ลูกอาเจียนบ่อย

ลูกอาเจียนบ่อย

ลูกอาเจียนบ่อย
ลูกอาเจียนหรืออ๊วกบ่อย เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยผ่านไปค่ะ เนื่องจากการอาเจียนเป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบร่วมกับโรคต่างๆมากมาย เช่น โรคของทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ลำไส้อุดตัน โรคของระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำคั่งในสมอง หรืออาจเกิดจากรับประทานยาบางอย่างก็ได้ การอาเจียนมักเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ วันนี้เรารวบรวมสาเหตุหลักๆที่ทำให้เด็กอาเจียน ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการดูแลลูกน้อยของคุณ

ลูกอาเจียนบ่อยมักมีด้วยกันหลายสาเหตุตั้งแต่สาเหตุเล็กน้อยไปจนถึงสาเหตุหนัก โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ คือสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น หากพบว่าลูกอาเจียนมีเลือดปนมาด้วยถือว่าอันตรายมากค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
  • การรับประทานอาหารมากเกินไป โดยพบว่าทารกที่กินนมแม่มากเกินไป จนทำให้ลูกอิ่มมาก นมล้นกระเพาะ ก็ส่งผลทำให้ลูกอาเจียนออกมาได้ หรือในกรณีที่เด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ขวบ ซึ่งมีการป้อนอาหารเสริมแล้วอย่างน้อย 1-2 มื้อต่อวัน หากคุณแม่ให้ทานมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกอาเจียนได้เช่นกันค่ะ ส่งผลให้เด็กบางคนอาจเป็นกระเพาะคราก หรือเกิดภาวะของกรดไหลย้อนก็ได้ค่ะ
  • อาการท้องเสียและมีการอาเจียนร่วมด้วย ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร การอุดตันของกระเพาะ ลำไส้ หรือมีการอักเสบ ของทางเดินอาหาร ฯลฯ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ถ้าหากพบว่าลูกมีอาการซึม ปวดหัว หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย คุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ร่างกายลูกสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างหนักได้ค่ะ
  • อาเจียนมากและบ่อยครั้งจากภาวะการติดเชื้อในตำแหน่งต่างๆของร่างกาย โรคติดเชื้อเฉียบพลันในเด็ก ซึ่งมักจะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล เนื่องจากร่างกายมีการต่อต้านอาหารและสิ่งที่ทานเข้าไปทำให้อาเจียนออกมาทุกครั้งที่ทานอะไรเข้าไป หรืออาเจียนระหว่างวันบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที หากปล่อยไว้จะทำให้ร่างกายลูกขาดน้ำและสารอาหารอย่างรุนแรงค่ะ
  • โรคของสมองและระบบประสาทที่กระตุ้นศูนย์ควบคุมการอาเจียนโดยตรง ในกรณีที่มีการอาเจียนติดต่อกันรุนแรงควรนึกถึงภาวะความดันในสมองสูง และโรคไมเกรนด้วยเสมอ ในผู้ป่วยที่มีอาเจียนพุ่ง โดยเฉพาะเวลาหลังตื่นนอน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ชัก กระหม่อมโป่งตึง หัวโต ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตดูว่าถ้าจู่ๆ ลูกอ้วกออกมา แล้วตามมาด้วยการมีไข้ขึ้นสูง ร้องไห้งอแงมาก และมีการชักจากไข้สูงก็อาจเกิดจากการมีภาวะติดเชื้อในสมอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ค่ะ

อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเมื่อมีการอาเจียนร่วมด้วยควรรับพาลูกไปพบแพทย์ทันที

  • ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อมีการอาเจียนหรือท้องเสียค่อนข้างมาก ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ หรือการติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากอาการของเด็กเล็ก จะสังเกตดูได้ยากกว่าเด็กโตค่ะ
  • มีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่คุยร่าเริง ร่างกายดูอ่อนเพลีย ในบางรายอาจดูกระสับกระส่ายสลับกับอาการซึม
  • การเต้นของหัวใจหรือชีพจรค่อนข้างเบาและเร็ว
  • ในกรณีอาจมีอาการชัก และซึมลงร่วมด้วย
  • กระหม่อมหน้าบุ๋มลึก หรือมีกระบอกตาลึก ริมฝีปากแห้ง
  • ร้องไห้ไม่ค่อยมีน้ำตาออกมา น้ำลายแห้ง
  • ผิวหนังไม่สดใส เหี่ยวย่น แห้งๆ
  • ไม่ค่อยปัสสาวะ หรือออกมาน้อย หรือดูที่ผ้าอ้อมลูกไม่มีปัสสาวะเปียกเลยหลายชั่วโมง (6-8 ชั่วโมง)

การดูแลลูกในเบื้องต้นเมื่อมีการอาเจียนดังนี้

  • หากลูกมีอาการอาเจียนควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการอาเจียนที่ถูกต้องและทันท่วงที เนื่องจากความรุนแรงของการอาเจียนในเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
  • สำหรับเด็กที่อาเจียนไม่มาก โดยทั่วไปคุณหมอมักจะแนะนำให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่ายในปริมาณที่ลดน้อยลงจากปกติ ให้ทานน้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปกับอาเจียน โดยให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยๆ และทานยาแก้อาเจียนตามที่แพทย์สั่ง
  • สำหรับเด็กที่มีการอาเจียนมากหรือรุนแรง อาจต้องงดอาหารและให้น้ำเกลือแทน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ทำให้อาเจียนค่ะ ซึ่งในบางรายอาจรับประทานอาหารหรือน้ำไม่ได้เลย มีอาการซึมลง ขาดน้ำ กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้งมาก ตาโหลหรือผิวหนังเหี่ยว แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดต่อไปค่ะ

การอาเจียนเป็นอาการแต่ไม่ใช่โรคต้องวินิจฉัยค้นหาสาเหตุ เพราะสาเหตุบางอย่างอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะการอาเจียนมักมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเสียความสมดุลค่ะ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ