โรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็ก
เด็กน้อยจ้ำม่ำน่ารักน่าชังดูอุดมสมบูรณ์ แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า ความน่ารักน่าเอ็นดูนั้น กลับแฝงไว้ด้วยโรคร้ายที่กำลังคุกคามเด็กๆ ทั้งปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ทำให้เด็กๆอาจขาดความมั่นใจในตนเองและกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพและอาหารการกินของเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกมีน้ำหนักเกินจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมวัย เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพกายและใจแข็งแรงต่อไปค่ะ

สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็กเกิดจากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต ความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่บริโภคเข้าไปกับการใช้พลังงาน เช่น รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง กินจุบกินจิบหรือจบมื้อด้วยของหวานทุกวัน ไม่ชอบขยับตัว ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ หรือเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ขาดฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ มีฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์เกิน ซึ่งมักพบในกลุ่มเด็กที่อ้วนและเตี้ยที่มีระดับสติปัญญาปกติ รวมถึงโรคหรือกลุ่มอาการจำเพาะ เช่น Prader Willi syndrome, Laurence-Moon-Biedl syndrome เป็นต้น ในบางรายพบว่าเกิดจากพันธุกรรมโดยเด็กที่มีพ่อแม่พี่น้องอ้วนมีโอกาสที่จะเกิดโรคอ้วนได้เช่นกันค่ะ

โรคอ้วนในเด็ก มีความเสี่ยงต่อการเกิดดังต่อไปนี้

  • โรคไขมันในเลือดสูง ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • เบาหวานหรือความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารที่เกิดจากความอ้วน
  • ความผิดปกติระบบทางเดินหายใจ นอนกรน อาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
  • ความผิดปกติของกระดูกและข้อ เช่น กระดูกโค้งงอ ขาโก่ง เท้าแบน เป็นต้น
  • ภาวะไขมันพอกตับ ตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีบุตรยากเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
  • ขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะถูกเพื่อนล้อและอาจมีอาการซึมเศร้าตามมาได้

การประเมินโรคอ้วนในเด็ก โดยทั่วไปการประเมินการเจริญเติบโตของเด็กควรพิจารณาจากอัตราความสูงและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นควบคู่กันค่ะ ทำได้โดยการคำนวณดัชนีมวลกาย(BMI) ในเด็กต้องเปรียบเทียบกับตาราง BMI chart เทียบอายุแยกตามเพศอยู่ระหว่างเปอร์เซนไทล์ หากมากกว่า 95 เปอร์เซ็นไทล์ในกราฟแสดงการเจริญเติบโตถือว่าอ้วน หรือเปอร์เซ็นต์น้ำหนักตัวเทียบความสูงอยู่ระหว่าง 120 ถึง 140 ในกราฟแสดงการเจริญเติบโต หากพบว่าเด็กมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน แพทย์อาจทำการตรวจเลือดซึ่งประกอบด้วยการตรวจระดับไขมันในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร ระดับฮอร์โมนที่อาจผิดปกติได้ในเด็กอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนอินซูลิน ประกอบกับการสอบถามประวัติ เช่น ประวัติความเจ็บป่วยในครอบครัว สภาพจิตใจของเด็ก เป็นต้น

กราฟแสดงน้ำหนักเทียบตามอายุ
กราฟแสดงน้ำหนักเทียบตามอายุ

การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เริ่มต้นจากคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในการรับประทานอาหารและการดูแลสุขภาพของลูก เช่น การรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณอาหารไขมันสูง ของทอด ไอศกรีม ขนมหวาน และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมงค่ะ ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน แพทย์จำทำการรักษาไปตามสาเหตุของโรคอ้วน เช่น เด็กมีภาวะฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ การขาดไทรอยด์ฮอร์โมนหรือมีสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากโรคบางอย่างที่ต้องใช้สเตียรอยด์ในการรักษา เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคมะเร็งบางอย่าง เป็นต้น แต่ไม่ว่าโรคอ้วนจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม สิ่งสำคัญเป็นลำดับแรกคือการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายค่ะ

โรคอ้วนในเด็กเป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆตามมาได้ในระยะยาวได้ค่ะ ดังนั้นควรใส่ใจเรื่องอาหารการกินของลูกตั้งแต่เล็กๆ ในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ค่ะ