การได้ยินของทารก

พัฒนาการการได้ยินของทารก กระตุ้นการได้ยินอย่างไร

ทักษะการได้ยินของทารกมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการได้ยินเป็นประสาทสัมผัสหนึ่งที่ช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้และสื่อสารได้ ซึ่งเริ่มต้นจากการฟังเสียงและเลียนแบบเสียงนั่นเองค่ะ ดังนั้นการได้ยินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของพัฒนาการของลูกน้อยค่ะ และทารกจะได้ยินเมื่อไหร่นั้น เป็นคำถามที่ยากที่สุดและไม่สามารถสรุปที่แน่ชัดได้ค่ะ เนื่องจากทารกสามารถได้ยินตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ สังเกตได้จากการตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อลูกน้อยคลอดคุณแม่สามารถสังเกตได้จากปฏิกิริยาของลูกน้อยเมื่อได้ยินเสียง ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มต้นเมื่อลูกน้อยอายุ 4 – 7 สัปดาห์ และคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินดังนี้

  • ช่วงอายุ 0 – 3 เดือน เมื่อได้ยินเสียงจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงบางอย่าง เช่น เงียบลงเพื่อฟัง ส่งเสียงตอบกลับเสียงที่ได้ยิน หรือขยับตัวตอบรับเสียง เป็นต้น
  • ช่วงอายุ 6 – 9 เดือน เด็กช่วงวัยนี้เมื่อได้ยินเสียง มักจะแสดงพฤติกรรมการเอียงหูหรือหันหน้าหาเสียงที่ดังขึ้น หรือส่งเสียงตอบรับเสียงเรียกชื่อค่ะ
  • ช่วงอายุ 10 – 15 เดือน เด็กๆสามารถส่งเสียงเลียนแบบตามที่ได้ยินซ้ำๆได้ เข้าใจเสียงต่างๆมากขึ้น เช่น เสียงสัตว์ต่างๆ เป็นต้น

วิธีการส่งเสริมทักษะทางด้านการได้ยินให้กับลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้

  • การพูดคุยสบตากับลูกบ่อยๆ หรือการเล่านิทานน้ำเสียงน่าตื่นเต้นจะช่วยดึงดูดความสนใจได้ดีค่ะ
  • การร้องเพลงกล่อมหรือเปิดเพลงให้ฟัง เพราะเสียงดนตรีจะช่วยให้ลูกผ่อนคลายค่ะ
  • ของเล่นที่มีเสียงที่เหมาะกับช่วงวัยให้ลูกเล่น เช่น ทารกควรเป็นของเล่นอ่อนนุ่ม เป็นต้น
  • เมื่อถึงเวลานอนควรนอนในห้องเงียบๆ ไม่มีเสียงรบกวน เพื่อสอนให้ลูกแยกแยะความแตกต่างระหว่างการมีเสียงและความเงียบค่ะ

การคัดกรองการได้ยินสำหรับทารก

การคัดกรองการได้ยินสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 2 วันขึ้นไปค่ะ แต่กระทำได้ค่อนข้างยากต้องใช้แพทย์ผู้เชียวชาญในการตรวจการได้ยินโดยเฉพาะ เพื่อดูพฤติกรรมสนองของทารกแรกเกิดต่อเสียงที่กระตุ้นค่ะ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองการได้ยิน ได้แก่ 

  • ทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม
  • เด็กที่มีภาวะขาดออกซิเจนรุนแรงตั้งแต่แรกเกิด
  • เด็กที่มีความผิดปกติของโครงหน้า ศีรษะและหูแต่กำหนด
  • คุณแม่มีภาวะติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เริม เป็นต้น
  • เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวหูตึงตั้งแต่ยังเล็ก

เพื่อให้ลูกน้อยเจริญเติบโตมีพัฒนาการเหมาะสมกับช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่ควรติดตามพัฒนาการของลูกอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพบความผิดปกติหรือหากสงสัยว่าลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้าทางด้านไหนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบพัฒนาการของลูกค่ะ