ลำไส้กลืนกันในเด็ก

ลำไส้กลืนกันในเด็ก ภัยเงียบที่พ่อแม่ควรระวัง

ลำไส้กลืนกันในเด็ก ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการหนึ่งที่ได้พบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี เป็นภาวะที่เกิดขึ้นฉับพลันและอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว และที่สำคัญมักเกิดกับเด็กที่มีสุขภาพค่อนข้างแข็งแรง จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบและอาจมองข้ามไปค่ะ ดังนั้นในบทความเรามีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับภาวะลำไส้กลืนกันในเด็กมาฝากค่ะ

ภาวะลำไส้กลืนกัน คืออะไร

Intussusception

ภาวะลำไส้กลืนกันพบบ่อยที่สุดของการอุดตันของลำไส้ในเด็กอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งเป็นภาวะที่ลำไส้ส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า และมักเกิดขึ้นในเด็กที่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี และเป็นภาวะที่ฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาที่ที่รวดเร็วและถูกต้อง เนื่องจากเป็นโรคที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ หากลำไส้กลืนกันอยู่เป็นเวลานานๆก็จะเกิดลำไส้ขาดเลือด จนกระทั่งมีการเน่าตาย ลำไส้แตกทะลุได้ค่ะ

สาเหตุของลำไส้กลืนกัน

สาเหตุของลำไส้กลืนกัน

สาเหตุของอาการสำไส้กลืนกันที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนและเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ในบางกรณีอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารส่งผลให้เกิดการบวมของต่อมน้ำเหลือง ทำให้เนื้อเยื่อส่วนหนึ่งของสำไส้ถูกดึงเข้าไปในอีกส่วนหนึ่ง  หรือในกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุมากกว่า 2 ปี มักมีสาเหตุมาจาก โรคเนื้องอกในลำไส้ ต่อมน้ำเหลืองโตหรือปัญหาหลอดเลือดในลำไส้

อาการภาวะลำไส้กลืนกัน

อาการลำไส้กลืนกัน

ภาวะลำไส้กลืนกันเป็นภาวะฉุกเฉินที่สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติของลูกได้ดังนี้ อาการเริ่มต้นจากการปวดท้องเกร็ง ร้องไห้งอแง กระสับกระส่าย อาการอาจปวดเป็นพักๆ จากนั้นจะแสดงอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาเจียน ท้องบวม อุจจาระปนเลือด มีไข้ และเด็กบางคนอาจจะมีอาการซึมหรือชักร่วมด้วย รวมถึงหมดสติได้ค่ะ ต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนค่ะ

การรักษาอาการลำไส้กลืนกัน

พาไปหาหมอ

การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความผิดปกติของสำไส้ รวมถึงอายุและสุขภาพทั่วไปของเด็กค่ะ ซึ่งการรักษามีด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้

  1. การดันลำไส้ส่วนที่กลืนกันออกโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนักดันลำไส้ที่กลืนกันออก โดยใช้สารทึบรังสี barium หรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะใช้วิธีนี้ในการรักษา แต่ถ้าในกรณีที่ไม่สามารถดันลำไส้ออกมาได้หรือลำไส้เน่าตายจากการขาดเลือด จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดค่ะ
  2. การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกันค่ะ แต่ในกรณีที่ลำไส้เน่าหรือมีการแตกทะลุของลำไส้แล้ว จำเป็นจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายออกและทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากันค่ะ

ลำไส้กลืนกันป้องกันอย่างไร

สังเกตุอาการลำไส้กลืนกัน

เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันและไม่ทราบสาเหตุที่่แน่ของการเกิดภาวะลำไส้กลืนกัน ดังนั้นคุณแม่สามารถทำได้เพียงสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกของคุณ และหากสงสัยให้นำส่งโรงพยาบาลทันทีค่ะ เพราะภาวะที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ลูกของคุณเสียชีวิตได้ค่ะ