การเดินละเมอในเด็ก

การเดินละเมอในเด็ก

สวัสดค่ะ คุณพ่อคุณแม่ลูกของคุณมีอาการละเมอบ้างหรือเปล่าคะ ถ้ามีและเราจะมีวิธีรับมือกับอาการละเมอของลูกๆอย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าการละเมอในเด็กเกิดขึ้นบ่อยในช่วงอายุ 4 – 8 ปีมากกว่าในผู้ใหญ่ค่ะ ซึ่งอาการละเมอนั้นเป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะที่ลูกของคุณกำลังหลับ โดยผู้ที่มีอาการจะไม่รู้สึกตัวและมีอาการมึนงงหลังรู้สึกตัวค่ะ ซึ่งจะแสดงในรูปแบบต่างๆ เช่น ละเมอเดินไปมา ลุกขึ้นนั่งลืมตา ละเมอพูดคุย หยิบสิ่งของต่างๆ ฯลฯ การนอนหลับทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงหลับตื้นและช่วงหลับลึกค่ะ และพฤติกรรมการละเมอที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่วงที่หลับลึก ผู้ที่มีอาการละเมอจะไม่สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆได้เมื่อตื่นขึ้นมา โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงก่อนเกิดเหตุ ถ้าเด็กประสบปัญหาอาการนอนไม่หลับหรือเหนื่อยล้า โอกาสของเด็กคนนั้นที่มีตอนเดินละเมอมีแนวโน้มมากกว่าปกติค่ะ

สาเหตุของการเดินละเมอในเด็ก อาจมากจากปัจจัยเหล่านี้ เช่น

  • กรรมพันธุ์ พบว่าการเดินละเมอในครอบครัวที่มีประวัติการละเมอบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพ่อและแม่ที่นอนละเมอ ทำให้ลูกมีโอกาสนอนละเอมเช่นกันค่ะ
  • การอดนอน นอนไม่หลับ หรือถูกรบกวนการนอนหลับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเดินละเมอ
  • รูปแบบการนอนหลับที่ผิดปกติ ความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจในระหว่างนอนหลับ ผลกระทบหยุดหายใจระยะเวลาสั้นๆในช่วงกลางคืน
  • การใช้สารหรือยาบางชนิด ที่ส่งผลต่อการนอนหลับของเด็ก
  • ความวิตกกังวล ความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ
  • มีประวัติอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • ร่างกายทำงานไม่เป็นปกติ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข เช่น ขาอยู่ไม่สุขเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติอาจเป็นสาเหตุของการเดินละเมอ

อาการของการเดินละเมอ

ส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่าละเมอเดินสิ่งแรกที่คิดคือการเดินระหว่างการนอนหลับ อย่างไรก็ตามการเดินในขณะนอนหลับไม่ได้เป็นสัญญาณเดียวของความผิดปกตินี้ อาการแสดงของการละเมอที่เป็นสัญญาณที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก ได้แก่ นั่งขึ้นและมองไปรอบๆ พูดคุยขณะนอนหลับ แต่ไม่ตอบสนองเมื่อคุณคุยด้วย ร้องไห้ขณะหลับ หรือเดินไปเดินมารอบๆ มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น การเปิดหน้าต่างหรือประตูและปิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดซ้ำๆ เป็นต้น

การรักษาสำหรับการเดินละเมอในเด็ก โดยทั่วไปจะหายได้เองเมื่อโตขึ้นค่ะ แต่ในบางกรณีปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเดินละเมอ คือยาบางชนิดควรปรึกษาแพทย์สำหรับการใช้ยานั้นๆเพื่อเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นทดแทนได้หรือไม่ค่ะ

การป้องกันการเดินละเมอในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินละเมอของเด็ก เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาระยะเวลาการนอนหลับหรือเวลาเข้านอนอย่างสม่ำเสมอ สร้างบรรยากาศในห้องนอนเย็นสบายและปลอดภัย จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นค่ะ หลีกเลี่ยงเสียงรบกวนหรือสิ่งรบกวนอื่นๆ ในตอนกลางคืนเมื่อเด็กหลับ เป็นต้น

การเดินละเมอเป็นความผิดปกติที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ และเพื่อความปลอดภัยของลูกคุณควรหมั่นสังเกตุพฤติกรรมและจดบันทึกอาการของลูกเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ