โรคไซนัสอักเสบในเด็ก

โรคไซนัสอักเสบในเด็ก

โรคไซนัสอักเสบในเด็ก
ลูกป่วยบ่อยหรือไซนัสอักเสบ วันนี้แอดมินจะพามาไขข้อข้องใจค่ะ เกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบที่ใครๆคิดว่าเด็กไม่เป็น ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบและมักมองข้ามไป เนื่องจากมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกับโรคหวัดและภูมิแพ้ค่ะ

โรคไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่มีการอักเสบของโพรงอากาศในกระดูกใบหน้าบริเวณรอบๆจมูก ซึ่งเชื่อมต่อกับโพรงจมูกทั้ง4 คู่ (ด้านข้างจมูก ดั้งจมูก หัวคิ้ว และด้านหลังจมูก) โดยเกิดขึ้นจากการเป็นหวัดนานเกิน 10 วัน จมูกเกิดอาการบวมจากการติดเชื้อโรคลุกลามไปยังเยื่อบุโพรงไซนัส ทำให้กลไกการกำจัดน้ำมูกผิดปกติไป มีการคั่งค้างของน้ำมูกใสๆภายในโพรงไซนัสและเปลี่ยนเป็นข้น เหลือง เขียวได้ กลายเป็นอาการของไซนัสอักเสบกำเริบ โดยพบว่าผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศจะเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไปค่ะ เนื่องจากเยื่อบุภายในโพรงจมูกมักบวมและมีการอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไซนัสอักเสบ,อาการ,การรักษา
ไซนัสอักเสบ,อาการ,การรักษา

อาการของโรคไซนัสอักเสบในเด็ก ส่วนใหญ่จะคล้ายกับโรคหวัด มีไข้ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสหรือข้น เหลือง เขียว ข้อสังเกตหากพบว่าเด็กมีอาการไข้หวัดแย่ลงหรือเป็นมานานกว่า 7-10 วัน มีน้ำมูกไหลข้น ลมหายใจมีกลิ่น เบื่ออาหาร มีเสมหะในคอ ไอ โดยมักไอมากตอนนอนในเวลากลางคืน เนื่องจากน้ำมูกไหลลงคอในท่านอนราบ ในเด็กโตอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการปวดศีรษะบริเวณดั้งจมูก หน้าผาก หรือหัวคิ้ว ลมหายใจมีกลิ่น จมูกไม่ได้กลิ่น ในบางรายหากมีอาการรุนแรงจะมีได้สูงมากกว่า 39 องซาเซลเสียด น้ำมูกสีเขียวข้นเป็นหนอง กลิ่นเหม็น เป็นต้น หากคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคไซนัสอักเสบ ควรพาพบหมอเพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างถูกต้องค่ะ

โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากไซนัสอักเสบ

  • การติดเชื้อจากโพรงไซนัสลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใบหน้ารอบเบ้าตา (periorbital cellulitis) ทำให้หนังตาและหน้าบวมแดง และที่พบได้แต่ไม่บ่อยได้แก่ การติดเชื้อของกระดูกบริเวณใบหนัา (osteomyelitis) การติดเชื้อของเส้นประสาทตา (optic neuritis) ซึ่งอาาจทำให้ตาบอดได้
  • โรคแทรกซ้อนทางสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง เป็นต้น
  • โรคแทรกซ้อนในกรณีที่มีน้ำมูกไหลลงคอตกลงไปบริเวณหลอดลม ทำให้มีปัญหาหลอดลมอักเสบหรือมีอาการหอบได้ มักพบว่าในเด็กที่มีปัญหาหลอดลมอักเสบหรือหอบบ่อยๆ อาจเกิดจากการเป็นโรคไซนัสอักเสบซ่อนเร้นอยู่
  • ริดสีดวงจมูก หรือก้อนในจมูกที่เกิดจากภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง

การรักษาโรคไซนัสอักเสบในเด็ก

  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อโรคซึ่งต้องให้ต่อเนื่องให้นานพอที่จะฆ่าเชื้อได้หมด หากไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด ทำให้เหลือเชื้อแบ่งตัวกลับมามีอาการใหม่ในเวลาไม่นาน และทำให้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น โดยระยะเวลาในการใช้ยาจะนานกว่าการรักษาการติดเชื้อของระบบหายใจตามปกติ เนื่องจากโพรงไซนัสเป็นบริเวณที่ยาเข้าถึงลำบาก โดยอาจจะให้นานถึง 2-6 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ยาและระยะเวลาการรักษาตามเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคนค่ะ
  • ยาแก้คัดจมูก ช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก ทำให้ของเหลวในโพรงไซนัสไหลออกได้ดีขึ้น
  • ยาละลายเสมหะ เพื่อลดความเหนียวของน้ำมูกและลดอาการคั่งค้างของน้ำมูกในโพรงไซนัส
  • การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 0.9% normal saline solution หรือ NSS จะช่วยลดอาการบวมของจมูก ลดน้ำมูกเหนียวน้อยลง กำจัดเชื้อโรคและสารกระตุ้นภูมิแพ้ออกจากจมูกได้ดีขึ้น ลดคราบน้ำมูกแห้งกรังที่อุดตันรูเปิดของไซนัส ทำให้โพรงไซนัสสะอาดเร็วขึ้น
  • ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ มักใช้ร่วมกับในบางรายที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ ช่วยลดการอักเสบจากภูมิแพ้ ทำให้อาการบวมของเยื่อบุจมูกลดลง อาการคัดจมูกดีขึ้น
  • ในบางรายที่มีอาการไซนัสอักเสบรุนแรงแพทย์จะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
  • การติดตามผลการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากผู้ป่วยควรจะต้องมารับการประเมินผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง

การดูแลป้องกันโรคไซนัสอักเสบในเด็ก ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นไซนัสอักเสบซ้ำๆค่ะ ดังนั้นหากพบว่าลูกมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคไซนัสอักเสบ ควรพาลูกพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างถูกต้องค่ะ