มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก

สิ่งสำคัญสำหรับคนเป็นพ่อแม่นั้น คือสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกเมื่อลูกเจ็บป่วยหรือเกิดอะไรขึ้นกับลูกก็มักจะสร้างความกังวล แต่การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุนั้นไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถควบคุมได้ค่ะ บทความนี้เราจึงจะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สาเหตุและวิธีการรักษาค่ะ แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองคืออะไร เรามาทำความเข้าใจต่อมน้ำเหลืองกันก่อนค่ะ

ต่อมน้ำเหลืองเป็นอวัยวะที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเป็นปกติทำหน้าที่เป็นตัวกรองเชื้อโรคแปลกปลอมและเซลล์มะเร็ง ในร่างกายคนเรามีต่อมน้ำเหลืองมีอยู่หลายจุดค่ะ เช่น หน้าอก ช่องท้อง ใต้วงแขน(รักแร้) ผิวหนง ลำคอ เป็นต้น

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphoma)

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือเนื้องอกร้ายที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยและพบบ่อยที่สุดคือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นปัจจุบัานยังไม่ทราบที่แน่นอน ซึ่งอาจมีสาเหตุมากจากพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี การติดเชื้อแบคทีเรีย ภูมิต้านทานต่ำ โรคภูมิแพ้ตัวเอง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมค่ะ

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน(HD : Hodgkin’s disease) นี่เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาว และแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามความรุนแรงของสภาพและลักษณะของเซลล์ พบบ่อยในเด็กและช่วงอายุ 15-35 ปี และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (NHL : non-Hodgkin’s lymphoma) เป็นมะเร็งชนิดที่แพร่กระจายเร็วซึ่งมีความรุนแรงมากกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในชนิดแรก พบบ่อยในผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ที่มีการติดเชื้อเอชไอวีค่ะ

อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาการที่ชัดเจนที่สุดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือต่อมน้ำเหลืองบวมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร คลำได้ไม่รู้สึกเจ็บปวด ลักษณะอาการที่พบจะแตกต่างกันตามตำแหน่งที่เกิดค่ะ ได้แก่

  • บริเวณลำคอ มักจะมีอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก คอบวม เป็นต้น
  • บริเวณหน้าอก มักจะมีอาการท้องบวม ปวดท้อง เบื่ออาหาร ในบางรายจะมีลักษณะตัวซีดเหลืองคล้ายคนเป็นดีซ่าน ฯลฯ
  • บริเวณช่องท้อง มักจะมีอาการท้องเสีย ท้องอืด น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากลำไส้ไม่ดูดซึมอาหาร เป็นต้น
  • หากเกิดในสมอง จะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แขนขาอ่อนแรง สายตาพร่ามัว ฯลฯ
  • ในกรณีที่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองลุกลามเข้าไขกระดูกแล้ว จะทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเม็กเลือดชนิดต่างๆได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ฯลฯ

ความรุนแรงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ในระยะแรกที่มะเร็งส่งผลกระทบต่อต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่เกิดขึ้นที่เดียวเท่านั้น เช่น บริเวณช่องท้อง บริเวณลำคอข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น
  • ระยะที่ 2 ในระยะนี้มะเร็งมีผลกระทบต่อบริเวณใดพื้นที่หนึ่ง และอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่สองจุดขึ้นไป เช่น บริเวณรักแร้ทั้งสองข้าง เป็นต้น
  • ระยะที่ 3 ในระยะนี้มะเร็งมีอยู่ในต่อมน้ำเหลืองทั้งในส่วนเหนือ และในส่วนใต้กะบังลม เช่น ของลำคอร่วมกับขาหนีบ เป็นต้น
  • ระยะที่ 4 ในระยะสุดท้ายมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ไขกระดูก สมอง ตับ ฯลฯ

การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก

  • การรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อช่วยในการหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาวผิดปกติและฆ่าเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • การรักษาด้วยรังสีบำบัด ถ้าเด็กมีการตอบสนองการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้ดี อาจไม่จำเป็นต้องใช้รังสี ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยรังสีพร้อมกับเคมีบำบัดค่ะ
  • การรักษาด้วยการผ่าตัดอวัยวะที่เกิดมะเร็ง
  • การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็ง
  • การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นการรักษาในกรณีที่มีการลุกลามของเชื้อมะเร็งและมีความรุนแรง หรือดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือกรณีกลับมาเป็นซ้ำอีก

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็กอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง การรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจทำให้เกิดปัญหาเลือดออกได้ง่าย ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงผลกระทบในระยะยาว เช่น ปัญหาต่อมไทรอยด์ ปัญหาเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อหัวใจ และไตถูกทำลาย เป็นต้น