คุณแม่ผ่าคลอด

คุณแม่ผ่าคลอดท้องแรก แล้วท้องสองต้องผ่าคลอดด้วยหรือไม่

ในกรณีที่เคยที่คุณแม่ผ่าคลอดมาแล้ว แพทย์จะผ่าตัดคลอดให้อีกในครรภ์ถัดๆไป เพราะบริเวณรอยต่อระหว่างคอมดลูกกะบปากมดลูกด้านล่างซึ่งเป็นรอยแผลผ่าตัดเดิมจะมีความบางตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด อาจเสี่ยงต่อการปริหรือแตกได้ ทำใหเกิดความเสี่ยงต่อภาวะมดลูกแตก ทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์และมารดาอาจเสียชีวิตจากการเสียเลือดได้

ทั้งนี้ไม่ได้เกิดภาวะดังกล่าวกับสตรีตั้งครรภ์ทุกราย ในต่างประเทศก็ยังมีการลองให้คุณแม่ที่ไม่มีภาวะอุ้งเชิงกรานแคบและเคยผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องในครรภ์ก่อนเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ทารกท่าก้น (ทารกที่คลอดท่าก้น) เป็นต้น ให้ลองคลอดเองในครรภ์ถัดไป โดยแพทย์จะต้องเป็นผู้ที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาในขณะที่คุณแม่เจ็บครรภ์มาโรงพยาบาลหรือเข้าสู่ระยะการคลอด เพราะคุณแม่และทารกจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการแตกของมดลูกได้ตลอดเวลา

ในประเทศไทยสูติแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ผ่าตัดคลอดถ้าเคยมีประวัติการผ่าตัดคลอดมาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

ถ้าคุณแม่มีการตั้งครรภ์ในครั้งถัดไปก็น่าจะได้รับการผ่าตัดคลอดอีกค่อนข้างแน่นอน ยกเว้นสูติแพทย์ที่ดูแลคุณแม่อยู่จะสามารถให้การเฝ้าคลอดได้ในช่วงเข้าสู่ระยะการคลอด จึงควรปรึกษาแพทย์อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และฟื้นตัวได้ดีในช่วงหลังคลอดโดยการผ่าตัด ความจริงแล้วการผ่าตัดคลอดไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะหัวใจของการประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือการให้ลูกดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด ดูดบ่อย และดูดถูกวิธี หลังการผ่าตัดอาจจะมีอาการเจ็บแผลบ้าง แต่ก็สามารถจัดท่าให้ลูกดูดนมแม่ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การระงับความเจ็บปวดโดยการฉีดยาและการรับประทานยาก็ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คุณแม่มีความสบายตัวมากขึ้นด้วย ส่วนใหญ่แพทย์จะให้น้ำเกลือและใส่สายสวนปัสสาวะนานประมาณ 24 ชั่วโมง และจะเอาสายน้ำเกลือและสายสวนปัสสาวะออก จากนั้นคุณแม่จะรู้สึกสบายตัวขึ้น โดยทั่วไปพยาบาลจะนำลูกมาให้ดูดนมคุณแม่ทันทีในช่วงหลังคลอดคุณแม่จะต้องปรับเปลี่ยนท่าท่างที่เหมาะสม โดยอาจจะนอนตะแคงตัวเพื่อให้ลูกมาดูดนมกระตุ้นการสร้างและการไหลของน้ำนม

ถ้าเจ็บแผลก็ใช้ยาบรรเทาอาการเป็นระยะๆและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปพร้อมๆกัน หลังผ่าตัดคลอดประมาณ 24-48 ชั่วโมง คุณแม่จะสบายขึ้นมากและสามารถให้ลูกดูดนมแม่ได้มากและนานขึ้นเรื่อยๆ

คุณแม่ควรควรทำใจให้สบายในช่วงตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ตลอดจนในช่วงที่คลอดและเข้าสู่ระยะหลังคลอด ถ้ามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การฟื้นตัวอาจจะช้ากว่าการคลอดเองสัก 24 ชั่วโมง แต่สุดท้ายก็สามารถให้ลูกดูดนมแม่ได้เหมือนกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง