โรคเริมในเด็ก

โรคเริมในเด็ก

“เริม” โรคผิวชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยในผู้ใหญ่และไม่มีอาการรุนแรงสามารถรักษาให้หายได้ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าถ้าหากเด็กเล็กเป็นเริมอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ เริมเกิดจากไวรัส Herpes simplex virus type 1 (HSV-1) การติดเชื้อในช่องปากและริมฝีปากและ Herpes simplex virus type 2 (HSV-2) การติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ระบบประสาท และโรคเริมชนิดแพร่กระจายทั่วร่างกายในทารกแรกเกิด

สาเหตุของโรคเริมในเด็ก

โรคเริมในทารกแรกเกิด ซึ่งมักจะเกิดจากการติดจากคุณแม่ตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ โดยเกิดจาการติดเชื้อในระหว่างการคลอดทางช่องคลอด จาการติดเชื้อเริมในขณะที่มารดามีการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ รวมถึงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโรคเริม เช่น การจูบ การสัมผัสแผล เป็นต้น โรคเริมจะมีอาการปรากฏประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 3 สัปดาห์หลังจากการได้รับเชื้อไวรัส ในระยะแรกของการติดเชื้อเด็กจะมีอาการซึม มีไข้ ไม่ดูดนม มีตุ่มน้ำใสที่ผิวหนังหรือแผลในปาก ในบางรายที่มีการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง จะมีอาการของการอักเสบของเนื้อสมอง มีการชักถี่ๆ และในรายที่มีการติดเชื้อแบบแพร่กระจาย ซึ่งเด็กจะมีความไวต่อการกระตุ้น หายใจลำบาก การชักจากการติดเชื้อที่สมอง ปอด ตับ และต่อมหมวกไต และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ เช่น ตาบอดได้หานเชื้อเกิดที่ตา มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผื่น เป็นต้น

โรคเริมในเด็ก

การรักษาโรคเริมสำหรับเด็ก

โดยในระยะแรกที่มีตุ่มน้ำใสหรือสงสัยว่าเด็กมีการติดเชื้อไวรัส คุณแม่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่ทันท่วงทีค่ะ ซึ่งคุณหมอจะทำการรักษาโรคเริมในเด็กโดยการให้ยาต้านไวรัสเริม ซึ่งมียาหลายตัวและหลายรูปแบบทั้งยาฉีด ยารับประทาน และยาทาภายนอก โดยคุณหมอจะพิจารณาให้ตามข้อบ่งชี้ในการรักษาและความรุนแรงของอาการค่ะ รวมถึงคุณแม่ต้องการรักษาความสะอาดของร่างกาย การล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการสัมผัสเด็กหรือทันทีที่มีการจับต้องแผลหรือสารคัดหลั่งผู้ป่วย เพราะอาจจะนำเชื้อไปสู่ส่วนอื่นของร่างกายได้ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น เช่น การจูบ ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกันโดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง

การป้องกันเริมในเด็ก

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริมค่ะ ดังนั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หากมีประวัติเคยเป็นโรคเริมมาก่อนหรือยังคงมีอาการของโรคอยู่ ควรแจ้งให้คุณหมอที่ดูแลทราบด้วยนะคะ และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อเริม เช่น การหอมแก้มหรือจูบตามร่างกายของเด็กหากพบว่าตัวเองมีแผลเริมบริเวณริมฝีปากหรือมีตุ่มน้ำใสๆ หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ระวังการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นเริม ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ และรักษาความสะอาดล้างมือก่อนมีการสัมผัสลูกน้อยทุกครั้งค่ะ

นอกจากเชื้อเริมแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังโรคอื่นๆที่มีการติดต่อทางการสัมผัสกับทารกค่ะ เช่น ไวรัสหวัด สุกใส หัด โรคตาแดง แผลอักเสบที่ผิวหนัง เป็นต้น เนื่องจากทารกมีภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ทำให้สามารถรับเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายค่ะ รวมถึงควรระมัดระวังการสัมผัสทารกหลังคลอดจากบุคคลอื่น เพราะเราไม่รู้ได้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะพาเชื้อโรคอะไรมาติดทารกบ้างค่ะ