ภาวะเลือดจาง

คนท้องภาวะเลือดจาง เสี่ยงเป็นธาลัสซีเมียหรือไม่

ภาวะเลือดจาง หมายถึง ภาวะที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือฮีโมโกบิน ซึ่งฮีโมโกบินเป็นสารโปรตีนและเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น ถ้ามีความผิดปกติของการสร้างฮีโมโกลบินหรือเม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยลง จะทำให้เซลล์ต่างๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจนเกิดภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซต์ ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะมีอาการซีด เหนื่อยง่าย ใจสั่น และอ่อนเพลียมากกว่าปกติค่ะ

สาเหตุของภาวะเลือดจาง

การเสียเลือดปริมาณมาก

การเสียเลือดมากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณเลือดในร่างกายทั้งหมด ก็จะส่งผลทำให้เกิดภาวะเลือดจางได้ ซึ่งสาเหตุของการเสียเลือดในปริมาณมากนั้น มีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ได้แก่ อุบัติเหตุ มีแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหารทำให้เลือดออกผิดปกติตลอดเวลา ริดสีดวงทวารหนัก หรือมีประจำเดือนมามาก เป็นต้น หรือเกิดจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายไปเร็วกว่าปกติ เช่น โรคที่ร่างกายต่อต้านเม็ดเลือดแดงของตนเอง โรคโลหิตจาง จากกรรมพันธุ์ เช่น โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น

การทำลายเม็ดเลือดแดงในปริมาณมากกว่าผิดปกติ

ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ม้ามมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปริมาณที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเก่า จะทำให้ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงลดลงสำหรับสาเหตุหลักของภาวะดังกล่าว ได้แก่ ภาวะที่ร่างกายมีรูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติหรือมีภาวะ sickle cell anemia เป็นต้น

ความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดง

ความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดง สาเหตุหลัก คือ การขาดสารอาหารที่สำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก สำหรับสาเหตุอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ โรคไขกระดูกฝ่อ มีเซลล์มะเร็งในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือเกิดจากพยาธิบางชนิดที่ดูดเลือดจากระบบทางเดินอาหารในคน หรือเกิดจากกรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กหรือวิตามินไม่เพียงพอ เป็นต้น

ภาวะโลหิตจางที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย ได้แก่ โรคโลหิตจาง ธาลัสสีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคนี้สามารถถ่ายทอดได้จากบิดามารดาที่เป็นพาหนะหรือมีภาวะแฝงมาสู่บุตร โดยที่บิดามารดาไม่จำเป็นต้องมีอาการ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียถึงร้อยละ 30 และเป็นโรคร้ายละ 1 คู่สมรสที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียประเภทเดียวกัน มีโอกาสที่จะถ่ายทอดความผิดปกติไปสู่บุตรได้ถึงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ได้ค่ะ

โรคธาลัสซีเมียมีหลายประเภท ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มแอลฟ่าธาลัสซีเมียชนิดที่รุนแรงจะทำให้ลูกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาได้ แต่ถ้าเป็นชนิดปานกลาง อาจทำให้เด็กมีภาวะซีดเรื้อรัง ตับม้ามโต ต้องได้รับเลือดทดแทนเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลาที่มีไข้ หรือเจ็บป่วยไม่สบายจะมีภาวะซีดลงเร็วมากเพราะเม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายเร็วขึ้น

กลุ่มเบต้าธาลัสซีเมีย อาจมีความผิดปกติของฮีโมโกลบินอีร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มของโฮโมไซกัสเบต้าธาลัสซีเมีย หรือเบต้าธาลัสซีเมียฮีโมโกลบินอี สำหรับโฮโมไซกัสเบต้าธาลัสซีเมียจะมีความรุนแรง เด็กจะมีภาวะซีดมากในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี จะมีอาการตัวเหลือง ตับม้ามโต ท้องป่อง เจริญเติบโตช้า พัฒนาการช้า ตัวเตี้ยแคระแกร็น โครงสร้างของใบหน้ามีความผิดปกติ มีความเจ็บป่วยได้ง่าย ส่วนกลุ่มเบต้าธาลัสซีเมียฮีโมโกลบินอีจะมีความรุนแรงมากหรือค่อนข้างรุนแรงได้

คนท้องภาวะเลือดจาง

กรณีของคุณแม่น่าจะมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเกิดจากกินอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย ร่วมกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในร่างกายระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เลือดเจือจางลง คงไม่ใช่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เพราะถ้ามีภาวะธาลัสซีเมีย แพทย์น่าจะบอกตั้งแต่การตรวจเลือดครั้งแรก จึงไม่น่ากังวล เมื่อรับประทานยาบำรุงเลือดได้สักระยะหนึ่ง คุณแม่จะมีอาการดีขึ้น โดยแพทย์จะนัดตรวจเลือดอีกครั้ง ซึ่งจะบอกได้ว่ามีความเข้มข้นของเลือดกลับสู่ภาวะปกติหรือยังค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง