เลือดกำเดาไหลในเด็ก

เลือดกำเดาไหลในเด็ก

สวัสดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่ลูกน้อยวัยซนหลายๆบ้านอาจจะเคยเกิดเหตุการณ์ลูกน้อยเลือดกำเดาไหลมาบ้างแล้ว แต่สำหรับบ้างบ้านที่ยังไม่เคยเจอกับเหตุการณ์นี้ วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ รวมถึงวิธีการดูแลรักษาเมื่อลูกน้อยเลือดกำเดาไหลมาฝากค่ะ

เลือดกำเดาไหลเป็นเรื่องที่พบบ่อยในเด็กอายุ 2 – 10 ปี เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตกหรือฉีกขาดโดยอาจมีเลือดไหลออกมาจากโพรงจมูกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และมักมีอาการเลือดออกที่ไม่รุนแรงและจะหยุดไปได้เองจากการปฐมพยาบาลด้วยตัวเองที่บ้านค่ะ ภาวะเลือดกำเดาไหลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เลือดกำเดาไหลจากโพรงจมูกส่วนหน้า คือเลือดไหลออกมาจากเส้นเลือดฝอยเนื่องจากเป็นจุดที่มีหลอดเลือดฝอยมารวมกันอยู่มาก พบได้ทั่วไปไม่เป็นอันตรายและเลือดจะหยุดไหลได้เองเมื่อผ่านไป 10-15 นาที และเลือดกำเดาไหลจากโพรงจมูกส่วนหลัง เกิดจากเส้นฝอยที่มาจากส่วนที่ลึกที่สุดของจมูกทำให้เลือดไหลออกมาทางจมูกและเข้าไปในคอเลือดหยุดไหลช้า เลือดกำเดาไหลในเด็กประเภทนี้พบได้ในเฉพาะกรณีศีรษะถูกกระทบกระเทือน

สาเหตุของกำเดาไหลในเด็ก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกันได้แก่

  • โรคภูมิแพ้ ซึ่งได้รับสิ่งกระตุ้นอาการแพ้และอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้ด้านในของจมูกบวมทำให้เส้นเลือดฝอยแตก
  • ได้รับบาดเจ็บจนจมูกกระทบกระเทือน เช่น วิ่งชนสิ่งของ ลูกบอลกระแทกหน้า เป็นต้น
  • การบาดเจ็บที่เกิดจากการกระทำ เช่น การแคะจมูก หรือใช้ของแข็งแหย่รูจมูก ฯลฯ อาจทำให้เลือดกำเดาไหลได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรียสามารถทำให้ผิวหนังภายในจมูกสีแดงและเจ็บนำไปสู่การมีเลือดออก
  • อากาศเย็นและแห้ง ทำให้เยื่อบุจมูกระคายเคืองและทำให้เกิดการขาดน้ำ
  • เด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรังและผู้ที่ต้องการออกซิเจนหรือยาบางชนิด อาจมีเลือดกำเดาไหลเนื่องจากเยื่อบุจมูกได้รับผลกระทบ
  • ฯลฯ

การปฐมพยาบาลเมื่อเลือดกำเดาไหล สามารถทำได้ดังนี้ จับลูกนั่งหลังตรง เอนตัวพร้อมก้มหน้าลงเล็กน้อย ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบจมูกค้างไว้ 5 – 10 นาที เพื่อห้ามเลือดที่ไหลจากด้านหน้าโพรงจมูก หากเลือดออกไม่หยุดใน 10 นาที ให้ทำแบบเดิมอีก 10 นาทีค่ะ หรือใช้วิธีการประคบเย็นด้วยการใช้ผ้าเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งบริเวณสันจมูก และที่สำคัญไม่ควรให้ลูกแหงนหน้าหรือนอนราบกับพื้น เพราะจะทำให้เลือดไหลเข้าไปในคอจนสำลักหรือเกิดปอดอักเสบได้ค่ะ หลังจากเลือดกำเดาหยุดไหลควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูก การสั่งน้ำมูก เป็นต้น

การป้องกันเลือดกำเดาไหลในเด็ก หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การแคะจมูกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เยื่อบุจมูก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่แห้ง รักษาความชื้นในห้องของเด็กๆ เป็นต้น หากพบว่าเด็กมีภาวะเลือดกำเดาไหลบ่อยคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกของคุณพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติมค่ะ