โรคมือเท้าปากในเด็ก

โรคมือเท้าปากในเด็ก

โรคมือเท้าปากในเด็ก พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาด เนื่องจากโรคนี้มักจะมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กอายุกต่ำกว่า 5 ปี สามารถรักษาให้หายได้แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตได้ค่ะ โรคมือเท้าปากสามารถเกิดได้ตลอดปีแต่พบบ่อยในฤดูฝนถึงฤดูหนาวค่ะ บทความนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักโรคมือเท้าปากในเด็กค่ะ

HFMD

โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot, Mouth Disease) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีหลายสายพันธ์ุแต่เชื้อที่ทำให้เกิดโรคบ่อยและมีความรุนแรง คือ คอคซาคีไวรัส และ เอนเตอโรไวรัส 71 ในประเทศไทยพบการระบาดของเอนเตอโรไวรัส 71 ร่วมกับไวรัสตัวอื่นๆด้วยแต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยรุนแรงค่ะ

การติดต่อของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายและน้ำจากตุ่มใส การไอจามรดกัน รวมถึงการสัมผัสของเล่น สิ่งของเครื่องใช้ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสแล้วนำเข้าปาก สถานที่ที่มักพบการระบาดของเชื้อโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และพบการระบาดของโรคคือช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวค่ะ

อาการของโรคมือเท้าปาก

อาการโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก มีระยะฟักตัว 3 – 6 วันหลังจากได้รับเชื้อ อาการเริ่มแรกของโรคนี้คือ มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย หลังจากนี้ 1 – 2 วัน มีอาการเจ็บปากกลืนน้ำลายไม่ได้ๆ เด็กจะไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะพบตุ่มเล็กๆสีแดงที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตามลำตัว ต่อมาตุ่มแดงๆจะเกิดอาการอักเสบพองใสบริเวณรอบๆและแตกเป็นแผล อาการของโรคมือเท้าปากโดยปกติแล้วอาการจะทุเลาลงและหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วันค่ะ แต่ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกแขนขาไม่มีแรง จนนำไปถึงการเสียชีวิตได้ค่ะ สังเกตได้จากเด็กเริ่มมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่รับประทานอาหาร อาเจียน ปวดศีรษะมากจนทนไม่ไหว มีอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่น มือสั่น มีอาการไอ มีเสมหะมาก หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ค่ะ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวร่วมด้วยควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

การรักษาโรคมือเท้าปาก

Hand foot and mouth disease treatment

โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะค่ะ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการทั่วๆไปของผู้ป่วย เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแผลในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้มค่ะ ในบางรายที่มีอาการรุนแรง อ่อนเพลียมาก มีอาการอื่นๆร่วมด้วยต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยวิกฤต นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการของภาวะแทรกซ้อยทางสมองและหัวใจ เป็นต้น 

การป้องกันและการควบคุมโรคมือเท้าปาก

การป้องกันและการควบคุมโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโดยเฉพาะค่ะ ดังนั้นการดูแลและป้องกันลูกน้อยสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยที่ดีให้กับลูกน้อยได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • รักษาอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือให้สะอาดก่อนการหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน เป็นต้น
  • รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาดมากๆ
  • ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารหรือส่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำและขวดนม
  • ปลูกฝังให้เด็กล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อน/หลังการรับประทานอาหาร และภายหลังการขับถ่ายทุกครั้ง ฯลฯ
  • สถานที่ลับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หากพบเด็กป่วยคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดพักผ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆค่ะ
  • ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น เป็นต้น

โรคมือเท้าปากสามารถเป็นซ้ำได้อีกค่ะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณพ่อคุณแม่และบุคคลใกล้ชิดลูกจะต้องหมั่นสังเกตอาการ หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันทีค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง