โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก

โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก

โนโรไวรัส ตัวการท้องเสียในเด็ก
ภาวะท้องร่วงในเด็ก เรื่องใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง บทความนี้แอดมินจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับโนโรไวรัสโรตัวการท้องเสียในเด็ก รวมถึงอาการและการป้องกันมาฝากค่ะ ตามแอดมาเลยจ้า…..

โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร มีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของอาหารเป็นพิษซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกันค่ะ พบระบาดมากในช่วงหน้าหนาวเป็นไวรัสที่มีการแพร์ระบาดได้ง่ายในสภาพอากาศเย็นและรวดเร็ว สามารถทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆได้ดี ในบางรายที่มีอาการอาจหนักอาจร้ายแรงถึงขึ้นชีวิตได้ค่ะ ดังนั้น การรู้เท่าทันไวรัสชนิดนี้ย่อมช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลป้องกันและดูแลรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

อาการเมื่อติดเชื้อโนโรไวรัส
อาการที่พบบ่อยหลังได้รับเชื้อโนโรไวรัสภายใน 12 – 48 ชั่วโมง ลักษณะอาการคล้ายกับอาหารเป็นพิษเช่น คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ปวดท้องถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ รวมถึงปวดเมื่อยตามร่างกาย และรู้สึกอ่อนเพลีย เด็กเล็กและผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้

การติดต่อและการแพร่กระจายโนโรไวรัส
เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย โดยสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนเชื้อแล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก การรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนไวรัสนี้โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก และติดต่อทางอากาศการหายใจรับเชื้อโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกาย พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ฯลฯ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมงและอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความผิดปกติของการดูดซึมไขมันและน้ำตาลของลำไส้เล็ก เมื่อตรวจอุจจาระจะพบเชื้ออยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ หลังจากผู้ป่วยไม่มีอาการแล้ว

การรักษาโนโรไวรัส
ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ทานยาแก้อาเจียน ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ และการให้ยาปฏิชีวนะในบางราย โดยทั่วไปอาการต่างๆมักดีขึ้นในเวลา 3 – 4 วัน

การป้องกันโนโรไวรัส
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัสนี้ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือการดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาด สุขอนามัยของลูกน้อย เพราะเป็นโรคที่ติดต่อง่ายมากค่ะ คุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ดื่มน้ำที่สะอาด ฝึกให้ลูกล้างมือให้สะอาดหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และก่อน/หลังการรับประทานอาหารหรือการหยิบจับสิ่งของเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แก้วน้ำ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยค่ะ

นอกจากนี้ การดูแลและป้องกันลูกที่ดีที่สุดคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่ หมั่นสังเกตลูกเสมอ หากพบว่าลูกป่วยควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีต่อไปค่ะ