โรคคอตีบ(Diphtheria)

โรคคอตีบ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

โรคคอตีบ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
โรคคอตีบป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ และมีการระบาดของโรคในหลายพื้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและวิธีการป้องกันโรคคอตีบค่ะ วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้วค่ะ

โรคคอตีบ(Diphtheria) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียโครินแบคทีเรีย ดิพทีเรีย เฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื้อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่อาการรุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น การไอหรือจาม รวมถึงการใช้ภาชนะสิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วยค่ะ พบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 1 – 6 ปี และเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ โดยมีระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 2 – 5 วัน หลังจากได้รับเชื้อดังกล่าว

อาการโรคคอตีบ
โรคคอตีบ หลังจากเกิดการติดเชื้อจะพบว่าผู้ป่วยจะมีไข้สูงแต่มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส อาจมีอาการหนาวสั่น รู้สึกเหมือนเป็นหวัด อ่อนเพลีย เจ็บคอกลืนอาหารลำบาก หลังจากนั้นจะมีอากาหายใจลำบากติดขัด หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ ชีพจรเต้นเร็ว และไอคล้ายเสียงเห่า ร่วมกับมีอาการคอบวม มีแผ่นเยื่อสีเหลืองปนเทาในจมูก ต่อมทอนซิล ลำคอ กล่องเสียงและลิ้นไก่ ถ้าใช้ช้อนเขี่ยแรง ๆ แผ่นเยื่อดังกล่าวจะหลุดออกมาได้ แต่จะมีเลือดออกมาด้วยค่ะ ในบางรายอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ ทางเดินหายใจตีบตัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบทำให้อัมพาต ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ

การวินิจฉัยโรค โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคคอตีบในเบื้องต้นจากประวัติอาการ ประวัติการฉีดวัคซีน การตรวจร่างกายเพื่อดูอาการของผู้ป่วยว่ามีอาการบ่งบอกว่าเป็นโรคคอตีบหรือไม่ เช่น ไอเสียงก้องคล้ายเสียงเห่า เจ็บคอ และการตรวจหาแผ่นเยื่อในลำคอ บริเวณทอนซิล และลิ้นไก่ ร่วมกับกับการทดสอบระบบทางเดินหายใจมีอาการตีบตันหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจจะทำการเพาะเชื้อด้วย เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ เป็นต้น

การรักษาโรคคอตีบ
โรคคอตีบสามารถรักษาให้หายได้ หากมาพบแพทย์โดยเร็วและไม่ปล่อยให้อาการหนัก -โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาต้านสารพิษ Diphtheria antitoxin ยาปฏิชีวนะ และการฉีดวัคซีนโรคคอตีบเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อโรค เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่อย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่สองค่ะ

การป้องกันโรคคอตีบ เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถติดต่อกับได้ง่ายจากการสัมผัสและการหายใจ ดังนั้น เราควรป้องกันดังนี้

  • ผู้ป่วยโรคคอตีบควรแยกออกจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ เนื่องจากโรคนี้จะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์ หลังจากเริ่มมีอาการ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อค่ะ
  • ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรได้รับการดูแลและติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รักษาสุขอนามัย สุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆรวมทั้งเชื้อโรคคอตีบ
  • ในเด็กทั่วไป การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งรวมอยู่ในเข็มเดียวกับวัคซีนป้องกันไอกรน และโรคบาดทะยัก โดยสามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนขึ้นไป ต้องฉีดให้ครบ 5 เข็มเป็นระยะๆ เมื่ออายุ 2,4,6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4-6ปี ต่อจากนั้นฉีดกระตุ้นเมื่อ 12-16 ปี เฉพาะวัคซีนคอตีบและบาดทะยักค่ะ

ทั้งนี้ หากเด็กป่วยโรคคอตีบคุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังสังเกตอาการของของอย่างใกล้ชิด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญความเริ่มต้นจากการดูแลและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดค่ะ