โรคหัด

โรคหัด โรคที่มากับฤดูหนาว

โรคหัด หรือ โรคไข้ออกผื่น โรคชนิดหนึ่งที่พบมากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตค่ะ มีการระบาดและการติดต่อได้ง่าย คุณหมอ ผศ. นพ. ชนเมศ เตชะแสนสิริ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเตือนให้ระวังโรคหัดระบาดในหน้าหนาว พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลและป้องกันโรคหัดในเด็กค่ะ

โรคหัด หรือโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัสหัด (Measles virus) ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศโดยการไอ จาม หายใจรดกัน การสัมผัสสารน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็กโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กถึงแม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคค่ะ

อาการของโรคหัดในเด็ก
โรคหัดจะมีอาการคล้ายไข้หวัดมีระยะฟักตัว 10 – 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ระยะเริ่มแรกจะมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แล้วจึงมีน้ำมูก ไอแห้งบ่อยๆ เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง จมูกแดง และจะมีตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) หรือตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็กๆตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม ซึ่งจะเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรค “หัด” เท่านั้น ในเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 3 – 4 วัน แล้วจึงขึ้นผื่นแดงๆที่หลังหูคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง จากนั้นลามไปยังหน้าและร่างกาย ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า โดยผื่นจะค่อยๆโตขึ้นและมีสีเข้มขึ้น อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3 – 5 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆและหายไปเอง เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อานเกิดขึ้นได้ค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนโรคหัด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด เนื่องจากเชื้อไวรัสโรคหัดเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายอ่อนแอลง รววมถึงเด็กขาดสารอาหารจึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ ซึ่งมักพบหลังผื่นขึ้นหรือเมื่อไข้เริ่มทุเลาแล้ว เช่น ระบบทางเดินหายใจ(โรคปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ฯลฯ) ระบบทางเดินอาหาร(โรคอุจจาระร่วง ไส้ติ่งอักเสบ ตับอักเสบ ฯลฯ) ตาบอดในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ โรคสมองอักเสบซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ขณะที่เป็นโรคหัด ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลงทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ ในกรณีที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และป่วยเป็นโรคหัดในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในทารก ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยค่ะ

ฉัดวัตซีเด็กเล็ก

วิธีป้องกันโรคหัดในเด็ก
โรคหัด เป็นโรคที่มีการติดต่อกันได้ง่ายและสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ได้ฟรีที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ตามกำหนดให้ครบ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9-12 เดือน และ 2 ปีครึ่ง และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก วัคซีนจะทำงานโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้หลั่งภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้เชื้อที่อ่อนแอลงเหล่านี้
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีน MMR หรือ MMRV จะทำให้เกิดภาวะออทิสติก แต่อาจมีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆได้ เช่น มีไข้ มีผื่นเล็กน้อย ปวดตามข้อ เกล็ดเลือดต่ำชั่วคราว ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณแก้ม คอ หรือใต้ขากรรไกร หรือชักจากการมีไข้สูง เป็นต้น

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคหัดคุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่มีผู้คนมาก ห้างสรรพสินค้า หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหัด หรือสวมหน้ากากอนามัยไปในที่ชุมชน รวมถึงฝึกให้เด็กรักษาอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนและหลังรับประทาน เป็นต้น

โรคหัดเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อลูกป่วยคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตุอาการของลูกอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆร่วมด้วย ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที่เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีค่ะ