โรคซึมเศร้าในเด็ก

โรคซึมเศร้าในเด็ก

โรคซึมเศร้าในเด็ก

โรคซึมเศร้าในเด็กภัยเงียบที่หลายๆคนมองข้าม และไม่เชื่อว่าเด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งความจริงแล้วเด็กมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าทั้งแบบรุนแรงและโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรังได้เท่าๆกับผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถเกิดการฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกันค่ะ โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิการบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มอายุ 35-39 ปี  โดยพบอายุต่ำสุดคือ 10 ปี และสูงสุดคือ 93 ปี การติดตามเด็กอายุ 10 ปี ที่ฆ่าตัวตายพบว่า มีลักษณะมีปัญหาในครอบครัว เป็นลูกคนเดียวและสาเหตุที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะอยากเรียกร้องความสนใจและไม่ได้สิ่งที่ต้องการจากพ่อแม่ค่ะ จากเหตุการณ์นี้คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการและพฤติกรรมของลูก เพื่อเป็นการป้องกันและรับมือกับอารมณ์ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกสู่การเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ ดังนั้นบทความนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กันค่ะ

โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้า(depression) เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง โดยที่มีอารมณ์ซึมเศร้ามีมากกว่าปกติ คือมีอารมณ์เศร้าติดต่อกันเกือบทั้งวัน ติดต่อกันทุกวันนานเกิน  2 สัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทางด้านร่างกาย จิตใจและความคิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะคอยสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในประจำเป็นอย่างมากค่ะ เช่น การรับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาการ นอนไม่หลับ มีความวิตกกังวล มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข เป็นต้น

สาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก มักประกอบไปด้วย
1. พันธุกรรม หากพบว่าคนในครอบครัวมีประวัติการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็ทำให้มีโอกาสที่คนอื่นในครอบครัวจะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
2. สารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทในสมองบางอย่างแปรปรวน และไม่สมดุลทำให้เกิดซึมเศร้าได้
3. โรคบางชนิด เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคเส้นเลือดแข็งตัวผิดปกติ เป็นต้น
4. การรับประทานยาบางชนิดสามารถทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยาเคมีบำบัด ยาลดความดัน รวมทั้งการติดสารเสพติด เป็นต้น
5. ความเครียดสะสมในเรื่องต่างๆเป็นระยะเวลานาน เช่น การเรียนหนัก ขาดความมั่นใจในตนเอง กลัวการแข่งขัน กลัวความผิดหวัง หรือแม้กระทั่งการถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเป็นประจำ รู้สึกไม่ชอบ กลัว กังวลกับบุคคลรอบข้าง มีความรู้สึกที่ไม่ดีหรือไม่สบายใจที่ต้องอยู่ด้วย ทำให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
6. การเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไป โดยที่เด็กไม่สามารถแสดงออกถึงสิ่งที่ตนต้องการได้ และมีการตั้งระเบียบกฎเกณฑ์ที่มากจนเกินไป โดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูก
7. ปัญหาภายในครอบครัว เช่น การเสียชีวิตของพ่อแม่หรือคนในครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกันรือพ่อแม่แยกทางกัน สาเหตุเช่นนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุดที่เด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย

อาการของโรคซึมเศร้าในเด็ก
– ลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ลูกเคยเป็นคนร่าเริงก็กลับกลายเป็นเด็กเริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูดเหมือนก่อน ซึมเศร้า และมักชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว
– ไม่อยากทำอะไรเลย นอนทั้งวัน หรือมักจะนั่งซึม เหม่อลอยอยู่บ่อยๆ
– มีอารมณ์เกรี้ยวกราดและก้าวร้าวขึ้น หงุดหงิดง่าย
– เศร้า ร้องไห้ บ่นอยากตาย

โรคซึมเศร้าในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่งไร
– พ่อแม่ควรหมั่นพูดคุย และสังเกตพฤติกรรมของเด็ก
– พ่อแม่ต้องให้ความใกล้ชิด และความอบอุ่นแก่ลูก โดยไม่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดหรือตึงเครียด
– เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น และรับฟังความคิดเห็นของลูกอยู่เสมอ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้น
– การหากิจกรรมทำร่วมในวันหยุด ไปพักผ่อนหรือทำกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
– ขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูก และเปิดเผยพูดคุยกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของลูกที่พบที่บ้านและโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด
– หากสงสัยว่าลูกมีอาการของโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตอย่างเร่งด่วนค่ะ call center 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อย่าปล่อยให้สายเกินกว่าจะกลับไปแก้ไขค่ะ

โรคซึมเศร้าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าครอบครัวช่วยกันสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรมของลูก ให้ความรักความเข้าใจ สอนให้เป็นเด็กเข้มแข็ง รู้จักใช้เหตุผล และแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมค่ะ ทีมงาน thaichildcare ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวค่ะ

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *