โรคคางทูม(Mumps)

โรคคางทูม

โรคคางทูม เป็นอีกโรคหนึ่งที่มักพบบ่อยในเด็กๆ วันนี้แอดมินมีข้อมูลเรื่องโรคคางทูม อาการ การรักษาและการป้องกันมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

โรคคางทูม เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจจากคนสู่คนจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อมัมส์ (Mumps) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Paramyxovirus ติดต่อกันโดยสัมผัสละอองน้ำลาย การไอหรือจาม รวมทั้งการใช้สิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนของผู้ป่วย ระยะฟักตัวของโรค 12 – 25 วัน หลังจากได้รับเชื้อทำให้มีการอักเสบของต่อมน้ำลายที่อยู่บริเวณขากรรไกรทั้งสองข้างและหน้าใบหู มักพบบ่อยในเด็กอายุ 6 – 10 ปี

อาการของโรคคางทูม
ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว บางคนอาจปวดหูขณะเคี้ยวอาหาร หรือกลืนอาหาร ต่อมาภายใน 12 – 24 ชั่วโมง จะมีอาการปวดบริเวณข้างแก้ม ขากรรไกรและใบหู อาการปวดเป็นมากขึ้นเวลาขยับขากรรไกร เวลาที่รับประทานอาหาร หรือการกลืนอาหารก็ทำได้ยากเช่นกันค่ะ หลังจากนั้นต่อมน้ำลายบริเวณขากรรไกรจะเริ่มบวมและลามไปยังหลังใบหู มากขึ้นในเวลา 1 – 3 วัน ในบางคนอาจบวมที่ใต้คางด้วย ถ้าต่อมน้ำลายใต้คางเกิดการอักเสบ โรคคางทูมส่วนใหญ่จะมีอาการคางบวมทั้ง 2 ข้าง โดยเป็นข้างหนึ่งก่อน แล้วจะเป็นอีกข้างตามมา หลังจากนั้นอาการบวมจะค่อยๆลดลงภายใน 3 – 7 วัน และอาการต่างๆจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ในกรณีที่มีอาการไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะมาก อาเจียน ปวดฟัน เหงือกบวม ปวดท้องมาก ปวดฟัน เหงือกบวมเจ็บในคอมาก หรือต่อมทอนซิลบวมแดง อัณฑะบวม ก้อนคางทูมที่บวม มีลักษณะบวมแดงมากหรือปวดมาก เป็นต้น คุณแม่ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันที

การรักษาโรคคางทูม
การรักษาโรคคางทูม เนื่องจากยังไม่มีวิธีรักษาโรคคางทูมโดยเฉพาะ และหายไปเองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ดังนั้นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น ทำได้โดยการดื่มน้ำ พักผ่อนให้มากๆ สามรถทางยาลดไข้และบรรเทาอาการปวด ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน พาราเซตตามอล และไม่ควรให้ยาแอสไพรินแก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี เพราะอาจเกิดกลุ่มอาการไรย์ซินโดรม ซึ่งจะทำให้ตับและสมองบวม อาเจียน อ่อนเพลีย ชัก และหมดสติได้ค่ะ ร่วมกับการประคบเย็นหรือร้อนบริเวณที่บวมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และควรรับประทานอาหารอ่อนหลีกเลี่ยงอาหารหรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หากอาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไปเจ็ดวัน หรือทรุดลงกะทันหันให้รีบพบแพทย์ทันทีค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนของคางทูม
โรคคางทูมสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เพราะเชื้อสามารถเข้าสู่กระแสโลหิต จึงสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายจึงอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆได้ เช่น อัณฑะอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส รังไข่อักเสบ เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ประสาทหูอักเสบ สูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราวและหายไปได้เอง ฯลฯ

การป้องกันโรคคางทูม
โรคคางทูมในเด็กสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) เริ่มฉีดครั้งแรกในเด็กอายุ 9 – 12 เดือน และครั้งที่ 2 ตอนอายุ 2 ปีครึ่งหรือ 4 – 6 ปี ค่ะ

โรคคางทูมถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่เป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามค่ะ เพราะสุขภาพของลูกเป็นส่งสำคัญ..