หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็ก

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็ก

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็กพบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี เนื่องจากภูมิต้านทานยังน้อยและยังเจริญไม่เต็มที่ และมักเกิดร่วมกับโรคเด็กเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบ รวมถึงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การดำน้ำการว่ายน้ำที่มีการอักเสบของหู เป็นต้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง หรือหูน้ำหนวก แก้วหูทะลุและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ค่ะ

โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในหูชั้นกลาง เนื่องจากท่อยูสเตเชียนของเด็กมีขนาดเล็กและอยู่ในแนวขนานกับแนวราบทำให้มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ค่ะ ส่งผลให้เกิดมูกเหลวภายในหูชั้นกลาง เด็กส่วนใหญ่ที่มีหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันจะบ่นปวดหูและอาการอื่นๆ ได้แก่ หงุดหงิด ร้องไห้กระวนกระวาย พร้อมดึงหูข้างตัวเองบ่อยๆ ปวดแน่นๆภายในหูโดยเฉพาะเวลาที่นอนหงาย หรือมีเสียงดังในหู มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส คลื่นไส้อาเจียน มีปัญหาในการได้ยินหรือมีการตอบสนองต่อเสียงต่างๆช้า เป็นตัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะลดลงเมื่อเยื่อแก้วหูทะลุ และมีหนองไหลออกมาแล้วค่ะ

การรักษาหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็กนั้นขึ้นอย่กับอายุและความรุนแรงของเด็ก โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ทานยาแก้ปวดลดไข้เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดไข้ และยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียรักษาการอักเสบอย่างน้อย 10 – 14 วัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรงไม่ตอบสนองการรักษาด้วยยาจนทำให้มีของเหลวคั่งในหูส่วนกลาง แพทย์ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดโพรงกระดูกมาสตอยด์หรือการเจาะเยื่อแก้วหู ร่วมกับการทานยาเพื่อระบายหนองในหูชั้นกลางออกลดอาการปวดหูค่ะ

การป้องกันหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็ก เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ เนื่องนมแม่มีสารอาหารมากมายช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อต่างๆได้ค่ะ การรับวัคซีนให้ตรงตามกำหนดจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันของเด็กแข็งแรงมากขึ้น และคุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาลูกอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นหวัด เนื่องจากโรคหวัดสาเหตุต้นๆของการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันค่ะ เมื่อพบว่าลูกมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือเป็นหวัดนานเกินหนึ่งสัปดาห์ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องค่ะ ในกรณีที่ลูกป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำจนกว่าจะหายดีค่ะ

นอกจากนี้ทุกครั้งที่ลูกน้อยเจ็บป่วยหรือไม่สบายตัว คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตหากลูกร้องกวน หรือไม่ยอมดูดนมบางครั้งอาจมีไข้ตัวร้อนร่วมด้วย หรือสงสัยว่าลูกน้อยอาจป่วยเป็นโรคนี้ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคะจะได้รักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้องค่ะ