โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก

ปัจจุบัน โรคภัยไข้เจ็บมีมากมายทั้งโรคที่รู้จักและไม่รู้จัก ติดต่อกันได้ง่าย บางโรคเป็นแล้วหายยาก บางโรคก็กลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกอยู่เสมอ หากไม่แน่ใจควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ ซึ่งคงไม่มีบ้านไหนที่อยากเห็นลูกเจ็บป่วย เพราะทุกครั้งลูกเจ็บคนเป็นพ่อแม่มักเจ็บกว่าหลายเท่า และบ้านไหนที่ลูกๆสุขภาพแข็งแรงคือว่าโชคดีมากๆเลยค่ะ บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โรคร้ายที่พบบ่อยในเด็ก สาเหตุของการเกิดโรคและการรักษาค่ะ

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอแอลแอล (Acute Lymphocytic/ Lymphoblastic Leukemia) หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นมะเร็งในเด็กที่พบบ่อยที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ประมาณ 70% ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กทั้งหมด โดยพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 2 – 5 ปี โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติได้ ลดการสร้างเม็ดเลือดแดงและทำให้เกร็ดเลือดลดลงอีกด้วย เป็นโรคที่ลุกลามเร็วและมีความรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดภาวะไขกระดูกล้มเหลว เกิดการติดเชื้อรุนแรงและมีเลือดออกรุนแรงในอวัยวะที่สำคัญค่ะ

สาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอแอลแอล
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบปัจจัยหลายอย่างที่เดี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก โดยแบ่งเป็น 3 ปัจจัยใหญ่ ได้นี้
1. ทางกรรมพันธุ์
– มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอแอลแอล พบโอกาสเกิดโรคนี้สูงกว่าเด็กทั่วไป
– เด็กมีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม(Down’s syndrome) เป็นต้น
2. สิ่งแวดล้อม
– เด็กทีมารดาได้รับรังสีชนิดไอออนไนซ์ เช่น รังสีเอ็กซ์ (รังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการเอกซเรย์) ขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสสูงกว่าเด็กปกติ
– เด็กเคยได้รับการรักษาด้วยรังสี หรือเคมีบำบัดรักษาจากมะเร็งชนิดอื่น มีโอกาสสูงกว่าเด็กทั่วๆไปถึง 14 เท่า
3. ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
– เด็กมีภูมิต้านทานโรคบกพร่องแต่กำเนิด
– เด็กเคยได้รับการรักษาโรคด้วยยากดภูมิคุ้มกันโรค
– ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) หรือ ไว รัส เอชไอวี(HIV)

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอแอลแอลในเด็ก
อาการทั่วๆไปที่พบบ่อย คือ มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นๆหายๆ ภาวะซีด ผิวหนังซีด อ่อนเพลีย ปวดตามเนื้อตัว ปวดกระดูกและข้อ น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
อาการที่เกิดจากการทำงานของไขกระดูกผิดปกติ คือ มีจุดแดงคล้ายจากไข้เลือดออกกระจายทั่วตัว มีรอยฟกช้ำ จ้ำห้อเลือดได้ง่าย เลือดออกง่ายผิดปกติและบ่อยครั้ง เช่น เวลาแปรงฟัน หรือเลือดกำเดาออกง่ายผิดปกติ เป็นต้น
อาการเกิดจากมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว แพร่กระจายไปสะสมในระบบน้ำเหลืองของร่างกาย ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโต มีก้อนในท้อง ปวดท้อง โดยมีสาเหตุมาจากตับโตหรือม้ามโต
อาการที่เกิดจากมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว แพร่กระจายไปสะสมในอวัยวะต่างๆ ส่งผลต่อระบบสมอง แขนขาอ่อนแรง เนื้อเยื้อในช่องอก ทำให้หายใจลำบาก และในเด็กผู้ชายอาจะมีอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง โตหรือสองข้าง เป็นต้น

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอแอลแอลในเด็ก ต้องพิจารณาจากหลายๆปัจจัยร่วมกันค่ะ เช่น สภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค การรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยการรักษาจะแบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้
– ระยะชักนำในโรคสงบ (induction of Remission) เป็นการรักษาในระยะเริ่มแรก เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวให้มากที่สุด เพื่อให้ไขกระดูฟื้นฟูสมดุลของเซลล์เม็ดเลือด
– ระยะการรักษาเข้มข้น (Intensification or Consolidation Therapy) ซึ่งการรักษาในระยะนี้คือ การทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่หลงเหลืออยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง การให้ยาเคมีบำบัดเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด
– ระยะรักษาต่อเนื่องเพื่อให้โรคสงบตลอดไป (Maintenance Therapy) คือ ขั้นตอนสุดท้ายในการรักษา ซึ่งจะใช้ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดในขนาดยาคงที่อย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง (ที่อาจยังหลงเหลืออยู่) ให้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลับมาเป็นซ้ำ
นอกจากนี้ ในบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทางเลือกในการรักษาอื่นที่เป็นไปได้คือ การปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งผู้บริจาคที่ดีที่สุดมักเป็นพี่ชายน้องชาย หรือพี่สาวน้องสาว หรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ค่ะ

การป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิดค่ะ ดังนั้น การป้องกันรวมถึงการดูแลลูกที่ดีที่สุด หากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติต่างๆ หรือเจ็บป่วยไม่ควรชะล่าใจค่ะ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย และรักษาแต่เนิ่นๆค่ะ