ปรอทวัดไข้มีกี่แบบ และแบบไหนเหมาะสำหรับลูกคุณ
เมื่อลูกตัวร้อนสิ่งแรกที่คุณใช้สำหรับการวัดไข้ได้นั้น คือการใช้หลังมือซึ่งสามารถบอกได้เพียงว่าลูกของคุณตัวร้อนหรือกำลังมีไข้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าลูกมีไข้สูงในระดับที่เป็นอันตรายหรือไม่ และจะดีกว่าไหมหากมีปรอทวัดไข้ไว้กับบ้าน เพื่อวัดอุณหภูมิลูกรักของเรา ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักและวิธีใช้งานปรอทวัดไข้ในแต่ละแบบกันค่ะ เนื่องจากในท้องตลาดมีปรอทวัดไข้สำหรับเด็กหลากหลายแบบ ซึ่งอาจสร้างความสับสนในการเลือกใช้หรือควรใช้อย่างไร และแบบไหนที่แม่นยำที่สุด เพื่อให้การวัดไข้ลูกอย่างถูกต้องค่ะ
1. ปรอทวัดไข้แบบธรรมดา หรือ ปรอทวัดไข้แบบแก้ว
ปรอทวัดไข้แบบธรรมดา หรือปรอทวัดไข้แบบแก้ว นิยมใช้ทั่วไปเนื่องจากราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่ายค่ะ และสามารถวัดได้หลายจุดในร่างกาย ได้แก่ ทางปาก ทางรักแร้ ทางทวารหนัก เป็นต้น
วิธีใช้ปรอทวัดไข้แบบธรรมดา
การใช้เทอร์โมมิเตอร์ (ปรอทวัดไข้) ชนิดนี้ ควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้ง และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า แถบบอกอุณหภูมิอยู่ต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ด้วยการสะบัดปรอทวัดไข้ก่อนใช้งานค่ะ และวิธีการใช้จะแต่งกันไปตามตำแหน่งที่ใช้งานดังนี้
- การวัดไข้ทางปาก เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุ 5 ปี ขึ้นไป ซึ่งควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกของคุณไม่มีอะไรตกค้างในช่องปาก จากนั้นนำปรอทวัดไขสอดเข้าปากบริเวณใต้ลิ้น อมไว้ประมาณ 3-4 นาที จนกว่าค่าอุณหภูมิจะหยุดนิ่งค่ะ
- การวัดไข้ทางรักแร้ เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด – 5 ปี โดยการนำปรอทวัดไข้สอดเข้าไปในรักแร้ให้ปลายปรอทที่ใช้วัดอยู่บริเวณกึ่งกลางของรักแร้ หนีบไว้อย่างน้อย 4 นาที จนค่าอุณหภูมิหยุดนิ่งค่ะ
- การวัดไข้ทางก้น เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็ก โดยการนำปรอทวัดไข้มาทาด้วยสารหล่อลื่น เพื่อลดการเสียดสีทางทวาร จับให้ลูกนอนคว่ำจากนั้นค่อยสอดปรอทวัดไข้เข้าไปในก้นอย่างระมัดระวัง ประมาณ 1.25 – 2.5 เซนติเมตร ค้างไว้ 2 นาที ให้ค่าอุณหภูมิหยุดนิ่ง การวัดทางก้นจะได้ค่าอุณหภูมิที่แม่นยำสูงกว่าตำแหน่งอื่น แต่การวัดด้วยวิธีนี้จะต้องมีความระมัดระวังเพราะอาจได้รับบาดเจ็บจากการวัดได้ค่ะ
ข้อดี/ข้อเสียปรอทวัดไข้แบบธรรมดา
- ข้อดี ปรอทวัดไข้แบบแก้ว ราคา ไม่แพง ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก
- ข้อเสีย มีความเปาะบาง ตกแตกง่าย ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่ยังอมไม่เป็น หรือไม่ให้ความร่วมมือ หรือเด็กที่มีโอกาสชักจากไข้ที่สูง และอ่านค่ายาก หากคนใช้ไม่ชำนาญ
2.ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล
ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล สามารถใช้งานได้ในทุกช่วงอายุ การใช้งานคล้ายกับปรอทวัดไข้แบบธรรมดาหรือแบบแก้ว แต่ ให้การอ่านที่แม่นยำกว่าผ่านหน้าปัดตัวเลขดิจิทัล มีเสียงเตือนเมื่อค่าอุณหภูมินิ่งและสามารถวัดได้หลายจุดในร่างกาย ได้แก่ การวัดไข้ทางปาก การวัดไข้ทางรักแร้ การวัดไข้ทางทวารหนัก เป็นต้น
วิธีการใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล
- การวัดไข้ทางปาก เป็นการวัดอุณหภูมิจากใต้ลิ้นโดยให้ปลายเทอร์โมมิเตอร์อยู่ลิ้น เหมาะสำหรับเด็กที่สามารถสื่อสารได้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปรอทวัดไข้นี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะอาจกัดจนปรอทแตกได้ค่ะ
- การวัดไข้ทางรักแร้ ด้วยการหนีบปลายเทอร์โมมิเตอร์ไว้ที่ใต้รักแร้ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายแต่อาจได้ผลไม่แม่นยำเท่ากับการวัดทางปากหรือทางทวาร เหมาะสำหรับการวัดไข้ในเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก
- การวัดไข้ทางทวารหนัก ด้วยการเสียบปลายเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปทางก้น เป็นวิธีที่นิยกใช้วัดไข้เด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ซึ่งควรทำอย่างระมัดระวังเพราะการเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บค่ะ
ข้อดี/ข้อเสีย ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล
- ข้อดี สะดวกใช้งานง่าย มีเสียงแจ้งเตือนเมื่อถึงการอ่านค่าที่แสดงการวัดไข้
- ข้อเสีย อาจเสียง่ายเมื่อมีการตกหล่นหรือกระแทก และไม่ควรนำไปล้างน้ำให้เปียกทั้งปรอท ควรเช็ดทำความสะอาดแค่บริเวรส่วนปลายที่ใช้วัดไข้
3.เครื่องวัดอุณหภูมิแบบแถบเทปวัดไข้
แถบวัดอุณหภูมิสามารถใช้ได้กับทุกวัย สะดวก ปลอดภัยและสามารถอ่านค่าได้อย่างรวดเร็ว
วิธีใช้แบบแถบเทปวัดไข้
- ควรเช็ดเหงื่อบริเวณหน้าผากของลูกให้แห้งเสียก่อน
- นำแถบเทปวัดไข้วางทาบลงบนกลางหน้าผากของลูกทิ้งไว้ประมาณ 15 วินาที ค่าความร้อนจะค่อยๆปรากฏขึ้นค่ะ
ข้อดี/ข้อเสีย แถบเทปวัดไข้
- ข้อดี สะดวกใช้งานง่าย สามารถวัดไข้ได้โดยไม่ต้องปลุกลูกหากกำลังหลับอยู่
- ข้อเสีย อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ หากใช้งานไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ในขณะที่ลูกมีเหงื่อออกมาก วางในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
4.เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด สำหรับใช้วัดทางหูหรือทางหน้าผาก
เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด สามารถใช้ได้กับทุกช่วงอายุได้รับความนิยมใช้ในสถานพยาบาลต่างๆ ใช้งานง่าย ปลอดภัยและอ่านค่าความร้อนได้แม่นยำแต่มีราคาแพงกว่าปรอทวัดไข้ประเภทอื่น เครื่องวัดอุณหภูมิประเภทนี้อ่านความร้อนอินฟราเรดจากด้านในของหูหรือหน้าผาก
วิธีใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด
- การวัดไข้ทางหู โดยการใส่เครื่องเข้าไปในรูหู ทำการดึงใบหูเพื่อให้เครื่องวัดอุณหภูมิอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิค่ะ
- การวัดไข้ทางหน้าผาก โดยการยิงแสงวัดไข้ไปที่บริเวณหน้าผ้าของลูกน้อย จากนั้นเครื่องก็จะแสดงค่าการวัดไข้ผ่านหน้าจอค่ะ
ข้อดี/ข้อเสียเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด
- ข้อดี สามารถตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายได้แม่นยำ ปลอดภัยและรวดเร็ว
ข้อเสีย ราคาค่อนข้างแพง วิธีการใช้และการดูแลรักษาเครื่องอาจมีความยุงยากและควรระมัดระวังมากกว่าแบบอื่นค่ะ
นอกจากนี้ การเลือกเครื่องวัดที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับการใช้งานแล้ว คุณแม่ควรศึกษาวิธีการใช้งานที่ถูกวิธีตามคำแนะนำด้วยนะคะ เพื่อการใช้งานได้ปลอดภัยและถูกต้องแม่นยำค่ะ
การอ่านค่าปรอทวัดไข้
ปรอท เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งในปัจจุบันปรอทวัดไข้มีหลายแบบด้วยกัน เช่น แบบธรรมดาคือแบบแก้ว แบบดิจิตอล แบบแถบวัดไข้ และแบบอินฟาเรด ซึ่งหน้าที่ของปรอทใช้เพื่อวัดอุณหภูมิของร่างกาย สังเกตอาการผู้ป่วยและช่วยในการวินิจฉัยโรค
การแปลค่าตัวเลขของปรอท
- 41 องศาเซลเซียน ขึ้นไป เรียกว่า ไข้สูงมาก
- 39-41 องศาเซลเซียน เรียกว่า ไข้สูง
- 38-39 องศาเซลเซียน เรียกว่า ไข้ปานกลาง
- 37-38 องศาเซลเซียน เรียกว่า ไข้เล็กน้อย
- 36.5-37 องศาเซลเซียน เรียกว่า อุณหภูมิปกติ
- 35.5-36.5 องศาเซลเซียน เรียกว่า อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ