PM 2.5 ผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์

PM 2.5 ผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์

ปัจจุบันหลายๆจังหวัดในประเทศไทยประสบกับปัญหาฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศอย่างหนัก และยังไม่มีแนวทางการแก้ไขอย่างชัดเจน ซึ่งปัญหามลภาวะทางอากาศนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและสุขภาพได้อย่างร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

ฝุ่นควันและมลพิษที่ปนเปื้อนมาในอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่งแจ้ง กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัยและธุรกิจการค้า ฯลฯ ซึ่งฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน มีความอันตรายกว่าฝุ่นควันปกติ เนื่องจากขนาดที่เล็กมากสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่าย และสามารถทะลุผนังถุงลมของปอดเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลต่อกระบวนการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เซลล์เกิดความเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกในครรภ์ ซึ่งองค์กรอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง แลกำหนดคุณภาพของอากาศความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 ไม่ควรเกิน 25 µg/m3 , PM 10 ไม่เกิน 50 µg/m3

ฝุ่น PM2.5 ผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

เนื่องจากฝุ่นมีขนาดเล็กมากสามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดลมอักเสบ ระคายเคืองหลอดลม และส่งผลกระทบต่อสุขภาพเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาวได้ค่ะ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์มีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ดังนี้

– น้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์(น้ำหนักน้อยกว่า 2500 กรัม)หรือตัวเล็ก 

– หญิงตั้งครรภ์ความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนด การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด 1.09 เท่า 

– ทารกตายในครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์มีคามเสี่ยงสูงของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์

– คุณแม่ตั้งครรภ์การได้รับอากาศมลพิษขณะตั้งครรภ์ ทารกหลังคลอดมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด โรคหอบหืดเพิ่มสูงขึ้น

การรับมือฝุ่น PM 2.5 สำหรับหญิงตั้งครรภ์

– ติดตามข่าวสารสถานการณ์สภาวะอากาศในระดับต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตามคำแนะนำ

– หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือกิจกรรมนอกบ้าน 

– สวมหน้ากาก N95 เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้านหรือที่โล่งแจ้งเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศ

– หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน เพื่อลดการเกิดมลพิษทางอากาศ เช่น การเผาขยะ เป็นต้น

– การปลูกต้นไม้ช่วยลดฝุ่นละอองหรือกรองอากาศได้บางส่วน เช่น ต้นเศรษฐีเรือนใน ต้นลิ้นมังกร ต้นพลูด่าง เป็นต้น

– หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก มีเลือดออกทางช่องคลอด ท้องแข็ง น้ำเดินหรือลูกดิ้นลดลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที