ภาวะลำไส้แปรปรวน

ภาวะลำไส้แปรปรวน

อาการไม่สบายตัวของลูกๆมักสร้างความไม่สบายใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ เพราะเราทุกคนอยากเห็นลูกแข็งแรงสุขภาพดีสมวัยค่ะ  แต่อาการเจ็บไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและมีอาการอย่างไร โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในเด็กค่ะ เช่น ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เป็นต้น ดังนั้นวันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับภาวะลำไส้แปรปรวน ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในเด็กค่ะ

ภาวะลำไส้แปรปรวน(ไอบีเอส) ไม่ใช่โรคแต่เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นภาวะที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ เป็นต้น ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะลำไส้แปรปรวนค่ะ เบื้องต้นพบว่าเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อในลำไส้ผิดปกติ มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง การติดเชื้อแบคทีเรีย ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นต้น

อาการของภาวะลำไส้แปรปรวนที่เด่นชัดคือ อาการปวดท้องบริเวณกลางท้องหรือช่องท้องส่วนล่างและอาการอื่นที่พบได้แก่ แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในท้องมาก ท้องเสีย ท้องผูก ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระไม่สุด อั้นอุจจาระไม่อยู่ และเด็กบางรายพบอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งอาการปวดท้องมักจะดีขึ้นเมื่อได้ขับถ่าย นอกจากนี้หากพบอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น อุจจาระมีเลือดปน  ฯลฯ ควรรีบพาลูกพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

การวินิจฉัยภาวะลำไส้แปรปรวนในเด็ก แพทย์จะทำการสอบถามประวัติเบื้องต้นเช่น ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ลูกของคุณมีอาการเกี่ยวกับสำไส้หรือไม่ ถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักลง ฯลฯ รวมถึงการตรวจร่างกายเช่น การตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบว่าลูกของคุณมีภาวะโลหิตจาง หรือเจ็บป่วยที่เกิดจากการอักเสบหรือไม่ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็กส่วนต้นและกระเพาะอาหาร การเอกซเรย์ช่องท้อง การตรวจอุจจาระ การทดสอบการแพ้แลคโตสและการแพ้กลูเตน เป็นต้น

การรักษาอาการลำไส้แปรปรวน เนื่องจากไม่มีการรักษาเฉาะเจาะจงภาวะที่เกิดขึ้น ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้ลูกของคุณกลับสู่กิจกรรมประจำวันตามปกติ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใย สำหรับเด็กที่มีอาการท้องผูกควรดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากเพื่อลดแก๊สในท้องและลดอาการท้องอื่น เป็นต้น การรับประทานยากแก้ปวดท้องเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ยาระบายสำหรับเด็กที่มีอาการท้องผูก เป็นต้น