แพ้แป้งสาลีในเด็ก

แพ้แป้งสาลีในเด็ก

อาการแพ้สิ่งต่างๆในเด็กพบได้ทั่วไป เช่น แพ้นมวัว แพ้ถั่ว แพ้แป้งสาลี เป็นต้น จากที่เคยกล่าวไปแล้วหลายบทความ และบทความนี้เราจะมาพูดถึงเกี่ยวกับการแพ้แป้งสาลีในเด็ก การดูแลป้องกันและการรักษาอย่างไรบ้าง ตามมาเลยค่ะ

การแพ้แป้งสาลีในเด็กเกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนที่พบในข้าวสาลีผ่านกลไกทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจเกิดจากการรับประทานข้าวสาลีหรือการสูดดมแป้งสาลีเข้าไป ปัจจุบันแป้งสาลีมักเป็นส่วนประกอบอาหารหลากหลายชนิด เช่น เบเกอรี่ พาสต้า สปาเก็ตตี้ ซาลาเปา มันฝรั่งทอด โรตีสายไหม ขนมกรอบบางชนิด ฯลฯ ปัจจัยที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการแพ้แป้งสาลี ได้แก่ พันธุกรรม ปัจจัยทางด้านอายุเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โรคภูมิแพ้ทั่วไป หากเด็กที่มีการแพ้อาหารอื่นๆทำให้มีโอกาสแพ้แป้งสาลีได้ค่ะ

อาการแพ้แป้งสาลีในเด็ก

อาการแพ้แป้งสาลีมักจะแสดงอาการต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย อาการแพ้และความรุนแรงอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนี้

  • อาการแพ้ที่ส่งผลต่อระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่นแดงคัน ผื่นลมพิษ หน้าบวม ตาบวม ริมฝีปากบวมพร้อมกับอาการคันซึ่งอาจทำให้อาการบวมเพิ่มขึ้นได้ค่ะ
  • อาการแพ้ทีส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ น้ำมูกไหล ไอ จาม การแพ้ในบางครั้งอาจนำไปสู่การอักเสบของปอดหรือลำคอ ส่งผลให้หายใจลำบาก หลอดลมตีบเฉียบพลัน แน่นหน้าอก เป็นต้น
  • อาการแพ้ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการคันริมฝีปากบวม คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย กลืนลำบาก เป็นต้น
  • อาการแพ้ที่ส่งผลต่อระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เวียนศีรษะ มึนงง ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ

การรักษาแพ้แป้งสาลีในเด็ก

อาการแพ้แป้งสาลีในเด็กบางรายมีโอกาสหายได้หรือสามารถรับประทานได้เมื่อโตขึ้น ในส่วนของการรักษาเมื่อมีอาการแพ้มักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดขึ้น เช่น การทานยาแก้แพ้ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง เป็นต้น หากพบว่าลูกมีอาการแพ้ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมและการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

การป้องกันหลีกเลี่ยงการแพ้แป้งสาลีในเด็กนั้น สามารถกระทำได้เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้ดังนี้

  • ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพ้ เช่น นมวัว ไข่ ถั่วลิสง ฯลฯ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้ค่ะ ในกรณีที่คุณแม่หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติการแพ้อาหารควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำอื่นๆเพิ่มเติมค่ะ
  • ควรให้ลูกน้อยกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อยของคุณ
  • เริ่มอาหารเสริมให้กับลูกน้อยควรเริ่มเมื่ออายุ 6 เดือน และควรเริ่มทีละน้อยพร้อมกับสังเกตอาการหลังจากรับประทานอาหาร หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันทีค่ะ
  • เมื่อลูกน้อยชองคุณมีอาการแพ้แป้งสาลี ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือขนมที่สีส่วนผสมของแป้งสาลีค่ะ

ปัจจุบันกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากน้ำนมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับลูกน้อย อุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ช่วยปรับสมดุลร่างกาย เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิและการเจริญเติบโตของลูกน้อยค่ะ