โรคโปลิโอ

โรคโปลิโอ(Poliomyelitis)

โรคโปลิโอ(Poliomyelitis)

โรคโปลิโอ(Poliomyelitis) หรือ ไข้ไขสันหลังอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่ก่อให้เกิดความพิการแขนขาลีบ ในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ โรคนี้มักพบในเด็กซึ่งเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน และมีการติดเชื้อเฉพาะในคนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อยค่ะ เนื่องจากโรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนค่ะ

โรคโปลิโอ เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ(Polio virus) เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่ม Entero virus ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดย่อย ซึ่งเชื้อไวรัสนี้อาจไปทำลายระบบประสาทและอาจส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อมีภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ เชื้อโปลิโอจะอาศัยอยู่ในลำไส้และเจริญเติบโตในลำไส้ และเชื้อไวรัสจะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระของผู้ป่วย การติดเชื้อโปลิโอในเฉพาะคนเท่านั้น โดยรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือติดมือผ่านคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง และเข้าสู่ร่างกายเมื่อนำเข้าปาก เชื้อโปลิโอมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน แต่อาจนานถึง 35 วัน โรคโปลิโอมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ค่ะ

ลักษณะอาการของโรคโปลิโอ สามารถแบ่งออกตามกลุ่มอาการได้น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มที่ไม่ปรากฎอาการใดๆ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการใดๆของผู้ติดเชื้อ
  2. กลุ่มที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการคล้ายกับโรคหวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดท้อง เป็นต้น ซึ่งอาการกล่าวนี้มักจะหายเป็นปกติใน 3-5 วัน
  3. กลุ่มอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักมีอาการคล้ายโรคหวัดร่วมกับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดบริเวณต้นคอ หลัง คอแข็ง อ่อนเพลีย สับสน มึนงง เป็นต้น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้สามารถหายเป็นปกติได้ค่ะ
  4. กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยแต่มีความรุนแรงที่สุด การติดเขื้อไวรัสโปลิโอสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถทำลายเซลล์ประสาทที่มีหน้าควบคุมกล้ามเนื้อของร่างกาย ลักษณะของอาการที่พบมักคล้ายกับผู้ป่วยกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หลังจากนี้ประมาณ 1 สัปดาห์จะแสดงอาการอื่นๆตามมา ได้แก่ กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ภาวะอัมพาตเฉียบพลันซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียวชั่วคราวหรือถาวรได้ค่ะ

นอกจากนี้ยังพบกลุ่มอาการหลังเกิดโปลิโอ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสโรคโปลิโอประมาณ 15 – 40 ปี ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่างๆเสื่อมบิดผิดรูป ข้อสะโพกพิการผิดรูป ขาลีบ ในบางรายอาจกลืนลำบากหรือพูดลำบากร่วมด้วย อ่อนเพลีย เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรงของโรคโปลิโอ มักพบในผู้ป่วยกลุ่มกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งมีโอกาศเสียชีวิตได้เนื่องจากเซลล์ในก้านสมองถูกทำลาย ทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ระบบไหลเวียดเลือดล้มเหลว นอกจากนี้ อาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคปอดบวม และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

การรักษาโรคโปลิโอ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะต่อเชื้อไวรัสโปลิโอ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เพื่อลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ ฯลฯ เร่งฟื้นฟูร่างกาย การกายภาพบำบัด ในบางรายอาจต้องใส่อุปกรณ์ช่วยยึดลำตัว อุปกรณ์ช่วยในการเดิน อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันข้อบิดผิดรูป ฯลฯ รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ใช้มี 2 ชนิด คือ

วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด

     วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด (OPV : Oral poliovirus vaccine)

  • วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด หรือชนิดรับประทาน (OPV : Oral poliovirus vaccine) เป็นวัคซีนที่ทำให้เชื่อไวรัสโปลิโออ่อนฤทธิ์ลง กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้เชื้อเจริญเติบโตในลำไส้ และป้องกันการแพร่กระจายของโรคโปลิโอ โดยเด็กจะได้รับวัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 12-18 เดือน และเมื่ออายุ 4 ปี
วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด

       วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด(IPV : Inactivated Poliomyelitis Vaccine)

  • วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด(IPV : Inactivated Poliomyelitis Vaccine) เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว การฉีดวัคซีนชนิดนี้เพื่อป้องกันในกรณีในอนาคตเกิดการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ จะไม่สามารถลุกลามจากลำไส้สู่งร่างกายได้ จึงทำให้ไม่เกิดอาการต่างๆของโรคโปลิโอ แต่เชื้อจะยังอยู่ที่ลำไส้และสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ค่ะ การรับวัคซีนชนิดนี้ในเด็กจะได้รับจำนวน 1 ครั้งเมื่ออายุ 4 เดือน

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่คสรพาเด็กเข้ารับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค หรือกรณีที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือรับครั้งสุดท้ายนานกว่า  10 ปีแล้ว รวมถึงควรปลูกฝังให้เด็กๆรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และเลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ เป็นต้น เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่เชื้อค่ะ