ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก
โรคไวรัสลงกระเพาะ เสี่ยงลูกช็อคเสียชีวิต
การรักษาไวรัสลงกระเพาะ
ไวรัสลงกระเพาะยังไม่มีวิธีรักษาแบบเฉพาะเจาะจงค่ะ การรักษาจึงเป็นการประคับประคองตามอาการเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและพลังงานเป็นหลัก บางรายแพทย์อาจรักษาโดยให้น้ำเกลือและการใช้ยาบางชนิดร่วมด้วยค่ะ วิธีการดูแลอาการด้วยตนเองในระหว่างพักฟื้น สามารถทำได้ดังนี้
- ทารกและเด็กหากมีอาการป่วยไม่รุนแรง ควรรับประทานอาหารตามปกติ ถ้าหากมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ควรให้ดื่มนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เช่น นมถั่วเหลืองธรรมชาติ นมอัลมอนด์ และน้ำนมข้าว เป็นต้น
- ดื่มน้ำมากๆ หรือการจิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆในกรณีที่ดื่มน้ำยาก โดยเฉพาะหลังจากอาเจียนหรืออุจจาระเป็นน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มพลังงาน ชดเชยเกลือแร่และน้ำในร่างกาย ป้องกันอาการอ่อนเพลียและภาวะขาดน้ำค่ะ
- รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เพื่อลดการระคายเคืองและช่วยให้กระเพาะอาหารฟื้นตัว
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ เพราะน้ำผลไม้ไม่สามารถทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปได้ค่ะ แต่จะทำให้ท้องเสียมากขึ้นได้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันกับน้ำตาลสูง อาหารประเภทนม คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
- พักผ่อนมากๆ เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
- ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาบรรเทาอาการใดๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นซึ่งไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ และไม่ควรรับประทานกลุ่มยาปฏิชีวนะเพราะไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส
ไวรัสลงกระเพาะจะมีระยะฟักตัวภายหลังจากเข้าสู่ร่างกายจนแสดงอาการอาจใช้เวลาสั้นๆเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 2 วัน เริ่มจากการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องทุกตำแหน่งของช่องท้อง ท้องเสียชนิดถ่ายเป็นน้ำ แต่ถ้าเป็นแบคทีเรียมักมีมูกเลือดในอุจจาระ อาจมีไข้สูงร่วมด้วย ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะขาดน้ำและพลังงาน (ปากแห้ง ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็วและเบา ความดันโลหิตต่ำ) อ่อนเพลียมาก ซึม กินหรือดื่มไม่ได้จะมีท้องเสียทุกครั้งที่ทานอะไรเข้าไป ท้องเสียหรืออาเจียนไม่หยุด เป็นต้น
ไวรัสลงกระเพาะ คืออะไร
ไวรัสลงกระเพาะ หรือหวัดลงกระเพาะและลำไส้ เป็นภาวะการติดเชื้อไวรัสในโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยการสัมผัสกับสิ่งของปนเปื้อนเชื้อไวรัสและนำเข้าปาก หรือการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรค เชื้อไวรัสที่ก่อโรคไวรัสลงกระเพาะมีหลากหลายชนิดที่พบบ่อย ได้แก่
- Norovirus เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็กวัยเรียน และเป็นชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดในโรงเรียน
- Rotavirus เป็นชนิดพบบ่อยที่สุดในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กและให้เกิดโรครุนแรง
- Astrovirus มักพบโรคในเด็กอ่อนและเด็กเล็ก แต่อาการไม่รุนแรง
- Adenovirus เป็นไวรัสที่มีหลากหลายสายพันธุ์ย่อย มักพบในอายุต่ำกว่า 2 ปี และมีความรุนแรงของอาการได้ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ก่อให้เกิดโรคได้หลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ในระบบทางเดินอาหาร
ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสลงกระเพาะที่พบบ่อยคือ ภาวะขาดน้ำจากการอาเจียน ท้องเสีย และดื่มน้ำไม่เพียงพอ ในทารกและเด็กเล็กจะมีอาการ ปากและลิ้นแห้ง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา ไม่ปัสสาวะนานกว่า 3 ชั่วโมง มีไข้สูง เซื่องซึมหรือกระสับกระส่ายผิดปกติ ตาโหล แก้มตอบ หรือกระหม่อมบุ๋ม ทั้งนี้หากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงอาจทำให้อวัยวะในร่างกายเสียหาย จนผู้ป่วยอาจช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
วิธีการดูแล
เบื้องต้นเมื่อพบว่าลูกป่วย โดยการให้ยาระงับอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาขับลม ฯลฯ ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัช ให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ครั้งละน้อยๆ เช่น ข้าวต้มครั้งละ 5-6 คำ แต่ให้บ่อยๆหลีกเลี่ยงของมัน งดผัก ผลไม้ ไข่ นมวัว เปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลือง หรือ lactose free formula เช่น Olac หรือ Similac LF หรือชงนมจางกว่าปกติโดยให้ดื่มครั้งละไม่เกินครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ เพื่อไม่ให้ลำไส้ทำงานหนัก และเมื่ออาการดีขึ้นต้องค่อยๆกลับไปทานอาหารตามปกติ อย่ารีบร้อนเปลี่ยนทันทีเพราะอาจกลับไปท้องเสียใหม่ได้ ให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนของเหลวที่เสียไป จะได้ไม่มีอาการอ่อนเพลียจากเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย คุณแม่ต้องคอยระวังก้นแดงจากการถ่ายบ่อย ต้องคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมทันที อย่าแช่นาน และควรพาไปล้างก้นที่อ่างด้วยน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้สำลีชุบน้ำหรือกระดาษเปียกเช็ดเพราะไม่สะอาดหมดจดและทำให้ผิวหนังถลอกได้ อาจทาวาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลเคลือบผิวบริเวณก้น เพื่อช่วยบรรเทาการระคายเคือง ห้ามให้ยาหยุดถ่ายในเด็ก เพราะทำให้เชื้อโรคคั่งในร่างกายจนเป็นอันตราย หรือจะมีอาการปวดมวนท้องมากขึ้น และควรพาลูกพบแพทย์ทันที่เมื่อพบว่าลูกมียังมีอาการอาเจียนอยู่ทั้งที่ทานยาแก้อาเจียนแล้ว หรือไม่อาเจียนแล้ว แต่ก็ทานอะไรไม่ได้เลย ซึมลง อ่อนเพลียมาก มีอาการของการขาดน้ำและปัสสาวะออกน้อย ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด หรือกลิ่นแรงเหม็นคาว หรือถ่ายรุนแรงมากเป็นน้ำตลอดเวลา ควรนำอุจจาระไปโรงพยาบาลด้วย เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและเพาะเชื้อ
การป้องกันไวรัสลงกระเพาะ
- ล้างมือและซอกเล็บด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังการหยิบอาหารเข้าปาก
- ควรรัประทานทานแต่อาหารที่ปรุงสุกและไม่มีแมลงวันตอม
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้เป็นโรคและล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสโรค
- ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของโรคนี้ในเด็กเล็ก เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ให้ในเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน
- การให้ลูกดื่มนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารต้านไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงลดโอกาสการปนเปื้อนจากภาชนะที่ไม่สะอาด