6 โรคยอดฮิตในฤดูหนาว

6 โรคยอดฮิตในฤดูหนาว ที่เด็ก ๆ มักเป็นกันบ่อย

ตอนนี้เราได้เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว และหลายๆพื้นที่อาจมีอากาศเย็นลงบางแล้ว ซึ่งช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงคุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวัง เด็กๆไม่สบายเยอะมากค่ะ เนื่องจากอากาศแห้งและเย็นจึงเอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ และในบางพื้นที่อาจจะเย็นลงโดยเฉียบพลัน ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายต้องปรับอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายโดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งต้องระมัดระวัง 6 โรคระบาดที่มาพร้อมกับหน้าหนาว ดังนี้

โรคไข้หวัดใหญ่(Influenza)

โรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจคล้ายโรคหวัดธรรมดา แต่มีความรุนแรงมากกว่ามาก เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน จากเชื้อไวรัสอินฟลูเอ็นซาไวรัส (influenza virus) ไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ชนิดเอ ชนิดบีและชนิดซี และเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบบ่อยมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

อาการไข้หวัดใหญ่ โดยจะมีอาการหนาวสั่น มีไข้สูง 38-41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง คัดจมูก มีน้ำมูกใส เจ็บคอ ปวดเหมื่อยตามกล้ามเนื้อ ในเด็กมักจะพบอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

การรักษาไข้หวัดใหญ่ คุณแม่สามารถดูแลในเบื้องต้นได้ด้วยการทานยาสดไข้สำหรับเด็ก ดื่มน้ำสะอาดมากๆ นอนหลับพักผ่อน หากลูกมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ควรพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

โรคปอดบวม(Pneumonia)

โรคปอดบวม

ปอดบวม หรือภาวะอักเสบของปอด พบบ่อยในเด็กเลกอายุต่ำกว่า 1 ปี เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราหรือพยาธิในปอด และแพร่กระจายจากการไอ จาม และการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

อาการของปอดบวมคือ มีไข้ ไอ หนาวสั่น หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก บางรายอาการรุนแรงจะหายใจแรงจนจมูกบานหรือหน้าอกบุ๋ม มีเสียงหายใจครืดคราด และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

วิธีการป้องกันโรคปอดบวม คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรคที่ทำให้เกิดปอดบวม เช่น วัคซีนไอพีดี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค และหลีกเลียงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมถึงสวมใส่เสื้อกันหนาวและเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายเสมอ

โรคหัด (Measles)

โรคหัด

หัด หรือไข้ออกผื่น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า รูบีโอราไวรัส (rubeola virus) สามารถติดต่อได้โดยการไอ จาม หายใจสูดเอาเชื้อไวรัสที่ลอยในอากาศเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย โรคหัดพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอันตรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ 

อาการโรคหัด ในระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูงตลอดเวลารับประทานยาลดไข้ก็ไม่ลด ซึ่งต้องระวังอาการชักค่ะ ไอมาก ตาแดง หรือน้ำมูกไหล เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย บางรายอาจมีการถ่ายเหลว หลังมีไข้ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นสีแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุดกระจายทั่วร่างกาย และหลังจากผื่นออกเต็มที่แล้วผื่นดังกล่าวจะค่อยๆ จางลง และหายไปภายใน 7-10 วันหรือนานกว่านี้

การรักษาและป้องกันโรคหัด คือ ควรพบแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง การทานยาลดไข้ เพื่อป้องกันอาการชักซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตค่ะ และสามารถป้องกันด้วยการวัคซีนป้องกันช่วงที่เด็กมีอายุ 9-12 เดือน  และกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ 

โรคหัดเยอรมัน (Rubella)

โรคหัดเยอรมัน

หัดเยอรมัน หรือหัดสามวัน เป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสรูเบลลาไวรัส (Rubella virus) แพร่เชื้อและติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือหายใจรดกันค่ะ

อาการโรคหัดเยอรมัน คล้ายกับโรคหัดแต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่า ผื่นกระจายทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง และมักจะหายได้เองภายใน 3 วัน โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงค่ะ

การดูแลรักษาและการป้องกันหัดเยอรมัน เนื่องจากเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและหายได้เองภายใน 3 วัน ดังนั้นคุณแม่สามารถดูแลได้เองที่บ้านค่ะ การป้องกันสามารถทำได้โดยการวัคซีนป้องกันโรคโรคหัด ตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)

โรคอีสุกอีใส

อีสุกอีใส หรือโรคไข้สุกใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัสชนิดที่ 3 (Human herpesvirus type 3) สามารถติดต่อผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม การสัมผัสถูกตุ่มน้ำของผู้ป่วย รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกันค่ะ

อาการโรคอีสุกอีใส มีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน และจะเริ่มมีไข้ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีตุ่มคัน พองใส หรือตุ่มหนอง และตุ่มแผลจะค่อยๆลอกจางหายไปเอง สิ่งที่คุณแม่ควรระวังคือการแกะเกาแผล เพื่อป้องกันการลุกลามหรือติดเชื้อที่แผลค่ะ

การดูแลรักษาโรคอีสุกอีใส เนื่องจากโรคนี้สามารถหายได้เอง แต่ควรระวังการแกะเกาแผลซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อได้ค่ะ แต่ในกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 4 สัปดาห์ ควรพบแพทย์โดยด่วนเพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานเสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่ายค่ะ

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)

โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัสและคอคซาคีไวรัส สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายและน้ำจากตุ่มใส จากการไอจาม รวมถึงการสัมผัสของสิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักจะมีอาการรุนแรง 

อาการโรคมือ เท้า ปากมีระยะฟักตัว 3 – 6 วัน และจะแสดงอาการไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส อ่อนเพลีย ไอ เบื่ออาหาร และมีตุ่มพองหรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักดีขึ้นใน 7 – 10 วัน อาการที่ต้องระวังคือภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจนำไปถึงการเสียชีวิตได้ค่ะ

การดูแลรักษาและป้องกันโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการทั่วๆไป เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม เป็นต้น และโรคมือเท้าปากยังไม่มีวัคซีนป้องกันค่ะ สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้คือการดูแลสุขภาพของลูก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยค่ะ