ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก

ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก

ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก ปัจจุบันเป็นโรคเรื้อรังในทารกและเด็กเล็กที่พบได้บ่อยมากซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กค่ะ บทความนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ผิวหนัง สาเหตุ อาการและวิธีการรักษามาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ 

ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากการอักเสบของผิวหนัง มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ผิวแห้ง มีอาการคัน และอาการผื่นภูมิแพ้จะเป็นๆหายๆ ได้ตลอดค่ะ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคนี้ค่ะ ในทารกแรกเกิดจะพบผื่นแดงบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขนขา ข้อมือและข้อเท้า ถ้าหากพบว่ามีการอักเสบแบบเฉียบพลัน จะมีรอยเห่อแดงคัน และอาจมีตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ มีน้ำเหลืองเยิ้มซึม และอาจจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมด้วยได้ค่ะ ซึ่งสาเหตุของการเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น ยังไม่มีระบุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ก็สันนิษฐานว่ามาจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรมพ่อแม่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โอกาสที่ลูกจะเป็นด้วยมีมากถึง 60-80% อากาศและมลภาวะ เป็นต้น

ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กที่เกิดจากสิ่งที่กระตุ้น มีดังนี้
– ผิวขาดสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (NMFs)
– สิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่น เชื้อรา ขนสัตว์ ละอองเกสรต่างๆ รวมถึงเสื้อผ้า ของเล่น และของใช้ต่างๆของเด็ก ซึ่งกระตุ้นภูมิแพ้ได้ง่ายค่ะ จึงควรให้ความสำคัญต่อการดูแลทำความสะอาดบริเวณที่ทารกอาศัยอยู่ค่ะ
– อาหาร เนื่องจากการรายงานพบว่ากว่าร้อยละ 20 ของเด็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีการแพ้อาหารร่วมด้วย เช่น นมวัว ถั่ว ไข่ แป้งสาลี เป็นต้น

วิธีการดูแลแก้ไขภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก
– การดื่มนมแม่ เนื่องจากมีการทำวิจัยมาพบว่า ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน จะช่วยลดภาวะการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กได้ค่ะ
– ดูแลรักษาความสะอาด สิ่งของเครื่องใช้สำหรับเด็ก การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลอย่างเหมาะสม อ่อนโยนต่อผิวบอบบาง รวมถึงบริเวณที่อาศัยของเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงต่อสารกระตุ้นภูมิแพ้ได้ค่ะ
– หลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อย หรืออาบน้ำนานเกินไป
– หลังอาบน้ำควรใช้ผลิตภัณฑ์ในการทำให้ผิวชุ่มชื่น โดยไม่มีส่วนประกอบของสารเคมี หรือน้ำหอมค่ะ
– เสื้อผ้าสำหรับเด็ก ควรเป็นเนื้อผ้าที่มีความอ่อนโยนต่อผิวไม่ระคายเคืองผิว ระบายอากาศได้ดี สวมใส่สบาย
– หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นและเกิดการระคายเคืองผิวได้ง่าย
– หลีกเลี่ยงการให้ทารกอยู่ในห้องที่ไม่ระบายอากาศ หรืออากาศร้อน เพราะจะทำให้เหงื่อออก จนเกิดผื่นคันเยอะมากขึ้นกว่าเดิม
– หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ร่วมด้วย เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่ว เป็นต้น
– เมื่อเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คุณแม่ควรงดการขัด การถู หรือการฟอกผิวทารกแรงๆ
– หากพบว่าทารกหรือเด็กมีอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเรื่องรัง และมีความผิดปกติ ควรพาไปพบแพทย์

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญในการดูแลผิวหนังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ร่วมกับติดตามการรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด เพียงเท่านี้อาการภูมิแพ้ของลูกก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสที่โรคจะหายขาดได้เช่นกันค่ะ