza หรือ flu)
    สวัสดีค่ะ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงปลายฝนต้นหนาว กลางวันหน้าร้อนแบบนี้ แอดมินมีสาระความรู้เรื่องของไข้หวัดใหญ่มาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

    โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดเอ(Type A)พบได้ในคนและสัตว์ ชนิดบี(Type B)พบในมนุษย์เป็นหลัก และชนิดซี(Type C)พบในมนุษย์เป็นหลักเช่นกัน โดยในแต่ละชนิดก็ยังสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิดย่อยๆได้อีกจำนวนมาก เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดได้ง่ายผ่านการไอจามรดกันและการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยที่ปนเปื้อนกับส่งของเครื่องใช้ต่างๆ

    อาการของไข้หวัดใหญ่
    เชื้อไขหวัดใหญ่จะมีระยะฟักตัว 1 – 3 วันหลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมาจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้นะค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกน้อย หากพบว่าลูกเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก ไอมากจนหายใจเหนื่อย และอาการเป็นมากขึ้นหรือไม่ดีขึ้นเกิน 5 วัน ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจร่างกายและการรักษาที่ถูกต้องการโรคต่อไปค่ะ

    การดูแล/รักษาโรคไข้หวัดใหญ่
    กรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต โดยคุณหมออาจทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าลูกเป็นไข้หวัดใหญ่ค่ะ ในส่วนของเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป พ่อคุณแม่อาจดูแลลูกตามอาการให้ทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ ล้างจมูก ให้นอนพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ รวมถึงการรับประทานอาการที่มีประโยชน์ และบางรายอาจต้องทานยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไซนัสอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ, หลอดลมอักเสบ เป็นต้น โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาเป็นรายๆไปค่ะ ละสังเกตอาการที่ต้องไปพบคุณหมอเช่น ซึมลง ทานไม่ได้ ไข้สูง อ่อนเพลียมาก ไอมากจนหอบเหนื่อย เป็นต้นค่ะ

    การป้องกันโรคไขหวัดใหญ่
    ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหืด โรคหัวใจ โรคระบบประสาท โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ค่ะ ซึ่งการฉีดในแต่ละครั้งจะสามารถป้องกันโรคได้นานถึงหนึ่งปี และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและคลุกคลีกับผู้ป่วย สร้างวินัยในการดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคลให้กับลูก เช่น การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เป็นต้น เมื่อลูกป่วยควรหลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนค่ะ เพื่อลดการแพร่เชื้อไข้หวัดและรับเชื้อไวรัสอื่นๆ

  • โรคหัด โรคที่มากับฤดูหนาว

    โรคหัด โรคที่มากับฤดูหนาว

    โรคหัด หรือ โรคไข้ออกผื่น โรคชนิดหนึ่งที่พบมากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตค่ะ มีการระบาดและการติดต่อได้ง่าย คุณหมอ ผศ. นพ. ชนเมศ เตชะแสนสิริ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเตือนให้ระวังโรคหัดระบาดในหน้าหนาว พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลและป้องกันโรคหัดในเด็กค่ะ

    โรคหัด หรือโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัสหัด (Measles virus) ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศโดยการไอ จาม หายใจรดกัน การสัมผัสสารน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็กโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กถึงแม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคค่ะ

    อาการของโรคหัดในเด็ก
    โรคหัดจะมีอาการคล้ายไข้หวัดมีระยะฟักตัว 10 – 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ระยะเริ่มแรกจะมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แล้วจึงมีน้ำมูก ไอแห้งบ่อยๆ เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง จมูกแดง และจะมีตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) หรือตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็กๆตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม ซึ่งจะเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรค “หัด” เท่านั้น ในเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 3 – 4 วัน แล้วจึงขึ้นผื่นแดงๆที่หลังหูคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง จากนั้นลามไปยังหน้าและร่างกาย ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า โดยผื่นจะค่อยๆโตขึ้นและมีสีเข้มขึ้น อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3 – 5 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆและหายไปเอง เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อานเกิดขึ้นได้ค่ะ

    ภาวะแทรกซ้อนโรคหัด
    ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด เนื่องจากเชื้อไวรัสโรคหัดเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายอ่อนแอลง รววมถึงเด็กขาดสารอาหารจึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ ซึ่งมักพบหลังผื่นขึ้นหรือเมื่อไข้เริ่มทุเลาแล้ว เช่น ระบบทางเดินหายใจ(โรคปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ฯลฯ) ระบบทางเดินอาหาร(โรคอุจจาระร่วง ไส้ติ่งอักเสบ ตับอักเสบ ฯลฯ) ตาบอดในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ โรคสมองอักเสบซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ขณะที่เป็นโรคหัด ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลงทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ ในกรณีที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และป่วยเป็นโรคหัดในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในทารก ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยค่ะ

    ฉัดวัตซีเด็กเล็ก

    วิธีป้องกันโรคหัดในเด็ก
    โรคหัด เป็นโรคที่มีการติดต่อกันได้ง่ายและสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ได้ฟรีที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ตามกำหนดให้ครบ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9-12 เดือน และ 2 ปีครึ่ง และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก วัคซีนจะทำงานโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้หลั่งภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้เชื้อที่อ่อนแอลงเหล่านี้
    ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีน MMR หรือ MMRV จะทำให้เกิดภาวะออทิสติก แต่อาจมีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆได้ เช่น มีไข้ มีผื่นเล็กน้อย ปวดตามข้อ เกล็ดเลือดต่ำชั่วคราว ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณแก้ม คอ หรือใต้ขากรรไกร หรือชักจากการมีไข้สูง เป็นต้น

    ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคหัดคุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่มีผู้คนมาก ห้างสรรพสินค้า หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหัด หรือสวมหน้ากากอนามัยไปในที่ชุมชน รวมถึงฝึกให้เด็กรักษาอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนและหลังรับประทาน เป็นต้น

    โรคหัดเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อลูกป่วยคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตุอาการของลูกอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆร่วมด้วย ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที่เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีค่ะ

  • โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก

    โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก

    โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก
    ภาวะท้องร่วงในเด็ก เรื่องใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง บทความนี้แอดมินจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับโนโรไวรัสโรตัวการท้องเสียในเด็ก รวมถึงอาการและการป้องกันมาฝากค่ะ ตามแอดมาเลยจ้า…..

    โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร มีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของอาหารเป็นพิษซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกันค่ะ พบระบาดมากในช่วงหน้าหนาวเป็นไวรัสที่มีการแพร์ระบาดได้ง่ายในสภาพอากาศเย็นและรวดเร็ว สามารถทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆได้ดี ในบางรายที่มีอาการอาจหนักอาจร้ายแรงถึงขึ้นชีวิตได้ค่ะ ดังนั้น การรู้เท่าทันไวรัสชนิดนี้ย่อมช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลป้องกันและดูแลรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

    อาการเมื่อติดเชื้อโนโรไวรัส
    อาการที่พบบ่อยหลังได้รับเชื้อโนโรไวรัสภายใน 12 – 48 ชั่วโมง ลักษณะอาการคล้ายกับอาหารเป็นพิษเช่น คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ปวดท้องถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ รวมถึงปวดเมื่อยตามร่างกาย และรู้สึกอ่อนเพลีย เด็กเล็กและผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้

    การติดต่อและการแพร่กระจายโนโรไวรัส
    เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย โดยสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนเชื้อแล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก การรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนไวรัสนี้โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก และติดต่อทางอากาศการหายใจรับเชื้อโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกาย พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ฯลฯ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมงและอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความผิดปกติของการดูดซึมไขมันและน้ำตาลของลำไส้เล็ก เมื่อตรวจอุจจาระจะพบเชื้ออยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ หลังจากผู้ป่วยไม่มีอาการแล้ว

    การรักษาโนโรไวรัส
    ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ทานยาแก้อาเจียน ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ และการให้ยาปฏิชีวนะในบางราย โดยทั่วไปอาการต่างๆมักดีขึ้นในเวลา 3 – 4 วัน

    การป้องกันโนโรไวรัส
    เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัสนี้ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือการดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาด สุขอนามัยของลูกน้อย เพราะเป็นโรคที่ติดต่อง่ายมากค่ะ คุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ดื่มน้ำที่สะอาด ฝึกให้ลูกล้างมือให้สะอาดหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และก่อน/หลังการรับประทานอาหารหรือการหยิบจับสิ่งของเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แก้วน้ำ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยค่ะ

    นอกจากนี้ การดูแลและป้องกันลูกที่ดีที่สุดคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่ หมั่นสังเกตลูกเสมอ หากพบว่าลูกป่วยควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีต่อไปค่ะ