แนวทางดูแลป้องกันเด็กจากฝุ่นละออง

แนวทางดูแลป้องกันเด็กจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

แนวทางดูแลป้องกันเด็กจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแนวทางการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่ กำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถ้าหากได้รับมลพิษทางอากาศในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อโรคเรื่องรังในระยะยาวได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาท ความรู้ความสามารถทางสติปัญญาของเด็กได้ เพราะเด็กเล็กการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ อัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ซึ่งส่งผลให้เด็กเล็กรับฝุ่นละอองนี้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองและครูพี่เลี้ยงควรดูแลเด็กและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมหรือครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด สามารถลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 10 กิโลเมตร หากมีการสัมผัสในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อหลังในระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง โรคปอด โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบ ได้แก่ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวค่ะ

ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดูแลเด็กเล็ก รวมถึงการลดมลภาวะทางอากาศที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้

  • ติดตามสถานการณ์ พื้นที่เสี่ยงของมลพิษทางอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เว็บไซต์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ที่ www.anamai.moph.go.th หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ สามารถดาว์นโหลดได้ทั้ง android และ ios ค่ะ
  • ในพื้นที่ไหนหากมลพิษทางอากาศมีค่า PM2.5 หรืออยู่ในระดับสีแดง (91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป ห้ามออกนอกบ้าน
  • ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด และควรเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน
  • คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กๆไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
  • กรณีที่มีความจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านควรสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ได้มาตรฐาน
  • รับประทานผักผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเพิ่มแอนตี้ ออกซิแดนต์ไว้ต่อสู้กับเชื้อโรค
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน
  • กรณีเด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการของเด็ก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที
  • งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น การเผาใบไม้ เผาขยะ เป็นต้น
  • ไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน
  • การปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ

ทั้งนี้ การป้องกันและลดปัญหามลพิษทางอากาศนั้น ไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยหนึ่งเท่านั้น แต่หากเป็นหน้าที่ของทุกคนควรพึงปฏิบัติดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อาจจะเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ งดการเผาไหม้หญ้าและขยะ งดการใช้รถยนต์ควันดำ เป็นต้น