โรคลำไส้อักเสบในเด็ก

โรคลำไส้อักเสบในเด็ก

โรคลำไส้อักเสบในเด็ก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อของลำไส้ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อพบได้จากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของลำไส้อักเสบในเด็กที่พบบ่อยที่สุดคือไวรัสโรต้า ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย การสัมผัสกับอุจจาระ สารคัดหลั่ง ของเล่น สิ่งของเครื่องใช้ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนำเข้าปาก โดยทั่วไปอาการจะค่อยๆทุเลาขึ้นและหายเองได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือภาวะร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ ดังนั้นบทความนี้จึงรวบรวมข้อมูล อาการ และการดูแลรักษาลูกน้อยมาฝากค่ะ

สาเหตุโรคลำไส้อักเสบในเด็ก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส(โนโรไวรัส โรต้าไวรัส ฯลฯ) เชื้อแบคทีเรีย(ซาลโมเนลลา ชิเกลลา ฯลฯ) หรือปรสิต(คริปโตสปอริเดีย ฯลฯ) โดยรับประทานอาหารหรือน้ำดื่ม การสัมผัสสิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค รวมถึงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย โรคลำไส้อักเสบสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยอนุบาล เนอเซอรี่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กๆยังเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ค่ะ

อาการโรคลำไส้อักเสบในเด็ก

  • โรคลำไส้อักเสบในเด็กจากการติดเชื้อไวรัส อาการหลักๆที่พบคือ อาเจียนนำก่อนจะมีอาการท้องเสียถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายเป็นฟอง ก้นขึ้นผื่นแดงจากการถ่ายบ่อย รู้สึกไม่สบายท้อง และไม่ต้องการกินหรือดื่มนม ในบางรายมีไข้หรือไอร่วมด้วย
  • โรคลำไส้อักเสบในเด็กจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาการหลักๆที่พบคือ อาเจียนนำก่อนจะมีอาการถ่ายปนเลือดไม่สบายท้อง ปัสสาวะน้อย ในบางรายมีไข้หรือซึมร่วมด้วย

นอกจากนี้ หากพบว่าลูกมีอาการซึม ร้องไห้งอแง อาเจียนติดต่อกันหลายชั่วโมง ถ่ายเหลวหรือถ่ายปนเลือด มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย ตัวซีด ปัสสาวะน้อยมีสีเข้ม ปากแห้ง ไม่ทานอาหารหรือน้ำ ควรรีบพาลูกน้อยพบแพทย์ทันทีค่ะ

การดูแลรักษาโรคลำไส้อักเสบในเด็ก
เนื่องจากยังไม่มียารักษาจำเพาะโรค แต่มีวัคซีนเสริมสำหรับป้องกันโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 และ 4 เดือน ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ และร่างการสามารถฟื้นตัวจากอาการต่างๆ และหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังคือ ภาวะร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงเสียช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สอนให้ลูกรู้จักรักษาสุขอนามัย โดยรู้วิธีการล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รวมถึงการไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นค่ะ

ทั้งนี้ การเจ็บป่วยเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่สิ่งที่ทำได้คือการดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หากสังเกตพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ