7 ผดผื่น ปัญหาผิวหนังเด็ก

7 ผดผื่น ปัญหาผิวหนังเด็ก

ผดผื่นปัญหาผิวหนังทารก และเป็นปัญหากวนใจพ่อแม่ ถึงแม้ว่าจะคอยดูแลลูกน้อยอย่างดี แต่ทำไมผดหรือผื่นมักจะเกิดขึ้นกับลูกของเรา หรือลูกแพ้อะไรหรือเปล่าและอีกหลากหลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับปัญหาผิวหนังของลูกน้อย ดังนั้นวันนี้เราจึงรวบรวมปัญหาผิวที่มักจะเกิดกับลูกรัก รวมไปถึงวิธีการรักษาเบื้องต้นมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

7 ผดผื่น ปัญหาผิวหนังของทารก

ผดร้อน

ผดร้อน (miliaria)

พบบ่อยในทารกในช่วงอายุ 1 – 4 สัปดาห์ เกิดจากการอุดตันของท่อระบายเหงื่อ เนื่องจากการพัฒนาของต่อมเหงื่อและผิวหนังของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ มักเกิดในช่วงอากาศร้อน ลักษณะเป็นผดตุ่มแดง ผดตุ่มใส และผดตุ่มหนองขนาดเล็กๆ พบบ่อยที่ใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก ข้อพับต่างๆหรือในบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้า และอาจพบอาการคันร่วมด้วย ผดร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่หายได้เองเมื่ออากาศเย็นสบาย การดูแลลูกน้อยคุณพ่อคุณแม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าเบาสบายระบายอากาศได้ดีโดยเฉพาะในวันที่มีอากาศร้อนค่ะ 

ผื่นแดงผื่นแดง ETN (Erythema Toxicum Neonatorum )

พบได้ในทารกแรกเกิดถึง 15 วันและไม่ทราบสาเหตุการเกิดผื่น พบได้ตามลำตัว แขนและขา ลักษณะของผื่นแดงชนิดนี้มีขนาด 1-3 เซนติเมตร มีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองอยู่ตรงกลาง และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวไม่อันตรายต่อเด็กและสามารถหายได้เองใน 1 สัปดาห์ค่ะ

ผื่นผื่น (Milia)

เกิดจากการตกค้างบนสุดของชั้นผิวหนังกำพร้าของสารที่มีชื่อว่า สารเคอราติน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในหนังกำพร้า ผมและเล็บ ผื่น Milia มีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดขาวๆ เหลืองๆคล้ายสิวแต่ไม่ใช่สิว มักพบที่บริเวณหน้าผาก แก้ม จมูกของทารก อาจจะพบที่ในช่องปาก เหงือกและกลางเพดานปากค่ะ ผื่นชนิดนี้ส่วนใหญ่หายเองภายใน 1 – 2 เดือน หากไม่หายหรือพบการกระจายมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

ผื่นผ้าอ้อมผื่นผ้าอ้อม (Diaper rash)

เป็นปัญหาที่พบบ่อยของลูกน้อยทารกวัย 9-12 เดือน มักสร้างความระคายเคืองไม่สบายตัวให้ลูกน้อย เกิดจากการเสียดสีของผิวหนังกับผ้าอ้อม การระคายเคืองจากอุจจาระ ปัสสาวะหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ทิชชูเปียก ผ้าอ้อม เป็นต้น ผื่นผ้าอ้อมทั่วไปมีลักษณะเป็นผดผื่นสีแดงเป็นปื้นๆบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม หรืออาจการกระจายไปในบริเวณท้องหรือโคนขา และมีอาการบวมแดง เจ็บหรือคันเมื่อมีการสัมผัสโดน การรักษาที่ดีที่สุดคือ การดูแลรักษาความสะอาดเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย เพื่อป้องกันการอับชื้น และเมื่อพบว่ามีผื่นขึ้นควรทาด้วยขี้ผึ้งหรือครีมลดผื่นแพ้สำหรับเด็ก เพื่อป้องกันการเสียดสีที่เกิดขึ้นค่ะ

ผื่นเซ็บเดอร์มผื่นเซ็บเดอร์ม (seborrheic dermatitis)

ผื่นเซ็บเดอร์มหรือผื่นแพ้ต่อมไขมัน มักพบในทารกช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม สภาพอากาศ เป็นต้น เป็นโรคที่มีการอักเสบของผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นแดงมีสะเก็ดเหลืองของไขมันปกคลุม มักพบบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า หู คอ และบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม ผื่นชนิดนีสามารถหายได้เองภายในหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน หรือคุณแม่สามารถดูแลได้ด้วยการทาน้ำมันมะกอกหรือเบบี้ออยล์ในบริเวณที่เกิดผื่นดังกล่าว ทาทิ้งไว้ 15-20 นาทีแล้วล้างอ่อนอาจใช้แปรงขนนุ่มแปรงเบาๆ เพื่อให้สะเก็ดนุ่มและหลุดลอกออกมา แต่ในเด็กที่มีการอักเสบรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรพบแพทย์พบรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ 

สิวฮอร์โมนสิวฮอร์โมน (neonatal acne)

พบได้ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง การเกิดสิวในทารกไม่ใช่โรคผิวหนังค่ะ แต่เป็นกลไหตามธรรมชาติของการผลิตฮอร์โมนโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากฮอร์โมนเพศชายที่ค่อนข้างสูงไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน มีลักษณะเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง พบเฉพาะที่ใบหน้าพบบ่อยบริเวณแก้มแต่อาจพบที่หนังศีรษะ โดยปกติสิวฮอร์โมนในเด็กจะหายได้เองภายใน 2 – 4 สัปดาห์ การดูแลรักษาในช่วงที่ทารกเป็นสิวควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง เพื่อป้องการการระคายเคืองและไม่ควรทาโลชั่นหรือน้ำมัน เพราะจะทำให้อุดตันรูขุมขนมากขึ้นค่ะ

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

มักพบและแสดงอาการในช่วงอายุ 2 – 5 ปี ซึ่งไม่ทราบสาเหตุของการเกิดผื่นที่แน่ชัด อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมหรือภาวะทางภูมิต้านทานโรคของลูกน้อย ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นอาการของผิวหนังอักเสบทำให้ผิวแห้ง แดง มีผื่นหรือตุ่มน้ำเล็กๆ ส่วนใหญ่จะขึ้นบริเวณหน้าผาก แก้ม แขนและขา มักมีอาการคันร่วมด้วย และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันอาการลุกลามได้ เช่น ดูแลผิวของลูกให้ชุ่มชื้นค่ะ 

ผดผื่นในเด็กที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่เพราะลูกของคุณแพ้นมหรือแพ้อาหารค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปเองค่ะ หากไม่พบอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจหรือเกิดข้อสงสัยว่าเป็นผื่นประเภทไหน ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ