วิธีช่วยเด็กสำลักอาหาร

วิธีช่วยเด็กสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม

วิธีช่วยเด็กสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม

เด็กสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมเป็นภัยใกล้ตัวกว่าที่คิด จากผลสำรวจพบว่าการเสียชีวิตในเด็กเล็กที่พบได้บ่อย คือ เกิดจากภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม(choking) เนื่องจากเด็กเล็กชอบเอาสิ่งต่างๆเข้าปาก ทำให้เสี่ยงต่อการสำลักลงหลอดลมได้ คุณแม่สามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจของลูกได้ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งของชิ้นเล็กๆให้แก่เด็กหรือเก็บให้พ้นจากมือเด็ก เช่น ลูกอม กระดุม ลูกปัด เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ เหรียญ หรือสิ่งของอื่นๆที่ขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนกระดาษชำระ ซึ่งมีความเสี่ยงในการสำลักหรือติดคอได้ค่ะ รวมถึงน้ำหรือนมก็มีโอกาสทำให้ลูกสำลักได้เช่นกันค่ะ

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ คุณแม่ควรสอนให้ลูกเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่ให้กินขณะนอนราบ ไม่พูดและหัวเราะหรือวิ่งเล่นขณะมีอาหารหรืออมน้ำอยู่ในปากค่ะ หากลูกมีอาการของการสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะตอบสนองโดยการไอซึ่งเป็นกลไกการขับสิ่งแปลกปลอมออกจากท่อหลอดลม

แต่ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่พอที่จะอุดท่อหลอดลมจนทำให้เด็กหายใจไม่ได้โดยเฉียบพลัน ขาดออกซิเจน หัวใจหยุดเต้นและถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือลูกในกรณีฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ บทความนี้เราได้รวบรวมวิธีการช่วยเหลือเด็กจากการสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมติดคอให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กค่ะ

การช่วยเหลือเด็กสำลักสิ่งแปลกปลอม กรณีที่ลูกยังหายใจได้ พูดได้ ร้องไห้มีเสียง คุณแม่ห้ามเอาสิ่งแปลกปลอมออกด้วยตัวเองค่ะ ถึงแม้ว่าจะเห็นว่าสิ่งนั้นติดอยู่ในปากลูกก็ตามค่ะ เพราะอาจจะทำให้สิ่งนั้นเข้าไปลึกมากขึ้นจนเข้าไปอุดหลอดลมได้ค่ะ สิ่งที่คุณแม่ควรทำ คือ การปลอบลูกไม่ให้ตกใจและรีบพาไปพบแพทย์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดค่ะ และให้สังเกตการหายใจของลูกอย่างใกล้ชิดในระหว่างการเดินทางไปโรงพยาบาลค่ะ แต่ถ้าหากในกรณีที่ลูกสำลักสิ่งแปลกปลอมลงไปอุดกั้นท่อหลอดลมจนหายใจไม่ได้ พบว่าเด็กจะพยายามไอแต่ไม่มีเสียง พูดหรือร้องไห้ไม่มีเสียง หายใจไม่ได้ หน้าเขียว ตาเหลือกและหมดสติ คุณแม่ต้องทำให้สิ่งอุดกั้นหลุดออกจากหลอดลมโดยด่วน และรีบพาไปพบแพทย์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดค่ะ

วิธีช่วยเด็กสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม มีดังนี้

กรณีที่เด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติค่ะ ให้คุณแม่ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในการโทรตามรถฉุกเฉิน (เบอร์ 1669) หรือหากไม่มีใครให้คุณโทรก่อนแล้วจึงทำการช่วยเหลือ ตามขึ้นตอนดังนี้ค่ะ

วิธีช่วยเด็กสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม

คุณแม่อุ้มลูกในท่านอนคว่ำบนท่อนแขนให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัวประมาณ 60 องศา โดยการใช้ต้นขาของผู้อุ้มเป็นที่รองแขน จากนั้นใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประคองบริเวณคางเพื่อบีบให้เด็กอ้าปากไว้ ใช้ส้นมืออีกข้างทุบแรงๆบริเวณกึ่งกลางของหลังระดับแนวกระดูกสะบัก ติดกัน 5 ครั้งเร็วๆ

วิธีช่วยทารกอาหารติดคอ

หากอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุดออกมา ให้เปลี่ยนท่าเป็นการนอนหงาย ศีรษะต่ำกว่าลำตัว จากนั้นให้ใช้นิ้วชี้และกลางของมือข้างที่ถนัดกดที่กระดูกกลางหน้าอกระดับที่ต่ำลง 1 ซม.(จากเส้นที่ลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของเด็ก) โดยให้กดลึกประมาณ 1-2 ซม. 5 ครั้งห่างกันนานครั้งละ 1 วินาที หากยังไม่หลุดออกมาให้กลับไปทำตามข้อ 1 สลับกับข้อ 2 จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือหากเด็กหมดสติไปให้ทำการช่วยเหลือตามขั้นตอนดังนี้

ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวให้ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวเท่านั้นนะคะ เข้าไปที่มุมปากด้านหนึ่งกวาดเข้าไปตามกระพุ้งแก้มแล้วเกี่ยวสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาค่ะ

หากไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมดังกล่าว ให้เด็กนอนหงายโดยที่ลำคอตรงไม่ก้มหรือแหงนมากเกินไป เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้สะดวกขึ้น พร้อมทั้งดูว่าเด็กยังหายใจหรือไม่ หากพบว่าไม่หายใจให้ทำการเป่าปากและจมูกเพื่อช่วยหายใจ 2 ครั้ง และเป่าแรงพอที่จะเห็นทรวงอกขยาย หากตรวจดูแล้วว่าเด็กยังหายใจไม่ได้ ให้คุณแม่ทำซ้ำ ข้อ1 , 2 และ 4 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีทีมฉุกเฉินมาช่วยเหลือค่ะ

กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติ

วิธีช่วยเด็กอาการติดคอ

คุณแม่สามารถช่วยเหลือเด็กได้โดยที่คุณแม่ยืนหรือคุกเข่าอยู่ทางด้านหลังของลูก ใช้แขนทั้งสองข้างโอบรอบเอว โดยที่มือข้างหนึ่งกำมือให้วางทางด้านนิ้วโป้งบริเวณใต้กระดูกลิ้นปี่แต่เหนือสะดือเล็กน้อย จากนั้นวางมืออีกข้างทับบนกำปั้นนั้น และออกแรงกดมือทั้งสองเข้าไปในท้องเด็ก โดยพยายามดันมือขึ้นมาทางด้านบนในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นแรงกระแทกให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หากสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวยังไม่หลุดออกมาให้คุณแม่ทำซ้ำจนกว่าเด็กจะไอหรือหายใจได้เองค่ะ

กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 1 ขวบที่เด็กหมดสติให้ทำการช่วยเหลือดังนี้

  1. ให้ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันหรือไม่ แล้วใช้วิธีเดียวกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีในการนำสิ่งแปลกปลอมออกมา
  2. หากไม่พบสิ่งแปลกปลอมในปาก ให้เด็กนอนราบกับพื้นจากนั้นให้คุณนั่งคร่อมลำตัวเด็กโดยที่หันหน้าไปด้านศีรษะของเด็ก วางส้นมือทับซ้อนกันที่ตำแหน่งต่ำกว่ากระดูกลิ้นปี่แต่เหนือระดับสะดือ ดันมือเข้าไปในท้องทิศทางด้านศีรษะของเด็ก โดยทำซ้ำ 6 -10 ครั้งจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
    3.หากสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุดหรือเด็กยังไม่หายใจ ให้ทำการช่วยหายใจโดยการผลายปอด(ใช้นิ้วบีบจมูกแล้วเป่าลมเข้าปาก 2 ครั้ง) แรงพอที่จะทำให้ทรวงอกขยาย สลับกับการทำซ้ำข้อ 2 จนกว่าทีมฉุกเฉินจะมาช่วยเหลือค่ะ

เมื่อสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาแล้วและเด็กสามารถหายใจได้เอง คุณแม่ก็ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียดจากแพทย์อีกครั้งหนึ่งนะคะ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจหรือกลัวว่าจะทำไม่ถูกวิธีสามารถติดต่อขอรับการอบรมได้ตามโรงพยาบาลที่มีการจัดอบรมค่ะ การเรียนรู้ในภาคปฏิบัติจะง่ายกว่าการเรียนจากตัวหนังสือค่ะ เราเชื่อว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอค่ะ เป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวค่ะ