Child vaccination

การดูแลเด็กแรกเกิด สำหรับพ่อแม่มือใหม่ : การพาลูกไปหาหมอและรับวัคซีน

หลังจากคุณแม่คลอดแล้ว หมอเด็กจะนัดให้มาพบเมื่อลูกอายุ 1 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพ และดูความผิดปกติที่อาจแอบซ่อนอยู่ แต่ถ้าคุณแม่มีข้อสงสัยที่เป็นเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับลูก ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดก็พบกับแพทย์ได้ เพราะถ้ารอเนิ่นนานไปอาจเป็นอันตรายได้ คุณแม่มือใหม่ควรจดจำคำถามเตรียมไว้หมอจะตอบให้เข้าใจ

สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวลูก

หลังจากที่คลอดลูกแล้วทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลจะมอบสมุดประจำตัวเล่มเล็กๆ ไว้ให้สำหรับบันทึกสุขภาพ น้ำหนักแรกเกิดส่วนสูง และการได้รับวัคซีนป้องกันโรค รายงานเกี่ยวกับสุขภาพด้านต่างๆ จะจดบันทึกไว้ในสมุดเล่มเล็กนี้ ให้เก็บไว้อย่างดี อย่าทำหาย

โดยปกติ หมอจะนัดให้รับวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และโปลิโอตามช่วงวัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ส่วนวัคซีนอื่นที่มีเพิ่มขึ้นมา ถ้าคุณแม่อยากจะฉีดให้ลูกก็ปรึกษากับแพทย์ได้  ส่วนใหญ่คุณแม่มักจะพาลูกไปรับวัคซีนตามโรงพยาบาลที่คลอด แต่ถ้าไม่สะดวกอาจนำลูกไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกที่สะดวก อย่าลืมพกสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวลูกไปด้วยทุกครั้ง

ควรปรึกษาหมอเมื่อไร

ที่โรงพยาบาลจะมีแผ่นพับแจกให้คุณมาเพื่อบอกอาการผิดปกติของลูกว่าควรพาลูกไปพบแพทย์ได้หรือยัง อาการที่ควรปรึกษาแพทย์ เช่นลูกดูซีดเซียว อ่อนเพลีย ซึมมาก ไม่สนใจอะไร หงุดหงิด ร้องโวยวาย กระสับกระส่าย

เมื่อต้องพบผู้เชี่ยวชาญ

ถ้าลูกป่วยไม่หายสักที คุณต้องการพบผู้เชี่ยวชาญโรคนั้นโดยเฉพาะให้บอกกับหมอประจำที่ดูแลอยู่ได้ ปัจจุบันการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากมีการรักษาที่ต้องแยกแยะละเอียดย่อยๆ เช่น ระบบลำไส้ ระบบประสาท หู คอ จมูก ตา ฯลฯ ถ้าลูกเป็นอยู่เรื่อยๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าจะเป็นโรคนั้น ก็ควร พบกับหมอที่ชำนาญโรคเฉพาะทาง

เตรียมกระเป๋ายาให้ลูก

เครื่องมือและยาสำหรับปฐมพยาบาลที่ควรมีติดบ้านสำหรับลูก คือ ปลาสเตอร์ปิดแผล สำลีสะอาด ผ้าพันแผล ยาเหลือง ยาแดง น้ำยาล้างแผล กรรไกรสนิม ปากคีบสำหรับดึกเสี้ยนเล็กๆ ที่อาจตำตามร่างกายของลูก ยาน้ำสำหรับลดไข้ ปรอทวัดไข้ ลูกยางดูดน้ำมูกเวลาเป็นหวัด และหากจำเป็นต้องเดินทางไกลหรือไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ควรจัดเตรียมยาสามัญประจำบ้านไปด้วย

การให้วัคซีนในเด็ก

มรดกสำคัญที่พ่อแม่จะมอบให้แก่ลูกได้คือ การมรสุขภาพดี ซึ่งเริ่มต้นจากการให้วัคซีนเพื่อคุ้มกันโรคติดเชื้อในเด็ก ปัจจุบันมีวิทยาการก้าวหน้าจนสามารถควบคุมป้องกันโรคร้ายที่ทำอันตรายเด็กถึงชีวิตหรือพิการได้ เช่น โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน หัดเยอรมัน คางทูม โปลิโอ ฯลฯ

วัคซีนยุคใหม่สำหรับเด็ก

วัคซีนจะมีผลกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรค ทำมาจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคชนิดนั้น โดยใช้ความร้อนหรือสารเคมีบางชนิดทำให้เชื้อโรคไม่แข็งแรงพอที่จะทำอันตรายแก่เราได้ เพียงแค่กระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น โดยค่อยๆ สะสมเพิ่มทีละน้อยจนป้องกันโรคได้

ในประเทศไทย เด็กไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนบีซีจี เพื่อป้องกันวัณโรค โรคที่อันตรายที่กลับมาอีกครั้งพร้อมเอสด์ และอาจจะมีการดื้อยาในอนาคต วัคซีนหลักซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทางราชการมโนบายให้เด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองคือ ป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอชนิดกิน หัด หัดเยอรมัน คางทูม โรคตับอักเสบบี โรคสมองอักเสบเจอี

วัคซีนพิเศษบางชนิด

นอกจากนี้วัคซีนบางชนิดที่มีราคาแพงและทางราชการยังไม่ได้ให้บริการแต่ผู้ปกครองสามารถจัดหาให้แก่เด็กได้ด้วยการออกค่าใช้จ่ายเอง ได้แก่วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนฮิบ วัคซีนโปโลโอชนิดฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อมีชีวิต ฯลฯ เนื่องจากมีวัคซีนเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงมีความสามารถที่รวมวัคซีนหลายชนิดเพื่อฉีดในเข็มเดียวกัน เด็กจะได้ไม่ต้องเจ็บตัวหลายครั้ง วัคซีน ที่มีการนำมาผลิตรวมเข็ม ได้แก่ วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนฮิบ และวัคซีนตับอักเสบบี

พ่อแม่มีส่วนช่วยในการพาลูกไปรับวัคซีนได้อย่างไร

  • ควรนำเด็กมารับวัคซีนในขณะที่แข็งแรงดี ถ้าเจ็บป่วยควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน
  • การรับวัคซีนสามารถเลื่อนกำหนดนัดหมายได้ 2-4 สัปดาห์โดยช่วงอายุและจำนวนครั้งที่ของการรับวัคซีนแต่ละครั้ง
  • ในกรณีถึงช่วงอายุที่ต้องรับวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่ได้พาเด็กไป ขอให้ไปรับทันทีทีทำได้ ไม่ว่าจะทิ้งช่วงไปนานเท่าไรก็ตาม
  • วัคซีนทุกชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ต่างกัน ส่วนใหญ่เด็กจะเป็นไข้เจ็บปวดเฉพาะที่ งอแง ไม่สบายตัว หากเด็กมีความผิดปกติใดที่คุณไม่มั่นใจ ควรนำมาพบแพทย์ทันที
  • หากมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบเย็น หากมีไข้ควรให้เด็กกินยาลดไข้แก้ปวดในขนาดที่เหมาะสม เด็กที่เป็นโรคชักจากไข้ควรให้กินยาลดไข้ทันทีหลังฉีดวัคซีน
  • ควรเฝ้าสังเกตอาการของเด็กในโรงพยาบาลหลังจากได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที จึงพาเด็กกลับบ้าน และควรสังเกตอาการต่อที่บ้านด้วย
  • ควรเก็บบันทึกการรับวัคซีนของเด็กไว้ตลอดไป เพื่อเป็นหลักฐานว่าเด็กได้สร้างภูมิคุ้มกันโรคไว้บ้างแล้ว