ติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

ติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

ติดเชื้อในกระเพาะอาหาร โรคทางเดินอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เอชไพโลไร (H. pylori : Helicobacter pylori) เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งรูปเกลียวที่พบในกระเพาะอาหาร ซึ่งทำลายกระเพาะอาหารและเนื้อเยื่อลำไส้เล็กส่วนต้นทำให้เกิดการอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารและอาจกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารค่ะ

อะไรคือสาเหตุของการติดเชื้อเอชไพโลไร

การติดเชื้อเอชไพโลไรยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อดังกล่าว แต่สันนิษฐานว่าร่างกายรับเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรได้โดยตรงจากการสัมผัสเชื้อและนำเข้าสู่ร่างกายโดยการนำเข้าทางปาก ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียค่ะ

อาการของเอชไพโลไร

การติดเชื้อเชื้อ H. pylori ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใดๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจอาจมีอาการระคายเคืองหรือการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร มักพบอาการต่างๆดังนี้

  • อาการไม่สบายท้อง เช่น ไม่สบายท้อง ท้องอืด เรอบ่อย ปวดหรือแสบร้อนท้องส่วนบนบริเวณเหนือสะดือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาท้องว่างหรือหลังรับประทานอาหาร เป็นต้น
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักลดผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • กรณีที่มีอาการรุนแรงส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือผนังลำไส้เล็กส่วนต้น มีปัญหาในการกลืน ปวดท้องเรื้อรัง อาเจียนมีเลือดปน หรืออุจจาระสีดำมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

เนื่องจากการติดเชื้อเอชไพโลไรส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ เช่น

  • ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารและอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง
  • กระเพาะอาหารทะลุ 
  • กระเพาะอาหารอุดตัน ทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารได้
  • การติดเชื้อที่เยื่อบุช่องท้องหรือภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 

การรักษาติดเชื้อ H. pylori

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการอายุและสุขภาพโดยทั่วไปของเด็กๆ รวมถึงภาวะรุนแรงของการติดเชื้อเอชไพโลไร โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาหรือแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็กๆ เพื่อไม่ให้ท้องว่างติดต่อกันนานและยังช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ค่ะ และการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หรือในบางรายแพทย์อาจให้ยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อยับยั้งกรดในกระเพาะอาหารสาเหตุของอาการระคายเคืองและแผลในกระเพาะอาหาร

การป้องกันภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

การติดเชื้อในกระเพาะอาหารจนเกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้น สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้โดยเริ่มต้นจากการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งและก่อนเตรียมอาหารค่ะ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารตรงเวลา อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ลดการรับประทานอาหารที่มีรสจัดและน้ำอัดลมค่ะ