ช่วงนี้ฝนตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เด็กๆเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งมีระบบภูมิต้านทานโรคยังไม่แข็งแรง และมีการระบาดหนักของเชื้อไวรัสอาร์เอสวี(RSV) หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเด็กเล็กต้องระวังค่ะ
ไวรัส RSV คืออะไร
RSV หรือ Respiratory syncytial virus เป็นไวรัสที่พบบ่อย เจริญเติบโตได้ดีช่วงที่มีอากาศชื้นและแพร่กระจายได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาการคล้ายกับไข้หวัดแต่มีความรุนแรงกว่า ในเด็กเล็กมักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย อันตรายต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ
สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV
การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆจากการใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วย เช่น การไอ จาม เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสอาร์เอสวีเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูกและปาก เชื้อไวรัสพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอ หรือการจาม และจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง
อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV
การติดเชื้อไวรัส RSV ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคหวัด ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ไอแห้ง เจ็บคอ ฯลฯ โดยเชื้อไวรัสนี้มีระยะการฟักตัว 4 – 6 วันหลังจากได้รับเชื้อ และสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมฝอยอักเสบ เป็นต้น ซึ่งมักแสดงอาการดังนี้
- ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เซื่องซึม เบื่ออาหาร
- หายใจเร็ว หรือหอบเหนื่อยและหายใจลำบาก
- ไออย่างรุนแรง มีเสมหะข้นเหนียวมาก
- มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- ปากหรือเล็บมีสีเขียวคล้ำจากการขาดออกซิเจน
หากลูกมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการแทรกซ้อนและทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หยุดหายใจเป็นช่วงๆหรือหายใจล้มเหลวได้ค่ะ
การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV
การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV เป็นการรักษาตามอาการหรือการประคับประคอง เพื่อให้ระบบทางเดินหายใจดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่พบอาการรุนแรงหรือในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น การรับประทานยาลดไข้ ยาลดเสมหะหรือดูดเสมหะออก ลดอาการบวมของทางเดินหายใจ ในบางรายอาจต้องทำการพ่นยาเพื่อขยายหลอดลม อาจต้องและใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจหากพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ RSV
การติดเชื้อ RSV ในเด็กเล็ก อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและผลกระทบระยะยาวได้ เช่น โรคปอดบวมหรือหลอดลมฝอยอักเสบ ทำให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อในหูชั้นกลาง โรคหอบหืด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ RSV รุนแรงมีความเสี่ยงระยะยาวในการพัฒนาเป็นโรคหอบหืดได้ ในบางรายอาจทำให้หัวใจลมเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ค่ะ
การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV
เนื่องจาก RSV สามารถแพร่กระจายได้ง่ายโดยการสัมผัส และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสได้ดังนี้
- คุณพ่อคุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสทารก
- การสอนให้ลูกล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- รักษาความสะอาดที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้และของเล่นให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงการการพาลูกน้อยไปยังที่แออัดในช่วงที่มีระบาดของเชื้อไวรัส
- หากมีความจำเป็นต้องพาลูกไปสถานที่ชุมชน เช่น โรงพยาบาล ควรสวนใส่หน้ากากอนามัย
- หากลูกป่วยเป็นหวัด ควรพักรักษาตัวให้หายก่อนไปโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น
- หากผู้ปกครองเป็นหวัดควรหลีกเลี่ยงการกอดและจูบลูกจนกว่าจะหายดี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และการพักผ่อนให้เพียงพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง
Leave a Reply