โรคเบาหวานในเด็ก

โรคเบาหวานในเด็ก

คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันเด็กมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้นค่ะ ซึ่งจะมีสาเหตุจากอะไรบ้างและมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร วันนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปหาคำตอบพร้อมกันค่ะ    

โรคเบาหวานในเด็ก คือภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นความผิดปกติของการสร้างอินซูลินหรือการทำงานของอินซูลิน ส่งผลต่อการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โรคเบาหวานในเด็กแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

เบาหวานประเภทที่ 1 (type 1 diabetes) เกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น พบได้ตั้งแต่เด็กเล็กและส่วนมากมักไม่อ้วนค่ะ อาการที่พบได้บ่อยคือ รู้สึกกระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะเยอะ หิวบ่อยทานเก่งแต่น้ำหนักลดลง อ่อนเพลีย ในบางรายที่มีภาวะรุนแรงจะพบภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาจช็อกหมดสติได้ค่ะ การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โดยการฉีดยาอินซูลิน และเจาะเลือดปลายนิ้วดูน้ำตาล ควบคู่กับการควบคุมอาหารทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอค่ะ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานประเภทนี้ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด(Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายถึงชีวิตค่ะ

เบาหวานประเภทที่ 2 (type 2 diabetes) เกิดจากจากเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองหรือดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน มักพบในเด็กที่มีภาวะโรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน หรือปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นต้น อาการที่พบได้บ่อยคือ ปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะตอนกลางคืน ผิวหนังต้นคอหนาดำ บาดแผลหายช้า ภาพเบลอมองไม่ชัดเจน และมักไม่รุนแรงพบภาวะเลือดเป็นกรดได้น้อย เป็นต้น การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการทานยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือยากกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ร่วมกับการดูแลเรื่องอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานประเภทนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น

การป้องกันโรคเบาหวานในเด็ก

ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคเบาหวานประเภท 1 ได้ค่ะ แต่สามารถลดความเสี่ยงหรือโอกาสในการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ดังต่อไปนี้

  • ควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมีความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ค่ะ
  • การดูแลร่างกายการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการทำงานต่ออินซูลินและยังช่วยลดความความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง
  • การรับประทานอาหารที่สมดุลและอุดมด้วยสารอาหาร พร้อมด้วยวิตามิน ใยอาหารและโปรตีนสูงจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ค่ะ